ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -นโยบาย “ยาเก่าแลกไข่”ของกระทรวงสาธารณสุข  เมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา สะท้อนปัญหาการใช้ยาอย่างชัดเจน เนื่องจากครั้งนั้นกระทรวงสาธารณสุข สามารถนำยาที่ประชาชนนำมาแลกไข่ได้กว่า 37 ล้านเม็ด แสดงให้เห็นว่าในครัวเรือน หรือในชุมชนมีการใช้ยาไม่สมเหตุสมผลอยู่มาก และที่น่ากลัวประชาชนอาจได้รับความเสี่ยงจากการใช้ยาเช่นนี้

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.)ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันการใช้ยาในชุมชนยังเป็นปัญหา เนื่องจากพบการใช้ยามากเกินความจำเป็น และเสี่ยงผลกระทบต่อร่างกาย เพราะหลายชนิดเป็นยาที่ไม่มีเลขทะเบียน อาจเพราะระบบการควบคุมอ่อนแอ อย่างบริษัทผลิตยาจำนวน 100 เม็ด แต่กลับมาแจ้งขึ้นทะเบียนเพียง 20 เม็ด ส่วนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนก็หลุดไปตามชุมชนต่างๆ ซึ่งกลุ่มนี้ไม่มีการสุ่มตรวจว่ามีคุณภาพ ได้มาตรฐานหรือไม่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ก็ไม่ตรวจตราเข้มงวด

นอกจากนี้ ยังมียาอันตรายอย่าง ยาสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นยาที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายมาก แต่ในชุมชนหลายแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดยังมีการหลงเชื่อ และนิยมใช้ เนื่องจากมีการจำหน่ายในร้านขายยาที่ไม่มีใบอนุญาต อย่างร้านขายของชำ แต่ขายยาไปในตัว หรือแม้กระทั่งรถเร่ขายของต่างๆ ก็มีขายยาอีก ซึ่งอันตรายมาก โดยเฉพาะยาสเตียรอยด์ ในระยะยาวกินเข้าไปจะทำให้กระดูกผุง่าย แตกหักง่าย เป็นแผลรักษาไม่หายเสี่ยงเป็นโรคกระเพาะอาหาร ติดเชื้อง่าย เป็นต้น

“จากปัญหาดังกล่าวเคยเข้าไปหารือกับทางกระทรวงสาธารณสุข แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับอย่างชัดเจนว่า จะจัดการปัญหาเรื่องการใช้ยาในชุมชนอย่างไร อย่างยาสเตียรอยด์ มีอันตรายมาก และยังมีการจำหน่ายเป็นยาชุด แต่ก็ไม่มีระบบตรวจสอบที่ดี จริงๆ อย.เป็นหน่วยงานกลาง ผู้กำหนดนโยบายจะต้องมีความเข้มงวดในเรื่องนี้ แม้จะไม่มีเจ้าหน้าที่เพียงพอในการลงตรวจแต่ละพื้นที่ ยิ่งในพื้นที่ต่างจังหวัดแล้ว แต่ก็สามารถเชื่อมโยงกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ได้ หากมีการควบคุมดี ทุกอย่างก็จะดีขึ้น รวมไปถึงการให้ความรู้กับประชาชนในลักษณะPrimary Care ว่าการใช้ยาอย่างเหมาะสมเป็นอย่างไร โดยต้องจัดเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญจริงๆ” ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าว

จริงๆปัญหาการใช้ยาไม่ใช่เจอแค่ในไทย ในสหรัฐอเมริกา แม้ได้ชื่อว่ามีระบบประเมินยาที่ดีที่สุด แต่กลับยังมียาที่เรียกกันว่า ยารุ่นคุณปู่ เรื่องนี้ ผศ.ภญ.ดร.นิยดา ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการออกกฎหมายที่กำหนดให้ยาทุกตัวต้องผ่านการขึ้นทะเบียนตำรับยา หรือผ่านการรับรอง ยกเว้น 4 กลุ่ม คือ ยากลุ่ม DESI pending ยาสามัญประจำบ้าน ยา GRASE drugs และยารุ่นคุณปู่ ซึ่งกลายเป็นช่องโหว่ อย่างยารุ่นคุณปู่ จะแบ่งเป็นยาที่ขึ้นทะเบียนก่อนวันที่ 25 มิถุนายน 1938 ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสูตร ขนาด ความแรง ข้อบ่งใช้ ฯลฯ และอีกกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนก่อนวันที่ 10 ตุลาคม 1962 โดยเป็นกลุ่มที่ไม่ต้องผ่านการรับรองขึ้นทะเบียนยา จากปัญหาตรงนี้ทำให้ยาเหล่านี้ยังอยู่ในท้องตลาด

