ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ตลาดต่างจังหวัดขุมทรัพย์ใหม่โรงพยาบาลเอกชน ขาใหญ่แห่ปักธงยึดทำเลทองหัวเมืองใหญ่-จังหวัดตามแนวชายแดน พร้อมทุ่มงบฯเครื่องมือแพทย์ ชูนวัตกรรมชิงลูกค้ารับการขยายตัวของเมือง กำลังซื้อ เปิดเออีซี

ตั้งแต่ต้นปียังคงเห็นภาพการเดินหน้าเปิดเกมควบรวมกิจการของ "ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน" ขณะเดียวกันยังเป็นปีที่มีการลงทุนคึกคัก โดยเฉพาะเม็ดเงินมหาศาลที่หลั่งไหลไปสู่ตลาดต่างจังหวัดซึ่งกลายเป็นทำเลทอง เนื่องจากการขยายตัวของเมือง โดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่ที่กลายเป็นขุมทรัพย์รับการเปิดเออีซี ทำให้ขาใหญ่ทั้งกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ รามคำแหง เกษมราษฎร์ เดินหน้าสยายปีกบุกต่างจังหวัดเต็มที่ รวมถึงบำรุงราษฎร์ ซึ่งแต่เดิมมีนโยบายสาขาเดียวก็ปรับกลยุทธ์ มุ่งปักหมุดตามหัวเมืองใหญ่ หวังชิงทำเลยุทธศาสตร์สำคัญเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า การลงทุนของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีการขยายสาขาไปสู่ต่างจังหวัดนั้น เป็นการนำบริการเข้าถึงคนไข้ที่มีกำลังซื้อสูง และคาดหวังการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพดีกว่าเดิม โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามารักษาในกรุงเทพฯ

ร.พ.เอกชนชิงทำเลทอง ตจว.

น.พ.ศิริพงศ์ เหลืองวารินกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) ผู้บริหาร โรงพยาบาลรามคำแหง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตลาดกรุงเทพฯยังเติบโตเฉลี่ย 10% แต่ตลาดต่างจังหวัดมีการแข่งขันไม่สูงและเติบโตรวดเร็ว โดยเฉพาะโรงพยาบาลตามแนวชายแดน ปัจจัยเติบโตมาจาก เปิดเออีซีจะมีศักยภาพสูงมาก จากจำนวนคนไข้ประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งกัมพูชา พม่า และลาว ที่จะหลั่งไหลเข้ามา

อีกปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโต ก็คือขนาดและการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัด ซึ่งจากการขยายตัวของเมืองและรายได้ประชากรที่สูงขึ้น ก็จะมีความต้องการบริการสุขภาพที่ดีขึ้น ดังนั้นโอกาสที่โรงพยาบาลเอกชนจะเติบโตในช่วงนี้ก็น่าจะมีมากขึ้น

สอดคล้องกับ น.พ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการ บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH ผู้บริหารโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ฉายภาพว่า โรงพยาบาลขนาดใหญ่หันมาขยายสาขาต่างจังหวัดมากขึ้น ส่วนใหญ่มุ่งขยายไปตามหัวเมืองที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ และจังหวัดที่มีรอยต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน มีโอกาสจะขยายไปเป็นเมืองใหญ่และศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ทั้งในลักษณะสร้างใหม่และร่วมมือกับโรงพยาบาลที่มีอยู่เดิม ปัจจุบันโรงพยาบาลต่างจังหวัดมีจำนวนสาขา 372 แห่งทั่วประเทศ

กลุ่มรามคำแหงลุยรีโนเวตน.พ.ศิริพงศ์กล่าวว่า การเติบโตของกลุ่มรามคำแหงมาจากการเติบโตของสาขาเดิมและการขยายสาขาใหม่ โดยสาขาใหม่มีการเจรจากับพันธมิตรอยู่ตลอด ขณะที่สาขาเดิมมีแผนรีโนเวตและขยายพื้นที่ให้บริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการแข่งขันและขยายฐานลูกค้า

