ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เผยโรงพยาบาลลำปางประสบผลสำเร็จในการพัฒนาโปรแกรม“ไทยรีเฟอร์”ประจำที่ห้องฉุกเฉิน ใช้ส่งต่อผู้ป่วยหนัก/ฉุกเฉินแบบไร้รอยต่อ ส่งภาพผู้ป่วย ข้อมูลประวัติ ผลแล็ปออนไลน์ หรือผ่านทางสมาร์ทโฟน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเตรียมการรักษารอที่ห้องฉุกเฉินก่อนผู้ป่วยไปถึง ไม่ต้องตรวจแล็ปใหม่ มีระบบติดตามพิกัดรถฉุกเฉิน ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้รวดเร็ว ลดอัตราเสียชีวิต ขณะนี้นำมาใช้แล้ว 52 จังหวัด 726 โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน พบได้ผลดี วางแผนประยุกต์ใช้รองรับกรณีภัยพิบัติ ช่วยบริหารจัดการคล่องตัว

วันนี้ (21 สิงหาคม 2556) ที่โรงพยาบาลลำปาง จ.ลำปาง นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ประชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สัญจร)ครั้งที่ 11/2556 เพื่อพัฒนาระบบการดูแลผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยหนักให้มีชีวิตรอดปลอดภัยมากที่สุด และตรวจเยี่ยมระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินของโรงพยาบาลลำปาง และหน่วยกู้ภัยท่าผา อ.เกาะคา จ.ลำปาง

นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายให้ประชาชนคนไทยทุกคนมีสุขภาพดี ได้เร่งรัดพัฒนาให้สถานพยาบาลทุกแห่งมีมาตรฐานการรักษา เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพด้วยความเสมอภาคและทั่วถึง โดยเฉพาะกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน มีระบบการแพทย์ออกปฏิบัติการกู้ชีพถึงที่เกิดเหตุ เพื่อช่วยชีวิตให้รอดปลอดภัยและนำส่งรักษาในโรงพยาบาล หรือในกรณีป่วยหนักเกินขีดความสามารถของสถานพยาบาล จะมีระบบการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า และระบบส่งผู้ป่วยกลับไปสถานพยาบาลต้นทางเพื่อดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพต่อเนื่อง จากการประเมินผลระบบการแพทย์ฉุกเฉินในปี 2555 ทีมกู้ชีพออกปฏิบัติการ 1.2 ล้านกว่าครั้ง เฉลี่ยนาทีละ 2 ครั้ง

นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาการรับส่งต่อผู้ป่วยมีปัญหาหลายประการ เช่น การสื่อสารทางโทรศัพท์ไม่สะดวก สายไม่ว่าง ไม่มีผู้รับสาย ใบส่งต่อผู้ป่วยข้อมูลไม่สมบูรณ์ ขาดผลวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเช่นผลเลือด ฟิล์มเอกซเรย์หรือภาพคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ทำให้แพทย์ต้องแล็ปซ้ำใหม่ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เร่งพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยให้มีมาตรฐาน คล่องตัว โดยที่โรงพยาบาลลำปาง ได้พัฒนาโปรแกรมการส่งต่อผู้ป่วย ที่เคยใช้ที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ดจนประสบผลสำเร็จ ใช้ได้ผลดี และตั้งชื่อว่า “โปรแกรมไทยรีเฟอร์( Thai Refer)” เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2555 ซึ่งเป็นมาตรฐานการส่งต่อผู้ป่วยของประเทศไทยโดยเฉพาะ และขยายผลใช้ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ศึกษาธิการ กลาโหม และภาคเอกชน ปัจจุบันมีสถานพยาบาลใช้โปรแกรมนี้ 726 แห่ง ใน 52 จังหวัด จะขยายผลใช้ทั่วประเทศในปี 2556 นี้เพื่อให้เป็นระบบมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ และเชื่อมงานดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยหนักของโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนแบบไม่มีรอยต่ออีกต่อไป

จุดเด่นโปรแกรมไทยรีเฟอร์ มี 3 ประการคือ ใช้งานได้ง่าย ลดการทำงานซ้ำซ้อน มีระบบเฝ้าระวังระบบความปลอดภัยป้องกันความผิดพลาดตลอด 24 ชั่วโมง เชื่อมต่อระหว่างห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลต้นทาง-ปลายทาง โดยใช้ระบบการส่งต่อข้อมูล ประวัติ ผลแล็ปต่างๆ เช่น เลือด เอ็กซเรย์ และภาพผู้ป่วยผ่านคอมพิวเตอร์ออนไลน์ และระบบโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ไอแพ็ด ข้อมูลประวัติการรักษาจากต้นทาง และภาพผู้ป่วยจะปรากฏที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลปลายทาง และมีระบบดาวเทียมติดตามเช็คพิกัดรถพยาบาลนำส่ง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเตรียมพร้อมการรักษาและสามารถสั่งการรักษาเพิ่มเติมได้ทันที ทำให้ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้รวดเร็ว ลดอัตราการเสียชีวิต และลดค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อนของโรงพยาบาล คือไม่ต้องตรวจแล็ปซ้ำอีก

นายแพทย์ประดิษฐ์กล่าวต่ออีกว่า ในอนาคต จะพัฒนาประยุกต์ใช้โปรแกรมนี้ ให้สามารถรองรับอุบัติเหตุหมู่ที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก หรือกรณีเกิดภาวะวิกฤต เช่น กรณีน้ำท่วมใหญ่ หรือ ภัยพิบัติ เพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการดูแลผู้ป่วยทุกรายได้ทั้งการรักษา การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย การสำรองเตียงไอซียู และเครื่องมือแพทย์

ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า จากรายงานข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ทั่วประเทศมีทีมปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน 12,691 ชุด ผู้ปฏิบัติการทั้งหมด 122,945 คน มีรถปฏิบัติการฉุกเฉิน 14,189 คัน เรือ 1,128 ลำ เครื่องบิน 7 ลำ เฮลิคอปเตอร์ 101 ลำ ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการฯ 79 แห่ง ในปี 2555 ออกปฏิบัติการ 1.2 ล้านกว่าครั้ง ขณะนี้มีบริการการแพทย์ฉุกเฉินประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6,683 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 85 ซึ่งจะได้ประสานให้มีการจัดบริการให้ครอบคลุม 100 เปอร์เซ็นต์ต่อไป

สำหรับที่โรงพยาบาลลำปาง ในปี 2555 มีสถิติบริการรับส่งต่อผู้ป่วยวิกฤติ จำนวน 8,703 ครั้ง มากสุดเป็นการรับผู้ป่วยภายในจังหวัดจำนวน 7,919 ครั้ง รองลงมาเป็นการรับผู้ป่วยจากต่างจังหวัด 463 ครั้ง การส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า 137 ครั้ง โรคที่ส่งต่อมากสุดคือโรคหัวใจ การตัดอวัยวะ แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ส่วนโรคที่รับส่งต่อภายในจังหวัดมากสุดคือ บาดเจ็บที่ศีรษะ หลอดเลือดหัวใจ-สมองตีบ ติดเชื้อในกระแสเลือด โดยโปรแกรมไทย-รีเฟอร์ สามารถส่งต่อผู้ป่วยวิกฤติภายใน 30 นาที มากถึงร้อยละ 99