ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ประเทศไทย นับเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีแรงงานต่างด้าว เดินทางเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะต่างด้าวจากพม่า ลาว และกัมพูชา ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่ามีตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี ด้วยเหตุนี้เอง ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงได้มีมาตรการเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของแรงงานต่างด้าวขึ้นมา โดยได้มีมติเห็นชอบให้บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง สัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชาให้เสร็จสิ้นในวันที่14มิถุนายน2555 และให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เร่งดำเนินการตรวจสุขภาพให้กับแรงงานกลุ่มดังกล่าวซึ่งหากดำเนินการเสร็จแล้วหลังจากนี้แรงงานต่างด้าวจะต้องเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ทั้งนี้เพื่อให้แรงงานต่างด้าวให้ได้มีบัตรประกันสุขภาพเพื่อที่จะได้รับสิทธิในการเข้ารับการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยและส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเช่นเดียวกับคนไทย สอดคล้องกับงานเวทีสาธารณะ"การขายบัตรประกันสุขภาพแก่แรงงานบ้านพระเจดีย์"ที่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ที่เปิดเผยผลการเก็บข้อมูลเรื่องเห็นด้วยหรือไม่กับบัตรประกันสุขภาพในกลุ่มตัวอย่าง 3 กลุ่ม คือ 1. แรงงานชาวพม่า ในพื้นที่บ้านพระเจดีย์ 200 คน2.บุคลากรทางการแพทย์30 คน 3.ผู้ประกอบการโรงงานในพื้นที่บ้านพระเจดีย์12 แห่ง ระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม ปี 2555

แรงงานพม่าส่วนใหญ่เห็นด้วย 60% เนื่องจากเห็นว่าหากมีบัตรประกันสุขภาพ ทำให้รู้สึกถึงการได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกับคนไทยและไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในส่วนเกินที่ต้องเสีย ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ 90% เห็นด้วยกับการขายบัตรประกันสุขภาพ

ขณะที่ผู้ประกอบการเห็นด้วย 50% แต่ควรจะมีมาตรการ หรือเงื่อนไขที่ระบุชัดเจนคือ ต้องให้แรงงานมีอายุการทำงานเกิน 6 เดือนขึ้นไป ถึงจะสามารถเข้าโครงการบัตรประกันสุขภาพได้ เพราะแรงงานพม่ามักเปลี่ยนงานบ่อยคือ มาทำงานได้เพียง2-3 วัน แล้วก็ลาออกไปโดยไม่แจ้ง จุดนี้เองอาจทำให้โรงงานต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

"นายเสรี ทองมาก"ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีปัญหาสถานะบุคคล-รูปแบบการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ ภายใต้กลุ่มโครงการพัฒนารูปแบบการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพสำหรับผู้มีปัญหา สถานะบุคคลและสิทธิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ในฐานะผู้ผลักดัน "การขายบัตรประกันสุขภาพ"ให้แก่แรงงานต่างด้าว กล่าวว่า

"หากภาครัฐของประเทศมีการผลักดันแรงงานต่างด้าวให้เข้าถึงระบบประกันสุขภาพ มีสิทธิเท่าเทียมกับแรงงานไทย นับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่จำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะไม่ว่าจะทำงานประเภทใดก็ควรที่จะมีหลักประกันสุขภาพมารองรับจึงมองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่น่าจะดำเนินการมาตั้งนานแล้ว เพื่อเป็นการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวกลุ่มดังกล่าวนี้ให้ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลเท่ากับแรงงานไทย"

ส่วนตัวมองว่าแรงงงานต่างด้าวช่วยสร้างประโยชน์สร้างกำไร ให้กับผู้ประกอบการและประเทศเป็นจำนวนมากหากผลักดันนโยบายทำให้พวกเขาได้เข้าสู่ระบบประกันสุขภาพ ได้รับสิทธิการรักษาในยามที่เจ็บป่วยก็จะช่วยให้แรงงานมีสุขภาพที่ดีขึ้น เมื่อมีปัญหาอะไรที่เกี่ยวกับสุขภาพก็สามารถไปรับบริการตรวจรักษาตั้งแต่ ภาวะเริ่มต้นของโรค ค่าใช้จ่ายก็จะน้อย เวลาในการรักษาก็น้อยด้วย สุดท้ายเมื่อแรงงานมีสุขภาพที่ดีก็จะให้การทำงานมีประสิทธิภาพตามไปด้วย

