ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ประชุมเครือข่ายนักสันติวิธี  พัฒนาทักษะเจรจาไกล่เกลี่ย  ชี้ช่วยลดปัญหาการฟ้องร้อง

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์คำรณ ไชยศิริ ผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธีสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการเครือข่ายนักสันติวิธีสาธารณสุข ประจำปี 2556 : “อดีต อนาคต ปัจจุบัน มุ่งมั่นสมานฉันท์ สัมพันธภาพ” เพื่อเป็นเวทีให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการจัดการความขัดแย้งหรือรับเรื่องร้องเรียน พัฒนาความรู้ประสบการณ์ด้านวิชาการ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน นวัตกรรมใหม่ๆ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในระบบการแพทย์และสาธารณสุข

นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการในโรงพยาบาลมีมากขึ้น และอยู่ในความสนใจของสังคมเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตการเจ็บป่วย เพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชน กระทรวงสาธารณสุขได้จัดให้มีระบบรับเรื่องราวร้องทุกข์ ประเมินความพึงพอใจผู้รับบริการ รวมทั้งพัฒนาทักษะแนวคิดในการเจรจาไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในระบบบริการสาธารณสุข โดยได้จัดตั้งศูนย์สันติวิธีสาธารณสุขขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในปี 2547 ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมและวางระบบการไกล่เกลี่ย ขณะนี้มีโรงพยาบาลในสังกัดได้ตั้งศูนย์และมีระบบไกล่เกลี่ยแล้วร้อยละ 80

นายแพทย์ชลน่าน กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ 2554 ศูนย์สันติวิธีกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดเก็บข้อมูลเรื่องร้องเรียนฟ้องร้องทางการแพทย์ทุกแผนกในโรงพยาบาล 25 แห่งจากทุกภาคทั่วประเทศ พบว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งด้วยการเจรจาไกล่เกลี่ยจำนวน 690 เรื่อง และสามารถใช้กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยด้วยสันติได้สำเร็จ ไม่นำไปสู่การฟ้องร้องจำนวน 683 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 99

ด้านนายแพทย์คำรณ ไชยศิริ ผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธีสาธารณสุข กล่าวว่า ศูนย์สันติวิธีสาธารณสุขได้จัดทำหลักสูตร 2 หลักสูตร คือแนวความคิดพื้นฐานการจัดการความขัดแย้งในระบบบริการสาธารณสุข และการพัฒนาศักยภาพนักเจรจาไกล่เกลี่ยในระบบการแพทย์และสาธารณสุข ตั้งแต่ปี 2546-2556 มีผู้ที่ผ่านการอบรมทั้ง 2 หลักสูตร 1,914 คน จากหน่วยบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ และจะพัฒนาขีดความสามารถให้บุคลากรในชุมชนมากขึ้น โดยจัดอบรมในโรงพยาบาลทุกระดับทุกแห่ง เน้นให้มีทักษะในเรื่องการสื่อสารที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง ยึดหลักเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย ความเป็นธรรม และสัมพันธภาพที่ดียังคงอยู่ต่อไป

ที่มา: http://www.naewna.com