ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เผยผลสำรวจพบคนไทยกินหวาน 25 ซีซี/วัน แถมมีแนวโน้มกินเพิ่มขึ้นทุกปี เร่งขับเคลื่อนมาตรการ"เก็บภาษีเครื่องดื่มตามปริมาณน้ำตาล" ทั้งน้ำอัดลมและน้ำหวานทุกประเภท จำกัดคนไทยกินน้ำตาลลดลง

ทพญ.ปิยะธิดา ประเสริฐสม ผู้จัดการโครงการเด็กไทยไม่กินหวาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานได้ติดตามสถานการณ์การบริโภคน้ำตาลของคนไทยในระดับประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก โดยดูจากรายการอาหารที่เลือกรับประ ทานในแต่ละวัน ตั้งแต่ปี 2544-2554 โดยปี 2544 พบว่าคนไทยมีการบริโภคน้ำตาลสูงมากอยู่ที่ 19.9 ช้อนชาต่อวัน หรือเกือบ 80 กรัม ถือว่ามากกว่าเกณฑ์ปริมาณน้ำตาลที่ควรได้รับอยู่ที่ 6 ช้อนชาต่อวัน หรือ 24 กรัมเท่านั้น และล่าสุดในปี 2554 พบว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลเพิ่มมากขึ้นขยับขึ้นไปอยู่ที่ 25 ช้อนชาต่อวัน คิดเป็นประมาณ 100 กรัมแล้ว ถือว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลเพิ่มขึ้น 2.3 เท่าในช่วงเวลา 10 ปี นับเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นในปีถัดไป

ทั้งนี้ ในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ตามเกณฑ์ควรบริโภคน้ำตาลเพียง 4 ช้อนชาต่อวันเท่านั้น แต่ที่ผ่านมาพบว่าแม้แต่ในเด็กเล็กอายุ 3 ขวบก่อนเข้าโรงเรียนมีการบริโภคน้ำตาลถึง 10 ช้อนชาต่อวันไปแล้ว ส่วนเด็กวัยเรียนตามเกณฑ์จะอยู่ที่ 6 ช้อนชา แต่กลับมีการบริโภคสูงถึง 12-13 ช้อนชา และในผู้ใหญ่มีการบริโภคน้ำตาลอยู่ที่ 20-25 ช้อนชา ถือว่าเป็นจำนวนที่สูงมาก ซึ่งเป็นที่ทราบว่าน้ำตาลถือเป็นสารที่ให้พลังงาน แต่ไม่มีคุณค่าทางสารอาหาร หากกินในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้เกิดการสะสม เป็นโรคอ้วนตามมา และในระยะยาวยังก่อให้เกิดโรคเรื้อรังหลายโรค อาทิ เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ เป็นต้น และจะกลายเป็นภาระการรักษาพยาบาลในอนาคต

ทพญ.ปิยะดากล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีความพยายามรณรงค์ลดการบริโภคน้ำตาลในกลุ่มเด็กๆ ก่อน และได้ทำการศึกษาแหล่งน้ำตาลที่เด็กๆ บริโภค พบว่าส่วนใหญ่มาจากเครื่องดื่มรสหวานทุกชนิดโดยเฉพาะกว่าครึ่งหนึ่งเครื่องดื่มน้ำอัดลมเฉลี่ยการดื่มอยู่ที่300-400 ซีซีต่อวัน นอกจากนี้ยังมาจากขนมพองกรอบที่เป็นแป้งมีน้ำตาลผสม ซึ่งเด็กจะบริโภคประมาณ 2 ถุงต่อวัน เฉลี่ยถุงละ 30-40 กรัม มีน้ำตาลผสมประมาณ 4 ช้อนชาต่อถุง รวมไปถึงลูกอม ลูกกวาด เด็กจะบริโภคเฉลี่ยวันละ 3 เม็ด มีน้ำตาลผสมที่ 1 ช้อนชาต่อเม็ด ดังนั้นหากเราสามารถจัดการปัญหาให้เด็กลดการบริโภคน้ำหวานและขนมเหล่านี้ลงได้ ก็จะลดการบริโภคน้ำ ตาลได้

ที่ผ่านมาทางเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานได้ทำโครงการโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม ทำให้ขณะนี้ 70% ของโรงเรียนทั่วประเทศไม่ขายน้ำอัดลมแล้ว เหลือเพียงอีกแค่ 30% ทั้งนี้ เราตั้งเป้า 5 ปี ในการทำให้โรงเรียนปลอดน้ำอัดลม 100% นอกจากนี้เรายังจับในเรื่องของน้ำหวานไอศกรีม นมเปรี้ยว เบเกอรี่ ขนมปัง ขนมเค้ก รวมไปถึงการลดขนมพองกรอบและลูกอม ซึ่งเรื่องขนมยอมรับว่ายังเป็นเรื่องที่ยังทำได้ยากแต่จากรายงานเริ่มมี 40% ของจำนวนโรงเรียนที่ไม่มีน้ำอัดลมเริ่มขยับเข้ามาจำกัดขนมเหล่านี้แล้ว

ทพญ.ปิยะดากล่าวว่า นอกจากนี้ยังแนวคิดใช้มาตรการทางภาษีเข้าไปควบคุม โดยเสนอจัดเก็บภาษีตามปริมาณน้ำตาลที่ผสมในเครื่องดื่มที่เป็นวิธีลดการบริโภคน้ำตาลในภาพรวมด้วย ทั้งในกลุ่มเด็กมหาวิทยาลัยและผู้ใหญ่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของนักวิชาการ

"ที่ผ่านมาแม้ว่าเราจะลดการบริโภคน้ำตาลในกลุ่มเด็กลงได้ แต่ภาพรวมการบริโภคน้ำตาลของคนไทยยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนในมหาวิทยาลัยและผู้ใหญ่ทั่วไปที่ยังแก้ไขไม่ได้ ทำให้ปี 2554 สถิติการบริโภคน้ำตาลขึ้นไปอยู่ที่ 25 ช้อนชาต่อวัน" ผู้จัดการโครงการเด็กไทยไม่กินหวานกล่าว และว่า ทั้งการทำงานของเครือข่ายไม่ได้ต้องการทำงานในแบบทะเลาะกับคนอื่นแต่อยากดึงให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำดื่มและขนม และทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมเครือข่าย เพื่อช่วยลดการกินน้ำตาลของคนไทยลงช่วยทำให้สุขภาพคนไทยดีขึ้นในทางอ้อม ซึ่งขณะนี้มีโจทย์ใหม่เพิ่มเข้ามาอีกคือ ปัญหากาแฟสดเริ่มเข้ามาแล้ว ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการระดับประเทศเข้ามากำกับ

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2555

เรื่องที่เกี่ยวข้อง