ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรุงเทพธุรกิจ - มีแผนเปิดอีก 5-6 แห่งภายในปี 2558 ทุ่มงบซื้อที่ดินแล้วกว่า 2 พันล้าน  กลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รุก ขยายธุรกิจโรงพยาบาลเต็มสูบก่อนเปิดเออีซี มีแผนเปิดเพิ่มอีก 5-6 แห่ง ภายในปี 2558 หวังเจาะทุกตลาดทั้งระดับบน-กลาง-ล่าง เผยทุ่มงบซื้อที่ดินแล้วกว่า 2 พันล้านบาท เตรียมเปิดแบรนด์ใหม่ "การุณยเวช" รับโอนคนไข้ประกันสังคมจากเกษมราษฎร์ และตามหัวเมืองใหญ่

นายเฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) ผู้บริหารกลุ่มโรงพยาบาล (รพ.) เกษมราษฎร์ และ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอลเซ็นเตอร์ ให้สัมภาษณ์กับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่ากลุ่มบีซีเอช มีแผนจะขยายธุรกิจโรงพยาบาลอีก 5-6 แห่ง ภายในปี 2558 หรือเพิ่มเป็น 12-13 แห่งจากปัจจุบันที่มีโรงพยาบาลในเครืออยู่ 7 แห่ง เพื่อเจาะตลาดทุกระดับ ซึ่งปีนี้ได้มีการใช้งบลงทุนซื้อที่ดินไว้แล้วประมาณ 2 พันล้านบาท

"การขยายโรงพยาบาลครั้งนี้ เพื่อรองรับการขยายตัวของการใช้บริการทางแพทย์ที่ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศและ ต่างประเทศ โดยเฉพาะคนไข้ต่างประเทศที่มีแนวโน้มจะเข้ามามากขึ้น หากมีการเปิดประชาคมเขตเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)"เปิดแบรนด์ใหม่เจาะคนไข้ประกันสังคม

ทั้งนี้ กลุ่มบีซีเอช จะมีการเปิดแบรนด์ใหม่ คือ การุณยเวช สำหรับรองรับคนไข้ประกันสังคม และระดับล่าง โดยมีแผนจะเปิดโรงพยาบาลภายใต้แบรนด์นี้ 4 แห่งในปลายปีหน้า จะมีทั้งการเปิดใหม่ และเจรจาซื้อกิจการโรงพยาบาลขนาดกลางและ ขนาดเล็ก 3 แห่ง อีกหนึ่งแห่งจะใช้นำโรงพยาบาล ในเครือมาเปลี่ยนแบรนด์ โดยการุณยเวชนี้จะรับโอนคนไข้ประกันสังคมออกจากโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 6 แสนคน และไปตั้งตามเมืองใหญ่ที่มีผู้ใช้สิทธิประกันสังคมจำนวนมาก คาดว่าจะทำให้กลุ่มบีซีเอช สามารถรับคนไข้ประกันสังคมได้ถึง  1 ล้านคน

เขากล่าวว่า ในส่วนของคนไข้ระดับบนและคนไข้ต่างชาตินั้น จะใช้เวิลด์เมดิคอลเซ็นเตอร์ (WMC) ที่แจ้งวัฒนะรองรับ ซึ่งขณะนี้ถือว่าผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้า หากส่วนนี้เริ่มมีกำไร ก็จะเริ่มวางแผนก่อสร้างเวิลด์ เมดิคอลเซ็นเตอร์แห่งที่ 2 ในพัทยาในช่วงต้นปี 2558 ซึ่งได้มีการซื้อที่ดินไว้เรียบร้อยแล้ว พม่าเข้ามาใช้บริการ รพ.ในไทยสูงสุด นอกจากนี้จะมีการลงทุนขยายโรงพยาบาลในจังหวัดเชียงราย และสร้างโรงพยาบาลในจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อรองรับคนไข้ชาวพม่า ที่มีแนวโน้มเข้ามารับบริการในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันพบว่าคนไข้ต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลระดับบนมากที่สุด เป็นชาวพม่า จากเดิมเป็นชาวยุโรป แสดงให้เห็นว่าพม่ามีกำลังซื้อสูง และมีจำนวนประชากรจำนวนมากถึง 60 ล้านคน ใกล้เคียงกับไทย

