ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

'ไฮแทป'วิจัยพบเด็กไทยปัญหารุมเร้า 'ตั้งครรภ์ไม่พร้อม-ชอบความรุนแรง-ติดเกม' เผยตัวเลขสูญเสียถึง 30,000 ล้านบาทต่อปี เสนอตั้งคลินิก หรือหน่วยงานระดับชาติดูแลเฉพาะ

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ภญ.ปฤษฐพร กิ่งแก้ว นักวิจัยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือ ไฮแทป (HITAP) แถลงข่าว "ผลการศึกษาโครงการอนาคตไทยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กอายุ 6-25 ปี" ว่า จากการทบทวนปัญหาสุขภาวะของเด็กและเยาวชน โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจาก 17 หน่วยงาน เช่น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นต้น มาร่วมจัดลำดับความสำคัญของปัญหาสุขภาวะในเด็กและเยาวชน พบว่าปัญหาหลัก คือ การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งมาจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย การเปลี่ยนหลายคู่นอน และขาดความรู้เรื่องการคุมกำเนิดที่ถูกต้อง แม้ที่ผ่านมาทุกภาคส่วนจะให้ความสำคัญ แต่จากอัตราการคลอดบุตรของผู้หญิงไทยอายุ 15-17 ปี ยังคงมีตัวเลขสูงในอัตราเกิน 50 ต่อ 1,000 ประชากร

ภญ.ปฤษฐพรแถลงอีกว่า ข้อเสนอเชิงนโยบาย คือ ต้องพัฒนาฐานข้อมูลการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เพราะปัจจุบันมีเพียงฐานข้อมูลจากการคลอดบุตรเท่านั้น ศธ.ต้องพัฒนาหลักสูตรเพศศึกษาให้ทันสมัย พร้อมพัฒนาทักษะผู้สอน ส่วน สธ.ต้องพัฒนางานด้านอนามัยเจริญพันธุ์ที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น และร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พัฒนาระบบการเข้าถึงถุงยางอนามัย ยาคุมกำเนิดและบริการให้คำปรึกษาที่ปกป้องตัวตนของผู้รับบริการ นอกจากนี้ ยังพบปัญหาสุขภาพจิต ทั้งการติดสารเสพติด การติดเกม และภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ โดยเฉพาะการติดเกมมีผลกระทบด้านเศรษฐกิจสูงถึง 30,000 ล้านบาทต่อปี โดยพบว่า เด็ก 1 คน มีค่าใช้จ่ายในการเล่นเกม 1,106 บาทต่อเดือน ขณะที่การติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ หากสามารถป้องกันนักดื่มและนักสูบหน้าใหม่ได้ จะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 20,000-360,000 บาทต่อราย และ 80,000-160,000 บาทต่อราย ตามลำดับ ดังนั้น แนวทางการแก้ปัญหา รัฐบาลต้องกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบปัญหาติดเกมในระดับชาติขึ้น พร้อมนิยามการติดเกมให้ชัดเจน รวมทั้งตั้งคลินิกเฉพาะผู้มีปัญหาการติดเกม

"ปัญหาความรุนแรง เป็นอีกเรื่องที่น่าวิตก เนื่องจากจำนวนคดีทำร้ายร่างกายของเด็กที่ถูกส่งเข้าสถานพินิจมีสูงถึง 4,086 คดีต่อปี ส่วนใหญ่มาจากการใช้สารเสพติด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงควรพัฒนาระบบการเยียวยาเหยื่อความรุนแรง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ควรสนับสนุนสื่อสร้างสรรค์ที่สะท้อนปัญหา และควรมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเหยื่อความรุนแรงระหว่างสถานพยาบาลและหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อให้สามารถแจ้งเตือนเมื่อเกิดกรณีความรุนแรง" ภญ.ปฤษฐพรกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 4 ตุลาคม 2556