ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

แก้ปัญหาลูกจ้างชั่วคราวทั้งระบบ ปลัด สธ.ยัน เผยตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯดูแลยามชรา

กรณีภาคีลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่งประเทศไทย สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ประกาศประท้วงหยุดงานตั้งแต่วันที่ 1-3 มกราคม 2556 เนื่องจากไม่พอใจที่กระทรวงสาธารณสุขแก้ปัญหาเฉพาะลูกจ้างชั่วคราวสายวิชาชีพให้ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ ทั้งแพทย์ พยาบาลทันตแพทย์ ฯลฯ ขณะที่ลูกจ้างชั่วคราวสายสนับสนุนกลับไม่ได้สิทธิเทียบเท่าและถูกเมินเฉยทั้งๆ ที่เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากกว่าแสนรายของโรงพยาบาลสังกัด สธ.ทั้งประเทศนั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า จริงๆ แล้ว กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ดำเนินการทั้งระบบ เพราะเจ้าหน้าที่ของ สธ.ทุกคน ทั้งที่เป็นข้าราชการและไม่ใช่ข้าราชการ ล้วน

เป็นผู้ที่มีความสำคัญกับการดูแลให้บริการประชาชนและผู้ป่วย ขณะนี้ สธ.มีลูกจ้างชั่วคราวทุกสายงานทั้งหมด 130,000 คน ในจำนวนนี้เป็นลูกจ้างสายวิชาชีพ 21 สายงาน อาทิ แพทย์พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร จำนวน 30,188 คน ที่เหลือประมาณ 100,000 คน เป็นสายสนับสนุน

นพ.ณรงค์กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหา สธ.ได้ร่วมกับสมาพันธ์และสมาคมลูกจ้างชั่วคราว ในการร่างระเบียบพนักงานกระทรวงสาธารณสุขหรือ พกส. มาประมาณ 3-4 ปีแล้ว เพื่อรองรับกลุ่มลูกจ้างสายสนับสนุนทั้งหมด รวมทั้งสายวิชาชีพบางส่วนที่ยังไม่ได้รับการบรรจุ ซึ่งสิทธิสวัสดิการข้าราชการ โดยจะพิจารณาให้เกิดความเหมาะสม และมีความมั่นคงจนถึงเกษียณอายุราชการ ขณะนี้ร่างระเบียบเสร็จแล้ว จึงขอให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนเชื่อมั่นและให้บริการประชาชนอย่างดีที่สุด การหยุดงานประท้วงจึง

ไม่ใช่ทางออกในการเรียกร้อง อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้ทางสมาพันธ์และสมาคมลูกจ้างชั่วคราว เข้าชี้แจงกับกลุ่มลูกจ้างทั้งหมดเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ภาคีลูกจ้างชั่วคราวสายสนับสนุน เรียกร้องในเรื่องค่าครองชีพ ค่าเสี่ยงภัย รวมทั้งค่าเสียเวลากรณีเข้าเวรดึก นพ.ณรงค์กล่าวว่า ต้องสร้างความเข้าใจตรงกัน มอบให้ทางสมาพันธ์ดำเนินการแล้ว แต่ยืนยันว่าพนักงาน ก.สธ.ทั้งหมด จะได้รับสิทธิสวัสดิการไม่แตกต่างกัน โดยระเบียบพนักงานกระทรวงสาธารณสุขครอบคลุมทุกสายงาน แบ่งออกเป็น2 สาย ได้แก่ สายวิชาชีพและสายสนับสนุน หรือสายทั่วไป ซึ่งลูกจ้างชั่วคราวทั่วไป เช่น พนักงานช่วยเหลือคนไข้ พนักงานเปล พนักงานซักฟอกพนักงานประกอบอาหาร ช่างต่างๆ เป็นต้น จะกำหนดไว้ในกลุ่มทั่วไป อัตราค่าจ้างจะปรับเพิ่มตามบัญชีกระทรวงการคลัง ระยะเวลาการจ้างงานจากเดิมสัญญาจ้างปีต่อปีจะเพิ่มเป็นทุก 4 ปีมีสิทธิลาได้ ที่สำคัญจะมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับพนักงานกระทรวงสาธารณสุขไว้ดูแลยามชราภาพ เพื่อความมั่นคงในชีวิตหลังเกษียณหรือพ้นจากราชการ

