ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก บุกกรมเจรจาฯ ยืนยันไม่เอาทริปส์พลัส ชี้เอื้อผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ทำลายความมั่นคงทางอาหาร ทำลายเกษตรกรรายย่อย

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า วันนี้ทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้จัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อหารือเรื่องการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป ในช่วงเช้าเป็นประเด็นสินค้าแอลกอฮอล์ ในช่วงบ่ายคือประเด็นทรัพยากรชีวภาพ โดยมีนายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นประธานในที่ประชุมแทนนางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดี

สำหรับการหารือในห้องประชุม ประเด็นแอลกอฮอล์ นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การลดภาษีแอลกอฮอล์ตามข้อเรียกร้องของทางสหภาพยุโรปที่มีมาก่อนหน้าคือ ลดภาษีไป 90% ภายใน 7 ปีนั้น จะทำให้เพิ่มจำนวนนักดื่มหน้าใหม่ และจะมีผลกระทบต่อความพยายามควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ ขณะที่ ดร.ทิพิชา โปษยนนท์ จากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบยุทธศาสตร์การควบคุมแอลกอฮอล์นั้น ไม่ได้ขัดขวางการเจรจาการค้า เพียงแต่ไม่ควรเจรจาการค้าในสินค้าที่ทำลายสุขภาพเช่นเหล้าและบุหรี่ ขณะที่ภาคีเครือข่ายองค์กรงดเหล้ายื่นหนังสือไม่เข้าร่วมประชุมเพราะเห็นว่าจัดอย่างเร่งด่วน ไม่มีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการ เกรงว่าจะเป็นการจัดแค่พิธีกรรมเท่านั้น

ในประเด็นทรัพยากรชีวภาพ ตัวแทนจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและเครือข่ายอิสระภาพทางพันธุกรรมกว่า 30 คนได้ถือป้ายมีข้อความว่า “No TRIPS Plus ทริปส์พลัสเอื้อผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ทำลายความมั่นคงทางอาหาร ทำลายเกษตรกรรายย่อย” เข้าไปในห้องประชุมด้วย พร้อมกับยื่นจดหมายเปิดผนึกมีสาระดังนี้

ไม่เพียงแต่เรื่องยาราคาแพงที่ประชาชนทั้งประเทศจะต้องแบกรับเพิ่มขึ้นแล้ว การยอมรับเงื่อนไขข้อตกลงทางการค้าว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าข้อตกลงในองค์การการค้าโลก (TRIPs Plus/ทริปส์พลัส) จะส่งผลให้เกิดการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบบการผลิตเกษตรกรรมและอาหารที่มั่นคงยั่งยืน    ตลอดจนเกิดการแย่งชิงทรัพยากรชีวภาพซึ่งเป็นภัยคุกคามความอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อยจำนวนมาก

ด้วยข้อตกลงที่ตั้งเงื่อนไขให้ประเทศคู่เจรจาต้องยอมรับระบบทรัพย์สิน ทางปัญญาที่เข้มงวด  เช่น ประเทศที่เข้าเป็นภาคีต้องเข้าเป็นสมาชิกสนธิสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ยู ปอพ 1991 (UPOV 1991) ซึ่งก็คือการคุ้มครองสิทธินักปรับปรุงพันธุ์ อย่างเข้มงวด บีบบังคับให้เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกครั้งที่ต้องการเพาะปลูก  การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ราคาเมล็ดพันธุ์พืชมีราคาสูงขึ้นไปอีก เป็นการขยายอำนาจการผูกขาดของบรรษัทขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น ทั้งๆที่ในขณะนี้บรรษัทยักษ์ใหญ่การเกษตรในประเทศและสาขาของบรรษัทข้ามชาติ ได้ครอบครองธุรกิจเมล็ดพันธุ์พืชไร่และพืชผักเอาไว้แล้ว 

ข้อเรียกร้องของยุโรปยังมีผลทำให้ประเทศไทยต้องเข้าเป็นสมาชิกสนธิ สัญญาบูดาเปสต์  ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการจดสิทธิบัตรจุลชีพให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น บริษัทขนาด ใหญ่ในประเทศอุตสาหกรรมที่มีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีสูงกว่าจะสามารถจด สิทธิบัตรจุลชีพได้โดยง่าย เปิดโอกาสให้บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพในยุโรปเข้ามาครอบครองทรัพยากรจุลินทรีย์ ในประเทศ ซึ่งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเคยประมาณการว่าว่าศักยภาพทาง เศรษฐกิจของผลิตภัณฑ์จากจุลินทรีย์ของประเทศไทยนั้นจะมีมูลค่าสูงถึง 1.6 – 6แสนล้านบาท/ปี  ทั้ง นี้ยังไม่นับผลกระทบด้านอื่นๆ เช่น การละเมิดสิทธิของเกษตรกร  ที่ต่อไปหากจะทำน้ำหมักชีวภาพอาจต้องขึ้นศาลพิสูจน์ว่าจุลินทรีย์ที่อยู่ใน น้ำหมักชีวภาพนั้นไม่ใช่สิทธิบัตรของผู้ใด’ 

ทั้งนี้ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรฯยืนยันคัดค้านอย่างถึงที่สุดต่อความพยายามใด ๆ ก็ตามที่จะเอาชีวิตความอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อย และความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหารทุกระดับไปแลกกับผลประโยชน์ทางการค้าของคน ไม่กี่กลุ่ม และขอเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อปี พ.ศ. 2553 โดยนำผลการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนซึ่งได้มีการจัดทำไว้ก่อนหน้านี้แล้ว จัดส่งไปให้คณะรัฐมนตรี และกรอบการเจรจาจะต้องระบุอย่างชัดเจนว่าจะไม่ยอมให้มีการคุ้มครองการผูกขาด ผ่านความตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่มากไปกว่าพันธกรณีในองค์กรการค้าโลก (No TRIPs Plus)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเที่ยงมีเครือข่ายภาคประชาสังคมเกือบ 100 คน มาขอพบนางศรีรัตน์ รัษฐปานะ เพื่อมามอบตั๋วเครื่องบินจำลองขนาดใหญ่ซึ่งเป็นการเดินทางขาเดียวให้นางศรีรัตน์ได้ลาพักร้อน นายอภิวัตน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เป็นผู้อ่านจดหมายขอลาพักร้อนโดยระบุว่า “รู้สึกเห็นใจอธิบดีกรมเจรจาฯ ที่ไม่สามารถต้านทานแรงกดดันของอุตสาหกรรมเกษตรยักษ์ใหญ่ที่อยากคงสิทธิ GSP ผนวกกับแรงละโมบของอุตสาหกรรมยาข้ามชาติที่เทียวมากดดันเช้าสายบ่ายเย็นได้ จึงอนุญาตลาพักร้อนเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนจนกว่าจะไปรับตำแหน่งใหม่ที่กรมส่งเสริมการส่งออก เพื่อที่นางศรีรัตน์จะได้จะทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีให้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และมีจุดยืนมากกว่านี้” โดยมีนายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ รองอธิบดีกรมเจรจาเป็นผู้รับมอบ

รายละเอียดจดหมายเปิดผนึก http://www.ftawatch.org/all/press/30159

เรื่องที่เกี่ยวข้อง