ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ยธ.เอาจริง ดันแก้กฎหมายปลด "ใบกระท่อม" พ้นบัญชียาเสพติด "พงศพัศ" เตรียมลงพื้นที่เก็บข้อมูลแหล่งปลูกย่านหนองจอก ยันข้อมูลมีครบ ทั้งงานวิจัย-ผลกระทบความมั่นคง คาด 2 สัปดาห์สรุป

หลังจากกระทรวงยุติธรรมมีแนวคิดจะนำใบกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 แต่หลายฝ่ายในสังคมแนะให้ทบทวนอย่างถี่ถ้วน เพราะอาจเป็นดาบสองคมนั้น ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 1 กันยายน พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กล่าวว่า หลังจากตั้งคณะทำงานพัฒนานโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพืชกระท่อมอย่างเป็นทางการในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หน้าคณะทำงานจะนัดประชุดนัดแรก เพื่อนำเสนอข้อมูลของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะสรุปความเห็นนำเสนอต่อนายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์

"ที่ผ่านมามีข้อมูลงานวิจัย และงานวิชาการหลายชิ้นศึกษาเกี่ยวกับใบกระท่อม เฉพาะในส่วนของ ป.ป.ส.มีข้อมูลจำนวนมาก ทั้งผลการวิจัยข้อมูลจากต่างประเทศ เช่น ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ผลการปราบปรามจับกุม ผลกระทบทางด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ตลอดจนผลการดำเนินคดีของศาล ดังนั้นเรื่องผลวิจัยรองรับถือว่ามีพร้อมแล้ว" พล.ต.อ.พงศพัศกล่าว

เลขาธิการ ป.ป.ส.กล่าวอีกว่า การตั้งคณะทำงาน ได้เชิญหน่วยงานอื่นเข้าร่วม เช่น กระทรวงสาธารณสุข จะทำให้ได้ข้อมูลรอบด้านในส่วนของสุขภาพผู้ใช้ ส่วนที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม คือ การทำประชาพิจารณ์ขอความเห็นจากสังคม ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะเริ่มลงพื้นที่ย่านที่มีการปลูกต้นกระท่อม เช่น ในท้องที่ประชาสำราญ เขตหนองจอก กรุงเทพฯ เพื่อเข้าไปสอบถามถึงการลักษณะการใช้ใบกระท่อม

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา รมว.ยุติธรรมได้ลงนามแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนานโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับพืชกระท่อม โดยมีนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นที่ปรึกษา นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน เลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นรองประธาน และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดจนภาควิชาการรวม 26 คน ประกอบด้วย ป.ป.ส. สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อัยการสูงสุด คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และนักวิชาการ ด้านการแพทย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ

สำหรับคณะทำงานมีหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ผลดี ผลเสีย และความเป็นไปได้ที่จะให้ใบกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เพื่อให้สถิติเกี่ยวกับคดียาเสพติดลดลง รวมถึงปรับปรุงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานชุดย่อย เพื่อร่วมกันศึกษาข้อมูลของพืชกระท่อม ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะทำงานชุดใหญ่เห็นชอบ และนำไปสู่การผลักดันต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก