ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

"แม้โรงพยาบาลจะมีหนี้ค้างชำระ แต่จะให้เราหยุดรักษาคนกลุ่มนี้คงไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้นก็เหมือนเราเอาเงินมาเป็นตัวกลาง เหนือจิตใจ สุดท้าย...ไม่ใช่แค่วิกฤตการเงินที่น่ากลัว แต่อนาคตอาจถึงขั้นวิกฤตมนุษยธรรมก็เป็นได้..."

ประโยคเด็ดของ นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก ในฐานะแพทย์ที่ทำงานเพื่อคนในถิ่นทุรกันดารกว่า 20 ปี เอ่ยขึ้นในการประชุมวิชาการเรื่องสุขภาพแรงงานข้ามชาติ : ทางออกที่เหมาะสม เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ซึ่งจัดที่โรงแรม ที เค พาเลซ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

ประเด็นที่มีการพูดคุยถูกมุ่งไปที่ปัญหาสุขภาพของบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้มีจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในประเทศ และส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ โดยข้อมูลจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ หรือไอเอชพีพี (IHPP) ระบุว่า บุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย ขณะนี้มีประมาณ 3.7 ล้านคน โดยเป็นแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่มีใบอนุญาตทำงาน และผู้ติดตามราว 1,339,986 คน และเป็นบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ เช่น ชนกลุ่มน้อย ชาวเขา ฯลฯ อีก 513,792 คน ปัญหาคือ คนเหล่านี้เมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อยจะไม่ค่อยพบแพทย์ เพราะเกรงกลัวกฎหมายรัฐ แต่จะไปพบแพทย์เมื่ออาการรุนแรง ซึ่งตรงนี้พูดได้เลยว่า แทบไม่มีสถานพยาบาลใดปฏิเสธการรักษา แม้จะไม่มีหลักประกันสุขภาพ แต่พวกเขาก็คือ คนที่อาศัยในประเทศไทย

นพ.วรวิทย์เล่าว่า โรงพยาบาลตามแนวชายแดนทุกแห่ง ไม่มีใครปฏิเสธการรักษา เพราะเมื่อคนไข้ไม่ว่าจะมีเงินหรือไม่ แต่หากมาพบแพทย์ก็ต้องรักษา แม้ในแต่ละปีจะทำให้โรงพยาบาลเกิดหนี้ค้างชำระราว 20-30 ล้านบาท และไม่เคยได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาทุกแห่งต้องดิ้นรนบริหารจัดการกันเอง ทั้งขอรับบริจาคบ้าง พึ่งพากันเองบ้าง ยืมยาจากโรงพยาบาลใกล้เคียงบ้าง ยิ่งชายแดนห่างไกล การเดินทางก็ลำบาก รถส่งต่อผู้ป่วยก็ไม่มี ใช้รถชาวบ้าน บ้างก็ใช้ช้างมาลากจูงรถ ทุกอย่างดิ้นรนกันเองหมด

อ.อุ้มผาง จ.ตาก เป็น 1 ในตัวอย่างที่มีปัญหา เนื่องจากตั้งอยู่ติดกับชายแดนพม่า มีประชากรทั้งหมด 84,875 คน ในจำนวนนี้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 32,602 คน คิดเป็นร้อยละ 38 ขณะที่คนไม่มีหลักประกันสุขภาพฯสูงถึง 52,273 คน หรือร้อยละ 62

นพ.วรวิทย์บอกว่า คนที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพส่วนใหญ่จะเป็นชาวเขาที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์ ผู้อพยพในศูนย์พักพิง คนจากประเทศพม่า บางส่วนเป็นแรงงานทั้งถูกและไม่ถูกกฎหมาย บางส่วนเป็นประชาชนทั่วไป และประชาชนในหมู่บ้านชายขอบ คนพวกนี้ถูกมองข้าม ทั้งๆ ที่พวกเขาอยู่ในประเทศไทย แต่ไม่มีหลักประกันสุขภาพพื้นฐาน ไม่ได้ใช้สิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค ปัญหาคือ...คนกลุ่มนี้อาจไม่มีสุขลักษณะที่ดีมากนัก ทำให้ป่วยไข้ง่าย และหากโรงพยาบาลไม่รับตัวเข้ารักษา โรคก็อาจแพร่ระบาดมายังคนไทย ไม่ว่าจะเป็นโรคมาลาเรีย โรคปอดบวม โรคหัด หรืออาจมีโรคใหม่ๆ ที่เราไม่รู้ก็เป็นได้

แพทย์ผู้นี้บอกอีกว่า ที่สำคัญในปี 2558 ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี (AEC) ตรงนี้หากไม่เตรียมพร้อม จะส่งผลกระทบแน่ๆ เพราะหากเปิดเสรีการค้า แรงงานข้ามชาติก็จะทะลักเข้าไทยมากขึ้น การใช้บริการสาธารณสุขไทยจะเพิ่มขึ้นด้วย ขณะเดียวกัน มีแนวโน้มว่า องค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอ ที่เคยให้บริการในศูนย์พักพิงอาจถอนตัว เพราะมีข่าวว่าศูนย์พักพิงบางแห่งอาจจะต้องปิดตัว เนื่องจากไม่มีงบประมาณ ซึ่งจะทำให้การบริการสุขภาพในระดับต้น (primary care) หมดไป และสุดท้าย โรคระบาดต่างๆ ที่แฝงอยู่ในพื้นที่ตะเข็บชายแดนต่างๆ อาจเข้าสู่ไทยก็เป็นได้

"อยากให้รัฐบาลเตรียมพร้อมเรื่องนี้ และควรหารือร่วมกับประเทศสมาชิกเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพแรงงานจากประเทศต่างๆ โดยอาจให้ไทยหรือประเทศสมาชิกใดประเทศหนึ่ง รับทำหน้าที่เป็นศูนย์การประสานงาน และสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลก่อน จากนั้นค่อยไปเรียกเก็บจากประเทศต้นทางของแรงงานข้ามชาติ ทำลักษณะคล้ายนโยบายบริการผู้ป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นเคลียริ่งเฮาส์" นพ.วรวิทย์กล่าว  นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ นักวิจัยไอเอชพีพี ผู้ศึกษาปัญหาสุขภาพแรงงานข้ามชาติ ให้ข้อมูลว่า เมื่อแรงงานข้ามชาติเพิ่มจำนวนขึ้นและเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ปัญหาสุขภาพก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งไม่เพียงแค่โรคที่มาจากชายแดน อย่างมาลาเรีย ไข้รากสาด ฯลฯ ซึ่งพบมากในกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ไม่ขึ้นทะเบียน แต่ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ถูกกฎหมาย ก็มีปัญหาสุขอนามัยเช่นกัน

"ล่าสุดกรณีที่ประเทศไทยได้ยกระดับเป็นประเทศที่รายได้ประชาชาติอยู่ในระดับ upper middle income (กลาง-บน) ในอนาคตย่อมทำให้ขาดเงินช่วยเหลือจากองค์กรต่างประเทศที่ดูแลเฉพาะโรค เช่น Global fund for TB, AIDs and Malaria ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยใช้เงินกองทุนนี้ในการดูแลผู้ป่วยที่ไม่มีสัญชาติไทยผ่านทางเอ็นจีโอ รัฐบาลจึงควรเตรียมความพร้อมกรณีการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือไม่ ยิ่งเข้าสู่เออีซี ประกอบกับกรณีขาดเงินช่วยเหลือจากต่างชาติ ปัญหาจะหนักขึ้น และจะส่งผลต่อการบริการสาธารณสุขของคนไทย" นพ.ระพีพงศ์กล่าว

เมื่อประมวลปัญหาต่างๆ ทำให้พิจารณาได้ว่า หากแรงงานข้ามชาติทะลักเข้าไทยมากขึ้น โดยที่รัฐบาลไทยไม่เตรียมการอย่างดีพอ ผล กระทบอันดับแรก คือ สถานพยาบาลทำงานเพิ่มขึ้น มีหนี้ค้างชำระที่ไม่สามารถเอาคืนจากกองทุนสุขภาพใดได้ และปัญหาต่อมา คือ หากรักษาได้ไม่ทั่วถึง โอกาสที่โรคใหม่ๆ หรือโรคใดก็ตามอาจแพร่มายังคนไทย

เมื่อถึงตอนนั้น หากรัฐบาลคิดจะหามาตรการควบคุมใดๆ คงไม่ง่ายนัก !

--มติชน ฉบับวันที่ 21 ต.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--