22 อาทิ เชียงใหม่ราม ใช้งบฯ 50 ล้านบาท ปรับพื้นที่ให้บริการตอบโจทย์คนรุ่นใหม่และต่างชาติที่อาศัยในเชียงใหม่ โรงพยาบาลลานนาสร้างตึกผู้ป่วยใหม่ เพิ่มเตียงอีก 100 เตียง จากเดิมมี 170 เตียง งบฯลงทุน 400 ล้านบาท ขอนแก่นรามใช้งบฯลงทุน 100 ล้านบาท เพิ่มเครื่องมือแพทย์เฉพาะทาง

"ขอนแก่นรามมีเครื่องมือแพทย์ทันสมัยอยู่แล้ว อย่างเครื่องเอ็มอาร์ไอ แต่จากนี้จะเพิ่มเครื่องมือแพทย์เฉพาะทางมากขึ้น"

ปัจจุบันกลุ่มรามคำแหงมีโรงพยาบาลในเครือข่าย 25 แห่ง แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 6 แห่ง ต่างจังหวัด 19 แห่ง ตั้งอยู่ในเขตภาคเหนือ 9 แห่ง อีสาน 3 แห่ง ตะวันตก 1 แห่ง กลาง 6 แห่ง ทั้งนี้กลุ่มรามคำแหงโฟกัสไปที่ภาคเหนือและอีสาน ซึ่งยังไม่มีแผนขยายไปที่ภาคใต้และตะวันออก เพราะไม่มีความชำนาญและตลาดดังกล่าวมีผู้เล่นที่แข็งแรงอยู่แล้ว

"ภาคเหนือมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 85% อีสานเพิ่งเริ่มต้น แต่มีโอกาสที่ดี อย่างขอนแก่นเป็นเมืองใหญ่ กำลังซื้อมากขึ้นจากการค้าระหว่างชายแดน คนไข้จากลาว และยังมีต่างชาติที่อาศัยในขอนแก่น จังหวัดอื่น ๆ ในอีสานก็มีศักยภาพอย่าง อุดรธานี อุบลราชธานี เป็นจังหวัดใหญ่ และยังไม่มีโรงพยาบาลใหญ่ ๆ เราก็สนใจ แต่ปรัชญาของเราก็คือ การเตรียมความพร้อมของหมอ เป็นเรื่องสำคัญ ต้องมีหมอก่อน จึงจะเริ่มสร้างได้ อย่างแม่สอด ตาก ก็มีโพเทนเชียลดี คนไข้พม่าเยอะ แต่ขาดแคลนหมอ"

เกษมราษฎร์ลุย 3 โปรเจ็กต์ยักษ์

น.พ.เฉลิมกล่าวถึงการลงทุนในตลาดต่างจังหวัดว่า ปัจจุบันมีสาขาในจังหวัดนนทบุรี สระบุรี และเชียงราย ซึ่งศึกษาตลาดอื่น ๆ ตลอด แต่ปีนี้จะโฟกัสตลาดที่มีอยู่และประสบความสำเร็จอย่างดี ภายใต้ 3 โครงการหลัก ๆ ใช้งบฯลงทุนทั้งสิ้นกว่า 3,100 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดิน)

อาทิ คลินิกศรีบุรินทร์ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ได้ซื้อที่ดินฝั่งตรงข้าม พัฒนาไปสู่โรงพยาบาลขนาด 30 เตียง มีพื้นที่ใช้สอย 4,500 ตร.ม. บนพื้นที่ 3 ไร่ ใช้งบฯลงทุน 120 ล้านบาท เนื่องจากจำนวนคนไข้ที่เพิ่มขึ้น ทั้งกลุ่มที่อาศัยอยู่ใน อ.แม่สายและใกล้เคียง รวมถึงลูกค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ พม่า ลาว ส่วนโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ศรีบุรินทร์ มีทำเลที่ตั้งอยู่ในตัวอำเภอเมืองเชียงราย ขณะนี้คนไข้เต็ม จึงสร้างอาคารใหม่ 1 อาคาร เพิ่มห้องพักผู้ป่วยในและโอพีดี ห้องตรวจ งบฯลงทุน 600 ล้านบาท