"การเข้าสู่ระบบการประกันสุขภาพ ของแรงงานต่างด้าวดูเหมือนว่าคนกลุ่มนี้ได้รับรู้ถึงสิทธิ์ยังน้อยมากเพราะระบบการประกันสุขภาพไม่น่าจะมองแค่ในเรื่องของการรักษาในโรงพยาบาลเท่า นั้น ควรที่จะให้ความรู้ในแง่ของการศึกษาเพื่อให้รู้จักรักษาตนเองไม่ให้เป็นโรค และเจ็บป่วย" นายเสรี กล่าว

นายเสรี เล่าอีกว่า ในอนาคตหากพม่าเปิดประเทศมากขึ้น คงไม่มีแรงงานคนใด อยากมาทำงานในประเทศที่มีแต่การเอาเปรียบดูถูก ไม่มีสวัสดิการและไม่มีความมั่นคงกับชีวิต ดังนั้น หากจะเลือกใช้หลักประกันสุขภาพมาเป็นตัวดึงดูดก็ต้องพัฒนาระบบให้ครอบคลุม มากขึ้น เพราะถ้าไม่มีสวัสดิการไม่ทำอะไร ต่อไปในอนาคตแรงงานต่างด้าวก็จะหมดประเทศ ถึงเวลานั้นประเทศไทยก็จะไม่มีแรงงานที่มีทักษะที่ทำงานตอบสนองความต้องการ ของประเทศ

ด้านนายรังสิมันต์ ทองสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านพระเจดีย์สามองค์ ในฐานะผู้ดูแลงานด้านสุขภาพ เล่าว่า หากภาครัฐมีการผลักดันระบบประกันสุขภาพให้กับกลุ่มแรงงานต่างด้าวเชื่อว่ามีประโยชน์อย่างแน่นอนเพราะประเทศไทยจะได้มีแรงงานต่างด้าวที่มีสุขภาพที่ดีเข้ามาทำงาน โดยเฉพาะแรงงานที่ลงทะเบียนอย่างถูกต้องเนื่องจากได้มีกระบวนการตรวจคัดกรองโรคก่อนที่จะเข้าทำงาน ส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพแต่ถ้าไม่มีระบบประกันสุขภาพมารองรับ หากเจ็บป่วยเมื่อไม่มีสวัสดิการช่วยเหลือเรื่องสุขภาพก็อาจไม่ได้เข้ารับการรักษา ส่งผลให้การทำงานขาดประสิทธิภาพได้

"แรงงานเมื่อเจ็บป่วยก็ต้องการหลักประกันในการดำเนินชีวิตอยู่แล้ว คงไม่มีใครอยากทำงานในสถานที่ที่ไม่มีสวัสดิการช่วยเหลือเรื่องสุขภาพ ฉะนั้นหากมีการผลักดันให้แรงงานต่างด้าวได้เข้าสู่ระบบการประกันสุขภาพได้ รับสิทธิการรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยเท่าเทียมกับคนไทย ก็จะช่วยให้มีแรงงานต่างด้าวเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศเพิ่มมากขึ้น" ผอ.รพ.สต.บ้านพระเจดีย์สามองค์ กล่าวและว่า

การเข้าถึงบริการประกันสุขภาพของแรงงานต่างด้าวยังมีความหวาดกลัว หวาดระแวง เพราะว่าบางครั้งการประกันสุขภาพยังไม่ให้ความมั่นคงกับพวกเขาเพียงพอ เพราะบางครั้งพวกเขายังรู้สึกว่ายังไม่ได้รับการรักษาในสิทธิที่ควรจะได้รับ อย่างเต็มที่ ฉะนั้นควรให้ความมั่นใจกับกลุ่มคนเหล่านี้ด้วยเพื่อไม่ให้เกิดความหวาดกลัว และหวาดระแวง

ทั้งนี้ หากมีการดำเนินการให้แรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบการประกันสุขภาพทุกคนได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลในยามที่เจ็บป่วยเช่นเดียวกับคนไทยเชื่อว่าในอนาคตจะมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศมากยิ่งขึ้น สุดท้ายผลประโยชน์ต่างๆ ก็จะอยู่กับประเทศไทย