ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

"มูลนิธิเข้าถึงเอดส์" เตรียมชงเปิดทาง "โฆษณาถุงยางอนามัย" ก่อน 4 ทุ่มได้ มุ่งปรับทัศนคติเชิงบวก กระตุ้นการป้องกันลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ "กรมควบคุมโรค" รับงบซื้อถุงยางอนามัยลด ล่าสุดเหลือ 28 ล้านบาท จากเดิม 40 ล้านบาท ชี้กลุ่มนักเรียน-เยาวชนน่าห่วงสุดเมินใช้ถุงยางอนามัยขณะที่ผู้ติดเชื้อเข้ารักษาแค่ 2 แสนรายอีก 3 แสนยังไร้ระบบติดตาม

เป้าหมายในการลดผู้ป่วยหน้าใหม่ให้เหลือศูนย์ในปี 2559 คือประเด็นในการรณรงค์ลดผู้ติดเชื้อเอดส์ของวันเอดส์โลก ซึ่งกำหนดให้เป็นวันที่ 1 ธ.ค.ของทุกปี แต่ที่ผ่านมาการลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในไทยยังมีเป็นปัญหาต่อเนื่อง โดยเฉพาะการป้องกันหรือการสวมถุงยางอนามัย

ทำให้ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาแม้จะมีการตั้งเป้าเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ แต่ก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า จนถึงขณะนี้อัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังไม่ลดลงเท่าที่ควรจะเป็น โดยเมื่อปี 2550-2551 อัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ที่ 13,000-14,000 ราย มีการตั้งเป้าลดการติดเชื้อให้ได้ครึ่งหนึ่ง แต่จนถึงปี 2555 อัตราการติดเชื้อรายใหม่ยังอยู่ที่ 10,000 ราย แสดงให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหายังไม่บรรลุเป้าหมาย และได้มีการปรับเป้าหมายเป็นการลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แสดงให้เห็นว่าในการทำงานป้องกันยังไม่มีเอกภาพการทำงานที่ชัดเจน

กรณีที่เห็นได้ชัดเจนคือถุงยางอนามัยเพื่อป้องกัน ซึ่งไม่มีเจ้าภาพหลักที่ชัดเจน แต่ละหน่วยงานต่างฝ่ายต่างจัดซื้อและดำเนินการแจก จากเดิมเป็นหน้าที่ของกรมควบคุมโรค มีการตั้งงบประมาณจัดซื้อประมาณ 50 ล้านบาท แต่ปัจจุบันแต่ละหน่วยงานต่างตั้งงบประมาณของตนเอง โดยกรมควบคุมโรคมีงบประมาณในการจัดซื้อเพียง 20 ล้านบาท ในการแจกจ่ายกลุ่มเสี่ยง พนักงานบริการ ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นการตั้งงบประมาณซื้อถุงยางเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ติดเชื้อ

เมินใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน

นายนิมิตร์ กล่าวว่า ถุงยางอนามัยเป็นถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ ไม่แต่เฉพาะโรคเอดส์เท่านั้น แต่ที่ผ่านมากลับถูกลดความสำคัญลงและไม่มีการจัดบริการถุงยางอนามัยที่ดีพอ ต่างจากในอดีตที่มีโครงการถุงยางอนามัย 100% นอกจากนี้การรณรงค์ใช้ถุงยางอนามัยในบ้านเรายังเป็นปัญหามาก เพราะแม้แต่การโฆษณาถุงยางอนามัยยังถูกจัดเป็นสินค้าห้ามโฆษณาก่อน 4 ทุ่ม เช่นเดียวกับเหล้าและบุหรี่ที่เป็นสินค้าทำลายสุขภาพ ทั้งที่ถุงยางอนามัยเป็นเครื่องมือที่ช่วยป้องกันโรค ส่งผลให้บริษัทผลิตถุงยางอนามัยไม่สามารถโฆษณาได้

