ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -จากเหนือสุดจรดท้ายปลายด้ามขวาน จากเชียงรายไล่เรียงลงสู่ปัตตานี “กลุ่มหมออนามัย” ไม่ต่ำกว่า 3,000 ชีวิต ตบเท้าแสดงพลังหน้ารัฐสภาด้วยความหวัง ... หวังเพียงเพื่อ “ทวงสัญญา” และทวงถามถึง “ศักดิ์ศรี” ที่พึงได้รับ

2 ต.ค. 2556 ประวัติศาสตร์ต้องจารึก ... 100 ปีที่ผ่านมา พวกเขาเพียรภาวนาให้ความฝันกลายเป็นจริง

ตั้งแต่ช่วงเช้า “กลุ่มหมออนามัย” ทั่วประเทศ รวมตัวกันอย่างแข็งขั้นบริเวณหน้าพระบรมรูปทรงม้าท่ามกลางท้องฟ้าที่ครึ้มฝน ในวันนี้หัวใจทุกดวงมีเป้าหมายเดียวกัน คือวิงวอนให้สภาผู้แทนราษฎร “เลื่อน” การพิจารณา พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน ขึ้นมาให้ความเห็นชอบอย่างเร่งด่วน

10 นาฬิกาตรง สองเท้านำร่างที่ล้นเปี่ยมด้วยความเชื่อมั่นเคลื่อนสู่หน้ารัฐสภาไทย ก้าวแล้วก้าวเล่า คนแล้วคนเล่า เนืองแน่นเต็มประดาเป็นประจักษ์ถึงความจำเป็น

รถเครื่องเสียงคันนั้นกำลังนำการปราศรัย “กลุ่มหมออนามัย” ในเครื่องแบบเสื้อสีฟ้าโห่ร้องแย้มรอยยิ้ม สองมือขึงป้ายผ้าแสดงถิ่นฐานการทำงาน

“เราได้รับข่าวดีมาแล้วว่า พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน จะถูกเลื่อนขึ้นมาพิจารณาในเวลา 13.00 น. ของวันนี้” ใครคนนึ่งประกาศผ่านเครื่องขยายเสียง ใครอีกหลายพันคนไม่สามารถเก็บอาการความยินดีไว้ได้อีกต่อไป

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กลุ่มคนเหล่านี้ “ลาพักร้อน” มารวมตัวหน้ารัฐสภา แต่นี่คือครั้งแรกที่กฎหมายซึ่งนำเสนอโดย 14,583 ชีวิต กำลังจะบรรลุผล

ทัศนีย์ บัวคำ อุปนายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข ยอมรับว่า ที่ผ่านมาถูกกีดกันขัดขวางอย่างหนักจาก 7 วิชาชีพสาธารณสุข ซึ่งประกอบด้วย แพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด สัตวแพทยสภา รวมถึงกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เนื่องจากเขาเหล่านั้นไม่ยอมรับการทำงานของหมออนามัย

อย่างไรก็ดี ในวันนี้มีความมั่นใจว่าจะสำเร็จ และเชื่อว่าภายในเดือนพ.ย.นี้ จะมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิให้กับ “หมออนามัย” ทั้ง 4หมื่นชีวิต

สำหรับ “หมออนามัย” คือกลุ่มบุคคลที่เป็น “ข้าราชการเต็มขั้น” เริ่มตั้งแต่ระดับ 4-7 ซึ่งปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) โดยบุคคลเหล่านี้แม้ไม่ได้เป็น “แพทย์” ตามนิยามที่เข้าใจกันโดยทั่วไป แต่โดยพฤตินัยแล้ว กลุ่มคนเหล่านี้ต้องทำงานทั้ง “รักษาพยาบาล” “ส่งเสริมป้องกันโรค” “ควบคุมโรค” และ “การฟื้นฟู”

นั่นหมายความว่า กลุ่มคนเหล่านี้ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อสุขภาพของคนในชุมชน เป็น “ด่านแรก” หรือเปรียบเป็น “ที่พึ่ง” ของชาวบ้านตาดำๆ

ทว่า กลุ่มคนเหล่านี้กลับถูก “ครหา” และ “หยามเหยียด” มาโดยตลอดว่าเป็น “หมอเถื่อน” หรือกระทั่ง “ไม่มีความรู้” เพียงพอที่จะมาให้การรักษาคนไข้ นอกจากนี้ทุกการรักษาเพื่อประคับประคองชีวิตของผู้ป่วยโดยหมออนามัย กลับเปิดช่องให้ “ถูกฟ้อง” ได้ตลอดเวลา ... เรียกได้ว่า ขา 1 ข้าง เหยียบไว้ในห้องขังแล้ว

