ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เพื่อเป็นการสร้างพยาบาลวิชาชีพชั้นสูง ให้สอดคล้องกับความต้องการในอนาคตข้างหน้า จึงทำให้โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นำเอานวัตกรรมด้านการศึกษาแบบ Hybrid Education Model มาใช้ในหลักสูตรแบบบูรณาการให้กับนักศึกษาพยาบาลนานาชาติปริญญาโท โดยตั้งเป้าให้โรงเรียนก้าวเข้าสู่ Education Hub ด้านการพยาบาลในอาเซียน

เบื้องต้น "ผศ.ดร.จริยา วิทยะศุภร" ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การเปิดเสรีอาเซียน ถือเป็นความท้าทายของระบบสาธารณสุขไทยในการสร้างความสมดุลระหว่างความต้องการใช้พยาบาล และจำนวนพยาบาลผู้ให้บริการ ทั้งนั้น ในฐานะสถาบันการศึกษาด้านการพยาบาลพยายามเพิ่มการผลิตพยาบาลวิชาชีพให้ตอบสนองต่อความต้องการ ทั้งในปัจจุบันที่มีปัญหาการขาดแคลน และคาดว่าในอนาคตจะเพิ่มสูงขึ้น

"การเตรียมตัวเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ทางโรงเรียนมีการปรับหลักสูตร และการสร้างบรรยากาศ การเรียนรู้ให้มีความเป็นสากลมากขึ้น เพื่อให้ นักเรียนสามารถแข่งขันกับพยาบาล ในประเทศใกล้เคียง อาทิ การเรียนการสอน ด้วยหลักสูตร 2 ภาษา การมีนักเรียนแลกเปลี่ยน ที่สำคัญมีการนำเอานวัตกรรมการศึกษา Hybrid Education Model มาใช้การจัดการเรียนการสอน"

สำหรับนวัตกรรมการศึกษา Hybrid Education Model เป็นนวัตกรรมการจัด การเรียนการสอนที่นำมาใช้ในหลักสูตรปริญญาโทนานาชาติ ซึ่ง "ผศ.ดร.จริยา" กล่าวเพิ่มเติมว่า นับว่าเป็นครั้งแรกของอาเซียนในการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรพยาบาลและบูรณาการด้วยนวัตกรรมดังกล่าว ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์และการเรียนในระดับปกติ

"Hybrid Education Model ประกอบด้วยการเรียนแบบ Face-to-face (Online Class) เป็นการเรียนผ่านแบบ Traditional เรียนสด สอนสด อาจารย์และนักศึกษาสามารถโต้ตอบกันได้แบบสด ๆ ในห้องเรียน รวมถึงการเรียนแบบ Web-based (Online Class) คือการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ มีทั้งการเรียนแบบ Teleconference และเรียนผ่านระบบซอฟต์แวร์ ซึ่งมีข้อเด่น อยู่ที่ว่า ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนเวลาใด และเรียนที่ไหนก็ได้ (Anytime-Anywhere)

ทั้งนี้ "ผศ.ดร.จริยา" กล่าวอีกว่า เพื่อเป็น การต่อยอดองค์ความรู้ และฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์ นักเรียนพยาบาลจะสามารถ พัฒนาองค์ความรู้ในมิติต่าง ๆ ที่กว้างขวางขึ้น ด้วยการทำงานวิจัยในประเด็นและพื้นที่ตัวเองสนใจ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการพัฒนา องค์ความรู้ด้านการพยาบาลในพื้นที่ทำงาน หรือประเทศที่ตัวเองสนใจ โดยสามารถเรียน และรับคำปรึกษาในการทำวิจัยจากอาจารย์ ผ่านระบบดังกล่าวรวมถึงการประสานงาน กับสถานพยาบาลในพื้นที่ของนักเรียน เพื่อให้ช่วยกำกับดูแลในอีกทางหนึ่ง

"ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการรองรับนักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เราจึง ยกระดับมาตรฐานการเรียนการสอนให้สู่ระดับสากล เพราะหลักสูตรพยาบาลด้วยนวัตกรรมจะเปิดในปีการศึกษา 2557 รวมถึงการเปิดตัวหลักสูตรใหม่ระดับปริญญาโทนานาชาติด้วย"