"นอกจากนี้ ยังให้สวัสดิการกับทายาทสายตรง ได้แก่ พ่อแม่ คู่สมรส บุตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลฟรี ซึ่งขณะนี้ร่างดังกล่าวอยู่ระหว่างขอความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง คาดว่าจะประกาศใช้ประมาณปลายเดือนธันวาคมนี้ โดยจะมีคณะกรรมการประเมินการเข้าสู่ตำแหน่งและต่อจากนี้จะไม่มีคำว่าลูกจ้างชั่วคราวในกระทรวงสาธารณสุขอีกต่อไป" ปลัด สธ.กล่าว

นางกนกพร สุขสนิท ประธานภาคีลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่งประเทศไทย สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันลูกจ้างชั่วคราวสายสนับสนุนมีกว่าแสนรายในโรงพยาบาลสังกัด สธ. ไม่ว่าจะเป็นพนักงานธุรการพนักงานเข็นเปลคนไข้ พนักงานทำความสะอาดพนักงานซักเสื้อผ้า ผู้ช่วยพยาบาลดูแลผู้ป่วยสารพัด ทั้งหมดมีภาระงานหนักไม่แพ้สายวิชาชีพกว่า 30,000 คน แต่กลับถูกละเลย ไม่มีการออกมาพูดหรือปรับระเบียบให้เห็นชัดว่าสนใจคนกลุ่มนี้บ้างเลย ซึ่งไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาคีฯ อยู่ระหว่างหารือกันทั่วประเทศว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไร เบื้องต้นอาจขอเข้าพบรัฐมนตรี สธ. ถึงการแก้ปัญหาเรื่องนี้ หากสุดท้ายไม่มีนโยบายใดๆ ชัดเจนจะยืนยันหยุดงานตั้งแต่วันที่ 1-3 มกราคม 2556

นางกนกพรกล่าวว่า ภาคีลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่งประเทศไทยยังยืนยันว่า ในวันที่ 1-3 มกราคม จะนัดการหยุดงานชุมนุมประท้วงเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง ขณะนี้ได้มีการประสานไปยังเครือข่ายภาคีลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่งประเทศไทยทั้ง 4 ภาค ซึ่งแบ่งเป็น 4 โซนใน5 จังหวัด รับผิดชอบประสานงาน ได้แก่ โซนภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ โซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.สกลนคร และ จ.นครราชสีมา โซนภาคกลาง จ.ลพบุรี และโซนภาคใต้ จ.พัทลุง ส่วนจำนวนผู้ที่จะมาเข้าร่วมชุมนุม ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ แต่เฉพาะลูกจ้างชั่วคราวในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ก็มีถึง 1,800 คนแล้ว

"ถึงแม้กระทรวงจะมีแผนปรับสถานะลูกจ้างชั่วคราวของ สธ.ทั้งหมดให้เป็นพนักงาน ก.สธ.แต่สิทธิสวัสดิการก็ไม่เทียบเท่า และเรายังไม่เห็นรายละเอียด ที่สำคัญพวกเราต้องการค่าครองชีพกับค่าเสียเวลาตอนทำงานอยู่เวรดึก ซึ่งในส่วนค่าครองชีพ พวกเบี้ยเสี่ยงภัย ลูกจ้างชั่วคราวกลุ่มนี้ไม่เคยได้รับ ยิ่งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกร้องกันมานานตั้งแต่ปี 2547 ก็ไม่เคยได้รับการเหลียวแล จึงอยากได้ความเป็นธรรมบ้าง"นางกนกพรกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาพันธ์และสมาคมลูกจ้างชั่วคราว เตรียมจะแถลงข่าวถึงกรณีดังกล่าวในวันที่ 15 ธันวาคม ที่โรงพยาบาลสูงเม่นจ.แพร่

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 7 ธันวาคม 2555