"แม้พม่าจะถือว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง แต่บริษัทไม่ไปลงทุนตั้งโรงพยาบาลในพม่า หรือออกไปลงทุนในต่างประเทศ แต่จะเน้นการขยายในประเทศก่อน เพราะการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในเออีซี ควรจะรอให้กฎระเบียบต่างๆ ชัดเจนกว่านี้ ซึ่งมองว่าจะชัดเจนได้ก็ต่อเมื่อมีการเปิดเออีซีไปแล้วอย่างน้อย 1 ปี" จับมือ10ประเทศสร้างเครือข่ายรักษาพยาบาล

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทจะไม่ได้ออกไปลงทุนต่างประเทศ แต่ในการเตรียมความพร้อมรับมือเออีซีนั้น จะร่วมกับพันธมิตรทั้ง 10 ประเทศ ร่วมมือเป็นเครือข่ายการรักษาพยาบาล ในรูปแบบอินเตอร์เนชั่นแนล เน็ตเวิร์คกิ้ง สามารถส่งต่อคนไข้ให้กัน หรือ ลูกค้าเราที่เดินทางไปต่างประเทศ ก็สามารถไปรักษาที่โรงพยาบาลที่เป็นเครือข่ายได้เป็นต้น โดยในพม่านั้นก็มีโรงพยาบาลที่เป็นพันธมิตรในการส่งคนไข้มารักษาที่โรงพยาบาลในกลุ่มบีซีเอช

เขากล่าวต่อว่า สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยปกติการเติบโตของรายได้ไม่เคยต่ำกว่าในระดับ 10% แต่ในส่วนของกำไรสุทธิในปีนี้อาจจะได้รับผลกระทบจากในช่วงไตรมาส 2 ที่ออกมาไม่ดี เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการเปิดเวิลด์เมดิคอลเซ็นเตอร์ ทำให้ต้องรับรู้ต้นทุน และค่าเสื่อมราคาเข้ามาด้วย อย่างไรก็ตามผลงานในช่วงไตรมาส 3 ก็เริ่มกลับมาเข้าสู่ภาวะปกติ โบรกคาดปีหน้าโตสูงสุดในกลุ่ม

บล.ฟินันเซียไซรัส ประเมินว่าไตรมาส 3/56 บีซีเอช มีกำไรสุทธิ 153 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.3% จากไตรมาสก่อนหน้า แต่ลดลง 35.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากแรงกดดันของโรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอลเซ็นเตอร์ ที่ยังมีต้นทุนสูง และรายได้ยังไม่เข้าเป้า แต่รายได้จากการให้บริการของบีซีเอช จะเติบโตต่อเนื่องประมาณ 13.6% จากปีก่อนหน้า จากกลุ่มผู้ป่วยเงินสดที่เติบโตในระดับที่ดี ขณะที่กลุ่มประกันสังคมโตแรงจากฐานที่ต่ำ

ทั้งนี้ เชื่อว่าผลงานในไตรมาส 4/56 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 1 ปีหน้าจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าหากเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อนจะปรับลดลง แต่การขาดทุนของเวิลด์เมดิคอลเซ็นเตอร์ที่เพิ่งจะเปิดดำเนินงานในช่วงปลายไตรมาส 1 ปีนี้จะลดลงเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามได้ปรับประมาณการกำไรสุทธิปีนี้และ ปีหน้าลงอีก 8.9% และ 11.7% ตามลำดับ จากภาระต้นทุนที่ยังสูงกว่าคาด โดยมองกำไรทั้งปีปีนี้ที่ระดับ 606 ล้านบาท ลดลง 33.3% ส่วนปี 2557 คาดมีกำไร 720 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.8% เติบโตสูงกว่ากลุ่มมีการเติบโตเฉลี่ย 14%

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 28 ตุลาคม 2556