ตามโครงสร้างของรพ.สต. แน่นอนว่าต้องมี “พยาบาลวิชาชีพ” ประจำอยู่ ... ในบางแห่ง พยาบาลวิชาชีพ เป็นเพียงอัตราเดียวที่มี“สภาวิชาชีพ” รองรับ นั่นหมายความว่ามีโอกาสได้รับทั้งเงินเดือนและเบี้ยตามวิชาชีพ ในขณะที่ “หมออนามัย” ซึ่งทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ และไม่ได้มีภาระงานน้อยกว่า “พยาบาลวิชาชีพ” แต่อย่างใด กลับได้รับเงินเพียงเศษเนื้อข้างเขียง

จึงไม่มีเหตุผลใดที่คู่หรือหนักแน่นพ่อจะคัดง้างไม่ให้ก่อกำเนิด “กฎหมาย” เพื่อคุ้มครองและยกระดับ “หมออนามัย” เป็น “วิชาชีพ”

สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน ได้กำหนดนิยามคำว่า “วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน” หมายถึงวิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในชุมชนเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การควบคุมโรค การตรวจประเมิน และการบำบัดโรคเบื้องต้น

อย่างไรก็ดี ไม่รวมถึงการประกอบโรคศิลปะตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ หรือการประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และการสาธารณสุขอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

นอกจากนี้ มีการกำหนดมาตรฐานและจรรยาบรรณรวมถึงสิทธิและความเป็นธรรมของผู้ที่ประกอบวิชาชีพสาธารณสุข มีการส่งเสริมให้มีการวิจัยและเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนและองค์กรเกี่ยวกับการสาธารณสุข มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขอย่างชัดเจน เช่น ผู้ประกอบวิชาชีพต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และต้องมีความรู้ในวิชาชีพสาธารณสุขโดยได้รับปริญญาในวิชาชีพสาธารณสุขที่สภาวิชาชีพการสาธารณสุขรับรอง เป็นต้น

พร้อมกันนี้ ยังได้กำหนดให้เฉพาะบุคคลที่มีใบอนุญาตถึงจะมีสิทธิปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขได้ โดยมีข้อยกเว้นเฉพาะการกระทำในฐานะข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น และกำหนดข้อจำกัดเงื่อนไขและจรรยาบรรณของการประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขของผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพสาธารณสุข รวมถึงหากมีกรณีมีผู้เสียหายก็สามารถทำหนังสือร้องเรียนผู้ที่กระทำความผิดนั้นยื่นต่อสภาวิชาชีพสาธารณสุขมีบัญญัติบทลงโทษโดยในขั้นสูงสุดคือการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสาธารณสุข ถ้าผู้ประกอบวิชาชีพนั้นได้กระทำความผิดจริง

แม้ย่ำค่ำแต่ฟ้าเปิด  ... 100 ปีที่ผ่านมา กับการเพียรภาวนาความฝันกลายเป็นจริงแล้ว

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติด้วยเสียงเอกฉันท์ 382 เสียง เห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.การสาธารณสุขชุมชน

นพ.พูลชัย จิตอนันตวิทยา ที่ปรึกษาสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข ระบุว่า ภายหลังกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ จะมีการจัดตั้ง “สภาวิชาชีพ” ของกลุ่มหมออนามัยขึ้นมา โดยสภาวิชาชีพจะกำหนดเกณฑ์ คุณสมบัติ และมาตรฐานของผู้ปฏิบัติวิชาชีพ จากนั้นจะมีการเปิดสอบเพื่อให้หมออนามัยที่ทำงานอยู่แล้วเข้ามาสอบเพื่อคัดกรองผู้ที่มีความสามารถ เมื่อผ่านการสอบก็จะได้รับใบประกอบวิชาชีพ แต่จะต้องมีการมาสอบซ้ำเพื่อต่ออายุทุกๆ 5 ปี

“แน่นอนว่าประโยชน์จะเกิดขึ้นกับทั้ง 2 ฝ่าย สำหรับคนไข้ก็จะได้รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพจากผู้ให้บริการที่มีมาตรฐาน ส่วนหมออนามัยก็จะได้ศักดิ์ศรี ได้รับการยอมรับ และมีโอกาสได้เบี้ยจากวิชาชีพเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานเพื่อชุมชนต่อไป” คุณหมอพูลชัย ระบุ

นี่จึงเป็นวันที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึก เป็นการก่อกำเนิด “วิชาชีพ” สาขาที่ 8 ของวงการสาธารณสุข