"นอกจากการพัฒนาบัณฑิตด้านการพยาบาลในระดับปริญญา และการพัฒนาบุคลากรในวิชาชีพด้วยการเรียนต่อในระดับปริญญาโทและเอก เรายังให้ความสำคัญกับการยกระดับความรู้ในวิชาชีพผ่านองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง"

"รวมถึงการมีศูนย์ฝึกอบรม (Training Center) ที่จัดการฝึกอบรมเพิ่มทักษะและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่เพื่อยกระดับการให้บริการด้านสุขภาพ ที่สำคัญองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นเป็นต้นแบบให้กับการบริการสุขภาพในประเทศไทย อาทิ ระบบที่พยาบาลสามารถดูแลผู้ป่วยซับซ้อน (Advance Nurse Practice) ระบบพยาบาลเจ้าของไข้ ที่ช่วยสนันสนุนการรักษาพยาบาลผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพขึ้น  (Primary Nursing)"

นอกจากนั้น "ผศ.ดร.จริยา" ยังมองว่า หากมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เชื่อว่าพยาบาลประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคได้ โดยเฉพาะระดับบัณฑิตศึกษา เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ส่วนในระดับปริญญาตรีนั้น ผลิตเพื่อตอบสนอง ต่อความต้องการภายในประเทศเป็นสำคัญ

"หากมองหลักสูตรพยาบาลระดับปริญญาตรีทั้งประเทศ แต่ละปีสามารถผลิตบัณฑิตได้ปีละประมาณ 8,000 คน จาก 82 สถาบันการศึกษา ตอนนี้เรามีพยาบาลอยู่ประมาณ 150,000 คน แต่ปฏิบัติงานอยู่ในสายงานจริงเพียง 130,000 คน เมื่อเทียบสัดส่วนของพยาบาลต่อคนไข้อยู่ในอัตรา 1 ต่อ 500 ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วจะอยู่ในอัตราส่วน 1 ต่อ 200 ซึ่งถือว่าไม่เพียงต่อความต้องการ"

"จึงทำให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษา สร้างผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ด้านการแพทย์การพยาบาล เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมสร้างคุณภาพที่ดีของพยาบาล ซึ่งจะตอบสนองต่อความต้องการพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ

"เพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับองค์ความรู้ทางด้านวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญ เฉพาะด้านของพยาบาล ค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตรไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่แตกต่าง กับหลักสูตรบัณฑิตศึกษาจากสถาบันอื่น ๆ อีกทั้งเมื่อนักเรียนจบหลักสูตรนี้แล้ว นอกจากทำงานในสายวิชาชีพ ยังสามารถต่อยอดองค์ความรู้เพื่อเป็นนักวิชาการ อาจารย์ ผู้สอนด้านการบริการ และผู้เชี่ยวชาญด้านพยาบาลขั้นสูง Advance Practice Nurse (APN) ด้วย โดยหลักสูตรนี้ตั้งเป้าผลิตบัณฑิตในรุ่นแรกจำนวน 20 คน"

อย่างไรก็ตาม "ผศ.ดร.จริยา" กล่าวต่อว่า ในการพัฒนาขีดความสามารถของพยาบาลวิชาชีพ และมุ่งมั่นที่จะส่งต่อองค์ความรู้ต่าง ๆ ไปยังพยาบาลวิชาชีพทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยที่โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีตั้งเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการเรียน (Education Hub) ด้านการพยาบาลในอาเซียน

จึงสะท้อนให้เห็นว่ามีการปรับตัวของสถาบันการศึกษาด้านการพยาบาลในการพัฒนาตัวเองตลอดเวลา เพื่อให้สอดรับการเปลี่ยนแปลง ด้วยการนำนวัตกรรมทางด้านการศึกษาสมัยใหม่มาใช้เป็นเครื่องมือในการผลิตบัณฑิต เพื่อตอบสนองต่อความต้องการและการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 11 - 13 พ.ย. 2556