ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า กรมกำลังอยู่ระหว่างการยกร่างคู่มือตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรยา เพื่อใช้เป็นแนวทางให้กับเจ้าหน้าที่นำไปใช้ในการรับคำขอ และตรวจคำขอสิทธิบัตรยา ลดปัญหาผู้ฉวยโอกาสยื่นคำขอสิทธิบัตรยาเดิมที่ใกล้หมดอายุ โดยอ้างว่า มีการปรับปรุงพัฒนายาใหม่ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงไม่ได้มีการพัฒนาอะไรใหม่ แล้วมายื่นขอจดสิทธิบัตรเพื่อขยายการคุ้มครองออกไป สำหรับหลักเกณฑ์ในการตรวจคำขอสิทธิบัตรยาจะกำหนดเกณฑ์ในการตรวจสอบเคมีภัณฑ์ เภสัชภัณฑ์ หรืออธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ซึ่งการปรับปรุงยาในด้านที่กำหนด ถือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ตามบทบัญญัติของกฎหมายสิทธิบัตรหรือไม่ ถ้าใช่ ก็ไม่ขัดข้องที่จะ อนุมัติให้จดสิทธิบัตร แต่ถ้าไม่ใช่จะไม่อนุมัติให้จดหรือขยายการจดสิทธิบัตรยาดังกล่าวออกไป

นางปัจฉิมากล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กรมได้มีการประชุมหารือร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ฝ่ายผู้ผลิต ผู้ใช้ เอ็นจีโอ นักวิชาการ มหาวิทยาลัย 4 แห่ง คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อมาร่วมให้ข้อมูลและแนวทางในการยกร่างคู่มือตรวจคำขอสิทธิบัตรยาดังกล่าว คาดว่าจะสรุปแนวทางได้ในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้การมีคู่มือ จะช่วยให้การตรวจสอบสิทธิบัตรยาทำได้เร็วขึ้น เพิ่มความโปร่งใส และตรวจสอบได้ ผู้ผลิตยาไม่ต้องกังวลว่าจะถูกขัดขวางในการจดสิทธิบัตร เพราะหากเป็นของใหม่จริง ก็ต้องได้รับการจดสิทธิบัตร

นางปัจฉิมากล่าวว่า ส่วนกรณีประชาชนจะได้ประโยชน์ในแง่การเข้าถึงยาที่จำเป็นจะทำได้ง่ายขึ้น เพราะยาบางชนิดที่มีสิทธิบัตรคุ้มครองอยู่ มักจะมีราคาแพง แต่ถ้าสิทธิบัตรหมดอายุ และผู้เป็นเจ้าของสิทธิบัตรที่เดิมมักจะใช้ช่องว่างในการยื่นคำขอจดสิทธิบัตรใหม่ โดยอ้างว่ามีการปรับปรุงยาเล็กน้อย ก็จะทำไม่ได้ และจะทำให้ยามีราคาถูกลง และการเข้าถึงยาก็จะทำได้ง่ายขึ้น

อนึ่ง ที่ผ่านมาบริษัทยาในต่างประเทศ ที่ส่งยาเข้ามาจำหน่ายในไทย โดยเฉพาะยาที่จำเป็นในการป้องกันโรค เช่น ยาเอดส์และยารักษาโรคหัวใจมักจะใช้วิธีการจดสิทธิบัตรยา เพื่อคุ้มครองยา และเมื่อสิทธิบัตรใกล้หมดอายุ ก็มักจะใช้เหตุผล เช่น อ้างว่ายาได้เพิ่มส่วนผสมใหม่ๆ ลงไปแล้วมาขอจดสิทธิบัตรใหม่ เพื่อขยายความคุ้มครองออกไปอีกหรือที่เรียกกันว่า สิทธิบัตรไม่มีวันตาย ทำให้การเข้าถึงยาของประเทศต่างๆ ทำได้ยากเพราะยาเหล่านี้มักจะมีราคาแพงมาก โดยการที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เตรียมออกคู่มือตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรยา จะช่วยป้องกันปัญหาดังกล่าวได้ เพราะหลักเกณฑ์ที่กำหนดออกมานั้นได้รับการยอมรับจากผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยาทั้งหมด รวมถึงผู้ใช้ นักวิชาการ และที่สำคัญที่สุดจะช่วยให้ประชาชนในประเทศเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้น และราคายาจะถูกลง

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 14 ส.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--