ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ปิดฉากเวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรัม "ไพรินทร์" กระตุ้นอาเซียนกระชับความร่วมมือต่อเนื่อง เตรียมใช้เวที อาเซียนซัมมิท แลกเปลี่ยนประสบการณ์พร้อมกำหนดแนวทางการเติบโตในแบบฉบับอาเซียน ขณะที่นานาชาติกระตุ้นอาเซียนสร้างสมดุลเศรษฐกิจ-สิ่งแวดล้อม-สุขภาพ พร้อมจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หนึ่งในประธานร่วมจัดงาน (Co-chairs) กล่าวถึงบทสรุปจากงานเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ว่าจะได้นำข้อหารือในเวทีนี้ไปหารือเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อไปในเวทีการประชุมอาเซียนซัมมิท (ASEAN Summit) ที่จะขึ้นในเดือนกันยายนนี้ที่ประเทศกัมพูชา

เขากล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก นอกจากจะมีผู้นำภาครัฐและเอกชนกว่า 360 คนเข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้แล้ว ยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆอย่างกว้างขวาง สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่กำลังจะรวมตัวกันในทุกมิติในปี 2558

โดยข้อสรุปต่างๆ จะต้องหารือกันอย่างต่อเนื่องในเวทีนานาชาติในระดับพหุภาคของอาเซียน โดยเฉพาะประเด็นความท้าทายต่อการเติบโตของเศรษกิจอาเซียนอย่างมีเสถียรภาพในอนาคต และการรับความเสี่ยงอันเกิดจากภัยพิบัติ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อรับมืกับภัยพิบัติธรรมชาติรูปแบบต่างๆ

นายไพรินทร์ กล่าวด้วยว่า ประเทศต่างๆในอาเซียนควรจะตระหนักว่า การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะต้องมีรูปแบบการพัฒนาทางเศรษฐกิจของตัวเอง และยอมรับความไม่เท่าเทียมและเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางไปจนถึงระดับสูง และประเทศที่ยังมีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำโดยช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่างๆเหล่านี้ จะต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดปัญหาในแบบเดียวที่เกิดกับประชาคมยุโรป (อียู) ซึ่งหากในอนาคตอาเซียนมีการรวมตัวกันอย่างแข็งแกร่งก็จะเป็นแบบอย่างให้กับประชาคมเศรษกิจในพื้นที่เศรษฐกิจอื่นๆทั่วโลกได้

ด้านนายเกราด เมสทราเลต ประธานบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท GDFSUEZ บริษัทพลังงานของฝรั่งเศส กล่าวว่าอาเซียนเป็นภูมิภาคที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนด้านพลังงานในอนาคต และจะมีบทบาทต่อการพัฒนาการเศรษฐกิจของโลกในอนาคตซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญต่อไปอีก 20 ปี ภายหลังมีการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านต่างๆเข้าด้วยกันแล้ว

โดยในเวทีการประชุมครั้งนี้ได้หารือถึงเรื่องความท้าทายในการสร้างเสถียรภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจ้างงาน และการกระจายรายได้

เขายังระบุว่าเอเชียตะวันออกถือว่ามีความพร้อมด้านทรัพยากรธรรมชาติ แต่ต้องอาศัยการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ในการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต้องให้ความสำคัญในการเชื่อมโยงกับนอกภูมิภาคด้วยเช่นกันนอกจากนี้ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของสตรีที่ภูมิภาคนี้ควรต้องดำเนินการเพิ่มเติมคือการเพิ่มรายได้ของสตรีให้มากขึ้น และลดชั่วโมงการทำงานในงานที่ใช้แรงงานของกลุ่มสตรีลง เพื่อให้พวกเธอมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

"การสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ท้าทายต่อการสร้างความยั่งยืนในการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลียงไม่ได้ เวทีนี้ยังหารือกันเรื่องการรักษาสภาพอากาศ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ และการวางแผนรับมือกับภัยพิบัติ ซึ่งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เกิดขึ้นรัฐบาลและเอกชนมีหน้าที่ต้องแปลงไปสู่แผนปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมให้ได้"

ด้านนางเฮเลน ดี เกเรต์ ประธานกรรมการบริหารองค์กร Care USA สหรัฐ กล่าวว่าการผลักดันเศรษฐกิจของภูมิภาคต่างๆของโลกต้องคำนึงถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยในการหารือในการประชุมครั้งนี้ข้อสรุปที่ได้ประการหนึ่งคือบทบาทของสตรีโดยเป็นบรรยากาศที่สืบเนื่องจากการปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นในพม่า รวมทั้งการเข้าร่วมการประชุมของอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ เอ็นแอลดี ของพม่า สะท้อนให้เห็นว่าในกระบวนการของการพัฒนายุคใหม่ต้องให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อสร้างความสมดุลและยั่งยืน

นายมัลวินเดอร์ ซิงห์ ประธาน Fortis Healthcare สิงคโปร์ กล่าวว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะยั่งยืนได้นั้นจะต้องมีการจ้างงานซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตามการพัฒนาทางเศรษฐกิจจะละเลย ไม่ได้ในการสร้างสุขภาวะ สุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ต้องอาศัยการร่วมกันผลักดันในรูปของเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนโดยเฉพาะการเชื่อมโยงกันมากขึ้นเพื่อผลักดันเรื่องเหล่านี้ในเวทีการประชุมระดับสากลอื่นๆ นำไปสู่การวางแผนในการป้องกันปัญหาสุขภาพมากกว่าการรักษา ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของประเทศต่างๆได้มากขึ้น

"การพัฒนาเศรษฐกิจจะละเลยไม่ได้ที่จะสร้างสุขภาวะสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น"

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 5 มิ.ย. 55

เรื่องที่เกี่ยวข้อง