ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดย อาจารย์สิงห์ สิงห์ขจร อาจารย์ประจำสาขาวิชาการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารองค์การในฐานะประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ เผยผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนรักษาพยาบาลของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ โดยสำรวจบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 976 คน เก็บข้อมูลในวันที่ 24 - 30 กรกฏาคม 2556 พบร้อยละ 93 ไม่พอใจในสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ได้รับในปัจจุบัน(สิทธิประกันสังคม) ร้อยละ 99 อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องสวัสดิการรักษาพยาบาล และร้อยละ 99 อยากให้สปสช. และกระทรวงสาธารณสุขปรับเปลี่ยนดำเนินการปรับเปลี่ยนเรื่องสวัสดิการรักษาพยาบาล

มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

          ท่านคิดว่าในปัจจุบันท่านพอใจในสวัสดิการในการรักษาพยาบาลหรือไม่

          ร้อยละ 02.00 พอใจ

          ร้อยละ 93.00 ไม่พอใจ

          ร้อยละ 05.00 ไม่แน่ใจ

          ท่านอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องสวัสดิการในการรักษาพยาบาลหรือไม่

          ร้อยละ 99.00 อยาก

          ร้อยละ 00.50 ไม่อยาก

          ร้อยละ 00.50 ไม่แน่ใจ

          ท่านอยากให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการปรับเปลี่ยนเรื่องของสวัสดิการในการรักษาพยาบาลหรือไม่

          ร้อยละ 99.00 อยาก

          ร้อยละ 00.00 ไม่อยาก

          ร้อยละ 01.00 ไม่แน่ใจ

อาจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ระบุว่า เนื่องจากในปัจจุบันบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ส่วนใหญ่ใช้สิทธิประกันสังคม โดยไม่ได้ใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลแบบข้าราชการ แต่บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ในปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 100,000 คนทั่วประเทศ จากมหาวิทยาลัยของรัฐจำนวน 16 สถาบัน มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐจำนวน 15 สถาบัน มหาวิทยาลัยราชมงคลจำนวน 9 สถาบัน และมหาวิทยาลัยราชภัฏ จำนวน 40 สถาบัน รวมสถาบันอุดมศึกษาของรัฐมีจำนวนรวม 80 สถาบัน ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 99% และความผิดพลาดไม่เกิน 5% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 900 กลุ่มตัวอย่าง

รศ. ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา กล่าวว่า ความร่วมมือกับบ้านสมเด็จโพลล์ในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา มีหลายประเด็นที่ผู้บริหารในทุกระดับเพิกเฉย สังคมควรรับรู้และพิจารณาผ่านการสำรวจความคิดเห็นของโพลล์ ซึ่งสอดคล้องกับหนึ่งในวัตถุประสงค์การก่อตั้งศูนย์ประสานงานฯคือ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพทางวิชาการ ร่วมกับองค์กรต่างๆ ความร่วมมือกับบ้านสมเด็จโพลล์ในเรื่องของความเหลื่อมล้ำกองทุนสุขภาพ จะสะท้อนความรู้สึกของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาได้เป็นอย่างดี

ด้าน ดร.เฟื่องอรุณ ปรีดีดิลก อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพของไทยมีความแตกต่างกันไปในหลายประเด็น ทั้งในเรื่องงบประมาณ ความแตกต่างด้านชุดสิทธิประโยชน์การรักษา ซึ่งบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา 70% มีสถานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ที่ยังไม่มีกฎหมายชัดเจน ก่อกำเนิดมากว่า 14 ปีตามมติ ครม. เมื่อปี 2542 ที่ให้เปลี่ยนสถานะจากข้าราชการมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยนั้น ปัจจุบัน ส่วนใหญ่อยู่ในระบบประกันสังคมไปพลาง และมีบางส่วนที่เป็นข้าราชการที่เปลี่ยนสถานะมา ยังอยู่ในระบบราชการเดิมแต่สถานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งมีความแตกต่าง