นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ในการประชุมวิชาการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 5 หัวข้อ “การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคและการวิจัยพัฒนาวัคซีนในทศวรรษหน้า:การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน” ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้เปิดใจถึงความเป็นไปได้ที่ไทยจะสามารถก้าวสู่การเป็นศูนย์กลาง/เป็นผู้นำด้านวัคซีนของภูมิภาคอาเซียนได้ แต่รัฐต้องให้การสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ในขณะที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติจะเป็นหน่วยงานกลางด้านวัคซีน ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน ผลักดันศักยภาพด้านการพัฒนาวัคซีนของประเทศไทย ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์วาระแห่งชาติด้านวัคซีน เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายไทยต้องสามารถผลิตวัคซีนที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล มีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศทั้งในสถานการณ์ปกติและฉุกเฉิน

บทบาทและหน้าที่ของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ “สวช.” กล่าวว่าก่อนที่จะมาเป็นสถาบันวัคซีนแห่งชาติ(องค์การมหาชน) นั้น เดิมเป็นเพียงหน่วยงานภายใต้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (ปี2544) และต่อมาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2555 ได้รับการจัดตั้งเป็นสถาบันวัคซีนแห่งชาติ(องค์การมหาชน)โดยมีหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางด้านวัคซีน ทำหน้าที่ในการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันศักยภาพด้านการพัฒนาวัคซีนของประเทศไทย ที่มีอยู่ตามหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย หรือบริษัทวัคซีนในประเทศไทยให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน ตามยุทธศาสตร์ “วาระแห่งชาติด้านวัคซีน” ให้คนไทยได้รับประโยชน์สูงจากการพัฒนาวัคซีน ภายในระยะเวลา 10 ปี ประเทศไทยต้องสามารถผลิตวัคซีนที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล มีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ

โดยในปี 2557 ที่จะถึงนี้ทางสถาบันวัคซีนฯ จะได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล โดยตรงเป็นปีแรก เพื่อการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ 6 ข้อที่วางไว้ ได้แก่ 1. บริหารจัดการเพื่อการบูรณาการและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติ 2. ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยพัฒนาและการผลิตวัคซีนให้มีคุณภาพและมีปริมาณเพียงพอสำหรับที่จะใช้ทั้งในสถานการณ์ปกติและในสถานการณ์ฉุกเฉิน

3. ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำร่างนโยบายและแผนยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ 4. สร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ 5.เป็นศูนย์พัฒนาข้อมูลและสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการพัฒนาวัคซีน 6. ให้บริการทางวิชาการ และฝึกอบรมเพื่อการพัฒนาบุคลากรด้านวัคซีนของประเทศ

ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติด้านวัคซีนด้วย 4 ยุทธศาสตร์

นพ.จรุงกล่าวว่าทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ดำเนินงานภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ผลักดันและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบาย และแผนยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติ โดยหน่วยงานกลางด้านวัคซีนของประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านวัคซีนภายในประเทศให้มีองค์ความรู้เพียงพอ และมีทักษะเฉพาะด้านที่เหมาะสมกับภารกิจ ยุทธศาสตร์ที่ 3 จัดตั้งและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการวิจัยพัฒนาการผลิต และการควบคุมคุณภาพวัคซีนตั้งแต่การวิจัยพัฒนาจนถึงการใช้วัคซีน และยุทธศาสตร์ที่ 4 สนับสนุนการวิจัย พัฒนาและการผลิตวัคซีนได้เองภายในประเทศทั้งวัคซีนพื้นฐานและวัคซีนที่จำเป็นต้องใช้สำหรับการป้องกันควบคุมโรคในภาวะปกติและเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน เช่น โรคระบาด

ไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางด้านวัคซีนในอาเซียน

ผอ.สถาบันวัคซีนฯ ระบุว่า ขณะนี้สถาบันวัคซีนแห่งชาติมีพันธมิตรที่เข้มแข็งซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานคุณภาพต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา,กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์,กรมควบคุมโรค,องค์การเภสัชกรรม,สถานเสาวภา,สภากาชาดไทย,มหาวิทยาลัยมหิดล,สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ,ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย และบริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด บริษัทร่วมทุนองค์การเภสัชกรรม-เมออริเออร์ชีววัตถุ เป็นต้น ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะเข้ามาเป็นเครือข่าย ร่วมกันขับเคลื่อนดำเนินงานโครงการสำคัญๆตามวาระแห่งชาติด้านวัคซีน เพื่อพัฒนางานด้านวัคซีนของประเทศไทยให้มีความก้าวหน้า หากสามารถทำได้สำเร็จ คนไทยจะได้รับประโยชน์สูงสุดจะมีวัคซีนพื้นฐานที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากลไว้ใช้ทั้งในภาวะจำเป็นและฉุกเฉิน

“ ณ วันนี้เชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อม สามารถก้าวสู่การเป็นศูนย์กลาง/เป็นผู้นำด้านวัคซีนของภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากเรามีนักวิจัยและผู้พัฒนาด้านวัคซีนที่มีศักยภาพสูง มีหน่วยงานมากกว่า 50 หน่วยงาน ที่ทำงานวิจัยและพัฒนาด้านวัคซีนซึ่งเชื่อว่าศักยภาพของบุคลากรของไทยที่มีประสิทธิภาพจะสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้ โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติจะส่งเสริมและผลักดันความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศในการดำเนินงานด้านวัคซีนอย่างครบวงจร และจะประสานความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนอย่างเป็นระบบมากขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวัคซีนที่จำเป็นในการควบคุมโรคประจำถิ่นในภูมิภาค และการป้องกันควบคุมโรคในวงกว้าง ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในระยะยาว ช่วยลดการสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถของไทยในการเป็นประเทศผู้นำในภูมิภาคอาเซียนด้านวัคซีนในอนาคตอันใกล้นี้”

ฝากชี้แจงประชาชนให้เห็นความสำคัญของวัคซีน

การที่ประเทศไทยมีสถาบันวัคซีนฯขึ้นมาในช่วงเวลานี้ เป็นการสร้างความมั่นคงในระยะยาวว่า คนไทยจะมีโอกาสเข้าถึงการบริการวัคซีนอย่างทั่วถึงและครอบคลุมโรคร้ายต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่สำคัญรัฐบาลจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจว่าวัคซีนมีความจำเป็นต่อประชาชนอย่างไร รวมทั้งให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนดำเนินงานด้านวัคซีนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง หากประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนที่มีคุณภาพไว้ใช้ได้เอง คนไทยจะได้รับประโยชน์เหล่านี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ประเทศก็มีความมั่นคงด้านวัคซีนและสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งการส่งออกและการสร้างความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคในระยะยาว นพ.จรุง กล่าว