โครงการที่ 2 สร้างโรงพยาบาล ภายใต้แบรนด์เวิลด์เมดิคัล เซ็นเตอร์ สาขาพัทยา งบฯลงทุน 1,500 ล้านบาท หลังเปิดให้บริการสาขาแรกที่แจ้งวัฒนะ นนทบุรี เมื่อปลายเดือนมกราคม

โครงการที่ 3 สร้างโรงพยาบาลใหม่ย่านรามคำแหง ซึ่งได้ซื้อที่ดินตรงข้ามโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ สุขาภิบาล 3 งบฯลงทุนเกือบ 1,000 ล้านบาท บนที่ดิน 9 ไร่ เริ่มสร้างต้นปี 2547 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ปลายปี 2548 หรือต้นปี 2549 สำหรับโรงพยาบาลสาขาอื่น ๆ ที่อยู่ในตลาดมานาน มีแผนรีโนเวตให้มีความทันสมัยและขยายพื้นที่ให้บริการอย่างต่อเนื่อง งบฯลงทุนเฉลี่ย 300-400 ล้านบาทต่อปี หลัก ๆ ก็คือเกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ จะสร้างอาคารจอดรถรองรับได้ 400 กว่าคัน งบฯ 70-80 ล้านบาท ด้านเกษมราษฎร์ บางแค มีแผนขยายพื้นที่ให้บริการผู้ป่วย และสาขาประชาชื่นเตรียมจะเพิ่มห้องตรวจอีก 60 ห้อง

"ย่านรัตนาธิเบศร์มีการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอยู่ในแนว เส้นทางรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีม่วง ห้างเปิดใหม่ ชุมชนมีขนาดใหญ่ขึ้น ปรับโพซิชันนิ่งไปสู่ตลาดระดับกลาง-บน"

กรุงเทพ-บำรุงราษฎร์เพิ่มเครือข่าย

สำหรับกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพที่มีเครือข่ายโรงพยาบาลกว่า 29 แห่ง ในช่วงที่ผ่านมามีการลงทุนขยายสาขาต่างจังหวัดในหัวเมืองใหญ่เป็นจำนวนมาก และเปิดเกมรุกเพิ่มจำนวนสาขามากขึ้น เพื่อไปสู่เป้าหมาย 50 สาขา ในปี 2558

โดย น.พ.ชาตรี ดวงเนตร ประธานคณะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ-การแพทย์ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือบีจีเอช กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ภายในปีนี้จะเปิดให้บริการโรงพยาบาลสุนทรภู่ โรงพยาบาลที่ขอนแก่น ส่วนที่เชียงใหม่ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดไตรมาสแรกของปี 2557 และอยู่ระหว่างเจรจาที่พิษณุโลก

สอดคล้องกับ นางนฤมล น้อยอ่ำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน ระบุก่อนหน้านี้ว่า ตลาดต่างจังหวัดมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ที่มาจากทำเลที่ตั้งในกรุงเทพฯมากกว่า ต่างจังหวัดอยู่ที่ 66:34 แต่แนวโน้มการเติบโตของรายได้จากตลาดต่างจังหวัดกลับสูงกว่า โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และปี 2555 ตลาดต่างจังหวัดขยายตัว 17-18% กรุงเทพฯเติบโตเพียง 14%

แนวทางการขยายสาขาต่างจังหวัดจะพิจารณาจากจำนวนโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน เทียบกับสัดส่วนประชากรปัจจุบันอยู่ที่ 500-600 คนต่อเตียง เทียบกับกรุงเทพฯมีสัดส่วน 300 คนต่อเตียง สะท้อนว่าต่างจังหวัดยังมีความต้องการอีกมาก

ขณะที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ปัจจุบันมีสาขาแห่งเดียว ก็ปรับกลยุทธ์หันมาเน้นขยายเครือข่าย โดยนายเดนนิส บราวน์ คอร์ปอเรต ซีอีโอของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ระบุว่า บริษัทมองโอกาสการเติบโตจากการขยายไปสู่เซ็กเมนต์อื่น หรือเติบโตในตลาดใหม่ ๆ ซึ่งมีความเป็นไปได้ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยว

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 7 - 10 มี.ค. 2556