ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

"สมาคมข้าราชการพลเรือนอาวุโส" หาช่องฟ้องศาลปกครองถูกละเมิดสิทธิเบิกค่า "ยากลูโคซามีนซัลเฟต" ด้านกระทรวงการคลัง ยืนแนวต่างประเทศจัดเป็นกลุ่มอาหารเสริม ไม่มีประสิทธิผลต่อการรักษา

กรณีกระทรวงการคลังมีหนังสือคำสั่งแจ้งหัวหน้าส่วนราชการทั่วประเทศ ห้ามข้าราชการ และผู้ได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเบิกค่ายากลูโคซามีนซัลเฟต หรือยารักษาอาการข้อเสื่อม และไม่ให้แพทย์ผู้รักษาออกหนังสือรับรองการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติในกลุ่มดังกล่าว เพื่อให้ผู้ป่วยนำไปใช้เป็นหลักฐานประกอบการเบิกเงินจากส่วนราชการต้นสังกัด มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 เป็นต้นไปนั้น

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เหตุผลที่กระทรวงการคลังออกคำสั่งดังกล่าว เพราะคณะกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า กลุ่มยากลูโคซามีนไม่ใช่บัญชียาหลักแห่งชาติ และในต่างประเทศจัดยาดังกล่าวเป็นอาหารเสริมไม่มีผลการรักษาที่แน่นอน จึงไม่อนุญาตให้ข้าราชการได้รับสิทธิเบิก

"นอกจากนั้น จากเอกสารวิชาการที่ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยได้ทำวิจัย และข้อสรุปของคณะทำงานวิชาการทางการแพทย์ ภายใต้คณะกรรมการบริหารระบบสวัสดิการฯ ระบุว่ากลุ่มยาบรรเทาอาการข้อเสื่อมมีราคาสูงถึงเม็ดละ 70 บาท มียอดการเบิกจ่ายต่อปีสูงถึง 800-900 ล้านบาท แต่มีประสิทธิผลในการรักษาไม่ชัดเจน จึงไม่มีความคุ้มค่าพอที่จะให้เบิกจากระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการได้ ที่สำคัญเมื่อราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธ ปิดิกส์ฯ ศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของยากลุ่มกลูโคซามีนแล้ว มีข้อสรุปว่าการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยวิธีอนุรักษ์ เช่น บริหารข้อเข่า แอโรบิก ฯลฯ ได้ประโยชน์มากกว่าการใช้ยา" น.ส.สุภากล่าว และว่า ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้เคยส่งหนังสือดังกล่าวให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รับทราบ แต่ถูกสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับแพทย์คัดค้าน จึงให้โอกาสราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ฯ ศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อหาข้อมูลมา หักล้างงานวิจัยเดิม แต่ผ่านไป 2 ปี ก็ยังไม่มีการนำส่งงานวิจัยชิ้นใหม่ให้พิจารณา เพียงแต่ติดต่อขอขยายเวลาศึกษาจากเดิมที่ระบุว่า 6 เดือน

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา สมาชิกสมาคมข้าราชการพลเรือนอาวุโส กล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา สมาชิกสมาคม ที่มีนายอรุณ งามดี อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นประธาน ได้มีการหารือในเรื่องนี้และเห็นว่าข้าราชการกำลังถูกละเมิดสิทธิ จึงมีการตั้งคณะทำงานศึกษาปัญหายากลูโคซามีนและเรียกร้องสิทธิ มีอดีตอัยการ เป็นประธานคณะทำงานศึกษากฎหมายก่อนจะยื่นฟ้องศาลปกครอง

"ปี 2550 กรมบัญชีกลางเคยมีหนังสือสอบถามสำนักงานกฤษฎีกาว่าไม่ให้ข้าราชการใช้ยาตัวนั้นตัวนี้ได้หรือไม่ และได้คำตอบว่าการไม่ให้ใช้ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นเหมือน พันธสัญญาที่จะต้องให้กับข้าราชการที่ยินยอมได้รับเงินเดือนน้อยและปฏิบัติตามกฎระเบียบของข้าราชการ นอกจากนี้ แพทยสภาเคยทำหนังสือแจ้งแล้วว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขึ้นทะเบียนกลูโคซามีนเป็นยา หากเป็นชนิดที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผลิตราคาห่อละ 15 บาท แต่เป็นยาที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุที่ข้อเสื่อม ซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการจำนวนมาก" พญ.เชิดชูกล่าว

นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า โดยส่วนตัวมองว่า กระทรวงการคลังไม่ควรห้ามเบิกจ่ายยาตัวนี้ทันที แต่ควรให้แพทย์ใช้ยาตัวอื่นรักษาข้อเสื่อมร่วมกับการทำกายภาพบำบัด หรือการบริหารข้อต่างๆ แต่หากการรักษาด้วยวิธีเหล่านี้ไม่ได้ผล ก็ควรอนุญาตให้ใช้ยากลูโคซามีนต่อ ซึ่งช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายได้เช่นกัน

--มติชน ฉบับวันที่ 12 ต.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--