เตรียมดันโฆษณาถุงยางก่อน 4 ทุ่ม

นายนิมิตร์ กล่าวว่า ขณะนี้เราเตรียมที่จะผลักดันแก้ไขเพื่อให้ถุงยางอนามัยโฆษณาทางทีวีได้ก่อน 4 ทุ่ม ทั้งนี้เพื่อทำให้คนรู้จักและคุ้นเคยกับถุงยางอนามัยมากขึ้น เป็นช่องทางช่วยรณรงค์ให้คนใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะเยาวชน ซึ่งหากทำสำเร็จเชื่อว่าจะช่วยลดอัตราการติดเชื้อรายใหม่ถึง 50% นอกจากนี้ยังต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนค่านิยม ให้การพกพาถุงยางอนามัยเป็นที่ยอมรับในสังคมมากขึ้น

เขาบอกว่าต้องเดินหน้าการเจาะเลือดตรวจหาเชื้อเอชไอวี โดยต้องทำให้เรื่องการตรวจเลือดถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา และให้ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเข้ารับการตรวจเลือด ทั้งนี้เพื่อที่จะได้นำเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็ว ซึ่งต้องยอมรับว่าขณะนี้ยังมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เข้าสู่ระบบการรักษาน้อยมาก

ยอมรับงบป้องกันเอดส์ลดลง

พญ.ชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการป้องกันผู้ติดเชื้อรายใหม่หากเปรียบเทียบกับในอดีต สถานการณ์ถือว่าดีขึ้นมาก เพราะปัจจุบันเรามีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ที่ราว 10,000 รายต่อปี แต่ในงานป้องกัน โดยทำงานร่วมกันกับทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ซึ่งยอมรับว่างบในการป้องกันโรคเอดส์ในปัจจุบันถูกลดลงจากเดิมประมาณ 10 ล้านบาท เนื่องจากถูกดึงไปใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างทั่วถึงมากขึ้น ทำให้งานป้องกันถูกจำกัดลง

งบซื้อถุงยางเหลือแค่ 28 ล้าน

พญ.ชีวนันท์ กล่าวว่า ถุงยางอนามัยถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในการป้องกันและลดอัตราการติดเชื้อรายใหม่ แต่ที่ผ่านมางบประมาณจัดซื้อถุงยางลดลง จากเดิมที่เคยมีโครงการถุงยางอนามัย 100% งบจัดซื้ออยู่ที่ 40 ล้านบาท แต่หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้งบจัดซื้อถูกลดลง โดยขณะนี้งบประมาณจัดซื้อถุงยางอนามัยอยู่ที่ 28 ล้านบาท ถือว่าลดลงจากเดิมเกือบครึ่งหนึ่ง ประกอบกับราคาถุงยางอนามัยที่มีการขยับตัวขึ้น ทั้งจากค่ายางพาราที่ใช้ผลิต ค่าแรง ค่าขนส่ง และอื่นๆ ทำให้จากที่เคยจัดซื้อในราคาชิ้นละไม่ถึงหนึ่งบาท เป็นชิ้นละ 1.60 บาท เพิ่มราคาเป็นเท่าตัว ส่งผลให้จำนวนถุงยางที่จัดซื้อได้ลดลงไปอีก

กลุ่มเป้าหมายที่เข้าไปรณรงค์เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี มีทั้งกลุ่มขายบริการทางเพศ กลุ่มเยาวชน กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย รวมไปถึงกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือ แต่ปัญหาคือถุงยางอนามัยมีไม่เพียงพอ โดยในส่วนกลุ่มขายบริการผู้ประกอบการสถานบริการหลายแห่งก็จัดหาไว้ให้ หรือบางคนก็ซื้อเอง แต่ในกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ นั้นหากมีไปแจกก็จะดีกว่า โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน

เยาวชนเมินใช้ถุงยางอนามัย

ส่วนกลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือกลุ่มเยาวชน เพราะมีอัตราการใช้ถุงยางอนามัยที่ต่ำมาก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากทัศนคติที่คิดว่าไม่เสี่ยง ไว้ใจเพื่อน ส่วนผู้หญิงเองก็กลัวแฟนไม่รัก ซึ่งที่ผ่านมาเราพยายามเข้าไปรณรงค์โดยร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อแก้ไขปัญหา โดยในช่วยที่รณรงค์และโฆษณายืดอกพกถุงก็ดีขึ้น แต่ก็มีปัญหาเรื่องงบประมาณทำให้การรณรงค์โฆษณาไม่ต่อเนื่อง

