ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน นพ.วิรัติ พาณิชย์พงษ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดหาและบริการดวงตา สภากาชาดไทย กล่าวว่าขณะนี้คณะกรรมการได้รับบริจาคดวงตาจากผู้มีจิตศรัทธาทั่วประเทศกว่า 8 แสนรายที่อุทิศดวงตาให้กับศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย เพื่อนำไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย ขณะเดียวกันได้ไปขอรับบริจาคกระจกตาจากญาติผู้เสียชีวิตตามโรงพยาบาลและสถาบันนิติเวชทุกแห่ง แต่มีอุปสรรคคือ ระยะเวลา6 ชั่วโมง หลังการเสียชีวิตถือเป็นช่วงที่เก็บดวงตาไปใช้ได้ แต่กลับไม่สามารถติดต่อทายาทหรือผู้มีสิทธิอนุญาตบริจาคได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดตามกฎหมายการชันสูตรพลิกศพผู้ตายผิดธรรมชาติ จึงเห็นว่าควรจะแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในมาตรา 151

"โดยแก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญว่า หากมีชิ้นส่วน เนื้อเยื่อ และอวัยวะที่เป็นประโยชน์แก่การรักษาพยาบาล ให้เจ้าพนักงานผู้ชันสูตรพลิกศพแยกธาตุ ชิ้นส่วน จัดส่งไปเก็บรักษาที่สภากาชาดไทย หรือโรงพยาบาลของรัฐ ส่วนการรักษาผู้ป่วยให้ขอความยินยอมจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้ได้ยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวเสร็จแล้ว และได้เสนอต่อรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และส.ส.ได้ผลักดันให้รัฐสภาเห็นชอบต่อไป ซึ่งหากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้คาดว่าจะช่วยรักษาผู้ป่วยที่ตาบอดจากความพิการ หรือที่ได้รับบาดเจ็บต่อกระจกตากลับมามองเห็นได้อีกครั้งในเวลาอันรวดเร็วทั้งหมดกว่า 7,000 ราย ทั้งนี้ ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทยและจักษุแพทย์  ทั่วประเทศพร้อมจะช่วยเหลือผู้ป่วยตาบอด ซึ่งถือเป็นการทำบุญกุศลร่วมกันดังเช่นผู้แสดงเจตนารมณ์บริจาคดวงตาไว้ล่วงหน้า" นพ.วิรัติกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 28 พฤศจิกายน 2555

เรื่องที่เกี่ยวข้อง