ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นอกจากช่วยให้ลูกเติบโตขึ้นมาอย่างมีไอคิวและอีคิวแล้ว ยังช่วยแต่ละครอบครัวประหยัดค่าใช้จ่าย และช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศชาติดีขึ้น นพ.ภูษิต ประคองสาย ผอ. สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า ปัจจุบันสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลความเกี่ยวข้องของประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้รับจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทย เพื่อเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ให้ผู้กำหนดนโยบายและผู้เกี่ยวข้อง คาดว่าผลการวิจัยจะดำเนินการเสร็จในต้นปีพ.ศ. 2557 โดยผลการวิจัยจะช่วยให้เกิดความชัดเจนระดับมหภาค ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดทิศทางเชิงนโยบายในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปในอนาคต

"จากการจัดเก็บข้อมูลในกลุ่มหญิงหลังคลอดจำนวน 830 รายใน 5 จังหวัด พบว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเป็นเวลา 6 เดือน ช่วยให้ครัวเรือนประหยัดค่าใช้จ่าย 6,616.24 บาท หรือประมาณ 1,100 บาทต่อเดือน และเมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายในภาพรวมของประเทศ ซึ่งตัวเลขล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2555 ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ 7.6 แสนคนต่อปี มีร้อยละ 71 ของเด็กทารกเกิดใหม่ได้รับนมแม่อย่างเดียวเป็นเวลา 3 เดือน และ ร้อยละ 38 ของทารกได้รับนมแม่อย่างเดียวจนถึง 6 เดือน ซึ่งเท่ากับว่าครัวเรือนไทยสามารถประหยัดรายจ่ายได้มากกว่า 1.8  พันล้านบาทต่อปี หากมีการสนับสนุนให้เด็กทุกคน ยกเว้นมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีได้รับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวครบ 6 เดือน" นพ.ภูษิต ระบุ

นอกจากนี้การศึกษาดังกล่าวยังพบข้อสังเกตว่า แม้หญิงไทยหลังคลอดส่วนใหญ่เห็นความสำคัญและประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และมี พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2521 ที่กำหนดสิทธิการลาคลอดไว้ถึง 90 วัน แต่ในทางปฏิบัติแล้วมารดาใช้สิทธิลาคลอดน้อยกว่าระยะเวลาดังกล่าว เนื่องจากเหตุผลทางเศรษฐกิจและความจำเป็นด้านการทำงาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยผลักภาระให้แม่และครอบครัวเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งที่ประโยชน์จากการกินนมแม่ไม่ได้เกิดเฉพาะกับเด็กและครอบครัว แต่สังคมและประเทศชาติได้รับประโยชน์จากการมีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ รวมถึงยังช่วยลดภาระทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ และรายจ่ายของครัวเรือนที่ลดลงจากการที่เด็กได้รับนมแม่อีกด้วย

ดังนั้นทุกภาคส่วนในสังคมไทยทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมควรร่วมสนับสนุนให้เกิดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเหมาะสม ผ่านการส่งเสริมมุมนมแม่ในสถานที่ทำงาน ให้แม่ทำงานสามารถเก็บน้ำนมกลับไปให้ลูกที่บ้านได้ รวมถึงการขยายระยะ เวลาลาคลอดจาก 90 วันเป็น 180 วัน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของประเทศสหรัฐ อเมริกา เมื่อปี พ.ศ.2554 ที่พบว่า การเลี้ยงลูกด้วยนม แม่ช่วยให้ประเทศสหรัฐประหยัดงบประมาณด้านสาธารณสุขที่ต้องใช้เพื่อการรักษาอาการเจ็บป่วยของเด็กในแต่ละปีได้ถึง 1.1 แสนล้านบาท ลดความสูญเสียจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของเด็กที่คิดเป็นมูลค่ากว่า 30.3 พันล้านบาท ลดค่าใช้จ่ายเพื่อการซื้อนมผง 1.17 แสนล้านบาท รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านอาหารเสริมสำหรับแม่หลังคลอด 4.8-6.3 หมื่นล้านบาท ที่สำคัญยังช่วยแก้ปัญหาโรคอ้วนในเด็กซึ่งจะส่งผลไปจนโต ซึ่งในปัจจุบันสหรัฐใช้งบประมาณเพื่อดูแลพลเมือง ที่เจ็บป่วยจากโรคอ้วนสูงถึง 4.4 ล้านล้านบาทต่อปี ขณะที่ประเทศออสเตรเลียพบ ว่า เมื่อมีการรณรงค์ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น ทำให้ประเทศประหยัดค่าใช้จ่ายประมาณ 6.6 หมื่นล้านบาท และในประเทศอังกฤษทารกที่กินนมผสมอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากกว่าทารกที่กินนมแม่ เนื่องจากทารกที่กินนมผสมต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลมากกว่าทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 3 เดือน ถึง 2 เท่า

"ข้อมูลของสหรัฐแสดงให้เห็นว่า การกินนมแม่ทำให้เด็กเจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้ลดลง เช่น การติดเชื้อทางเดินหายใจ ภาวะน้ำหนักเกิน และแม่เองก็มีสุขภาพที่ดีกว่าด้วย ดังนั้นการกินนมแม่ นอกจากช่วยสร้างภูมิคุ้มกันทำให้เด็กมีสุขภาพดี มีการเจ็บป่วยน้อยลงซึ่งจะส่งผลจนถึงวัยผู้ใหญ่แล้ว ยังทำให้เด็กเติบโตมีไอคิวและอีคิวสูง ประเทศชาติจะได้ประโยชน์จากการมีประชากรที่มีสติปัญญาดี และสุขภาพแข็งแรง" นพ.ภูษิตกล่าวสรุป