ส่วนที่มีการเสนอให้สามารถโฆษณาถุงยางอนามัยได้ ไม่ถูกจำกัดเวลาโฆษณาได้หลัง 4 ทุ่มไปแล้วนั้น พญ.ชีวนันท์ กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกัน โดยเป็นการนำเสนอแนวคิดจากภาคเอ็นจีโอ เพื่อกระตุ้นให้คนใช้ถุงยางอนามัยมากขึ้น เรื่องนี้ปัญหาอยู่ที่การจัดเรทติ้งการโฆษณาที่ถุงยางอนามัยถูกไปจัดรวมอยู่ในสินค้าเหล้าและบุหรี่ เป็นช่วงเวลาที่เยาวชนเข้านอนไปแล้ว ทำให้เข้าไม่ถึงกลุ่มเยาวชน จึงต้องพูดคุยกับทางผู้จัดทำเรทติ้งทีวี

ผู้ติดเชื้อเข้าถึงการรักษาแค่ 2 แสน

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้เรามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีซึ่งยังมีชีวิตอยู่ที่ประมาณ 500,000 ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ปีละ 10,000 ราย แต่ในจำนวนนี้กลับมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลของทั้ง 3 กองทุนสุขภาพเพียงแค่กว่า 200,000 รายเท่านั้น ถือว่าน้อยมากและเป็นปัญหาใหญ่เพราะกลุ่มไม่เข้าสู่ระบบการรักษาสามารถแพร่เชื้อต่อไปได้

นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันคนที่เข้ามารักษาส่วนใหญ่จะอยู่ในอาการที่ป่วยมากแล้วและจำเป็นต้องมาหาหมอ ซึ่งในกลุ่มที่ตนเองไม่ทราบว่าตัวเองมีเชื้อก็จะทราบในช่วงนี้ ส่วนคนที่รู้ว่าตนเองมีพฤติกรรมเสี่ยง การเข้ามารักษาในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีค่าซีดี4 ต่ำกว่า 100 และมักมาด้วยโรคฉวยโอกาส อย่างโรควัณโรค เป็นต้น หากไม่ป่วยก็จะยังไม่มา ทั้งที่ควรเข้าสู่ระบบการรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม และผู้ติดเชื้อที่ไม่เข้าสู่กระบวนการรักษามีเป็นจำนวนมากและเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วง เพราะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ

เร่งรณรงค์เลิกตีตราผู้ติดเชื้อ

นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า เน้นการสร้างความรู้ให้ผู้ติดเชื้อที่ยังไม่เข้าสู่ระบบไม่กลัวและกล้าพอที่จะเดินเข้าสู่ระบบการรักษามากขึ้น เพราะการตีตราและกีดกันยังมีปัญหามาก ซึ่งไม่เพียงแต่ในผู้ใหญ่ แต่ยังเป็นปัญหาในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ติดเชื้อเอชไอวี มีอยู่ประมาณ 30,000 คน โดยมีการกีดกันในโรงเรียนทำให้ไม่อยากไปเรียน มีชาวบ้านออกมารวมตัวประท้วง ไม่ให้เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีเข้าเรียนในโรงเรียน เพราะกลัวว่าจะไปแพร่กระจายเชื้อ

ลดติดเชื้อเหลือศูนย์ปี 59

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเดิมอยู่ที่ 30,000 รายต่อปี แต่ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ประมาณเกือบ 10,000 รายต่อปี ถือเป็นสถิติที่ดี แต่เรายังต้องมุ่งทำงานเพื่อลดผู้ติดเชื้อต่อไป โดยเรามีแผนยุทธศาสตร์เอดส์แห่งชาติ ระหว่างปี 2555-2559 ที่มุ่งสู่เป้าหมายที่เป็นศูนย์ใน 3 ด้าน หรือเก็ตติ้ง ทู ซีโร่ (Getting to Zero) คือ ไม่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ไม่มีผู้เสียชีวิตจากเอดส์ และไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ ที่เป็นการแก้ไขปัญหาเอดส์ของประเทศ

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 3 ธันวาคม 2555