ซึ่งประเด็นนี้ใกล้เคียงกับของไทย เนื่องจากประเทศไทยมีกฎหมายที่เรียกว่า พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ที่มีการแก้ไขต่อมาอีก 4 ครั้ง คือ พ.ศ.2518, 2522, 2527 และ 2530 ตามลำดับ ในการแก้ไขพ.ร.บ.ยาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตำรับยามีการแก้ไขเมื่อปี 2522 โดยที่ยาที่เคยอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนตำรับกำหนดให้ต้องมีการต่อทะเบียนตำรับยาทุก 5 ปี แต่การแก้ไขในพ.ร.บ.ยา พ.ศ.2522 กำหนดให้ตำรับยาที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วเป็น “ทะเบียนยาตลอดชีพ” ไม่ต้องมาต่อทะเบียนอีก นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มเติมจากเดิมมาตรา 86 ในเรื่องการสั่งถอนหรือแก้ไขทะเบียน โดยกฎหมายระบุชัดว่า จะถอนได้ต้องไม่ปลอดภัยในการใช้ เป็นยาปลอม หรือไม่มีสรรพคุณตามที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ หรือมีการเปลี่ยนไปเป็นวัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้เป็นอาหาร หรือเครื่องสำอาง แต่ไม่มีการตรากฎหมายว่าด้วยนโยบาย และระบบการทบทวนทะเบียนตำรับยา จึงยังพบยาที่มีการขึ้นทะเบียนตำรับยาตั้งแต่ปี 2526 ซึ่งเป็นการต่อทะเบียนครั้งสุดท้ายก่อนที่จะเป็นทะเบียนตำรับยาตลอดชีวิต และเชื่อกันว่าการต่อทะเบียนครั้งนั้น ไม่ได้มีการทบทวนทะเบียนตำรับ หรือแก้ไขใดๆ

ปัญหาดังกล่าว อย.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการทบทวนทะเบียนตำรับยาภายใต้คณะกรรมการยา ตั้งแต่ปี 2535 มีวิธีการทบทวนหลากหลายวิธี และแม้ อย.มีความพยายามในการพัฒนาผ่านการศึกษาวิจัยเพื่อให้กระบวนการทบทวนทะเบียนตำรับยา ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่กลับไม่มีทั้งนโยบายที่ชัดเจน และมาตรการจัดการตามกฎหมายต่อทะเบียนตำรับยาที่ผ่านการทบทวนเหล่านี้อย่างเป็นระบบเดียว

ภก.ภาณุโชติ ทองยัง

ด้าน ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ชมรมเภสัชชนบท ได้ทำการศึกษาและตีพิมพ์ในจดหมายข่าวศูนย์ข้อมูลเฝ้าระวังระบบยา “ยาวิพากษ์”  ฉบับที่ 17 ของเมษายน-มิถุนายน 2556 พบว่าได้มีการสุ่มเก็บข้อมูลทั่วประเทศเมื่อปี 2553 พบยาอันตรายหลายรายการที่เหลือใช้อยู่ตามบ้านเรือน เช่น ยา Amoxycillin  ยา Tetracycline  และยากลุ่ม NSAIDs  นอกจากนี้ ยังพบยาที่มีความเสี่ยงในทุกครัวเรือน ได้แก่ ยาแผนโบราณที่ไม่มีทะเบียนต่างๆ แต่มีการบรรยายสรรพคุณโอ้อวดเกินจริง เช่น ลดความอ้วน เบาหวาน ไขมัน รวมไปถึงยังมียาลูกกลอน ที่ทดสอบแล้วพบสารสเตียรอยด์ ยาชุดหลายรายการ

นอกจากนี้ ยังมีรถเร่ฉายหนังขายยาสมุนไพรหลายรูปแบบ เช่น ยาน้ำที่มีทะเบียน แต่ตรวจพบว่า มีสารสเตียรอยด์ผสมอยู่ในขวด หรือยาลูกกลอน รากไม้ รักษาเบาหวาน ความดัน  ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นระบบการจัดการยาที่ไม่เหมาะสม ทั้งการเข้าถึงยาฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น พฤติกรรมการใช้ยาผิดๆ การควบคุมกำกับที่ยังมีประสิทธิภาพไม่ดีพอ  ที่ผ่านมาชมรมเภสัชชนบท ได้ขยายเครือข่ายสมาชิก จากเดิมมีแต่เภสัชกรโรงพยาบาลชุมชนเพิ่มเป็นหลายสาขา ทั้งจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ตลอดจนเภสัชกรที่ทำงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยเน้นเป้าหมายร่วมกัน มุ่งทำงานในชุมชนที่ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม ให้พวกเขาได้ตระหนักถึงการใช้ยา และนำประสบการณ์ ผลกระทบที่เกิดจากการใช้ยาไม่เหมาะสมมาชูเป็นตัวอย่างที่พึงระวัง เพื่อให้ชาวบ้านได้เห็นจริง

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลทั้งหมด  สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาการใช้ยายังคงพบแทบทุกครัวเรือน เรื่องนี้หากไม่ร่วมมือกัน นอกจากประชาชนจะเสี่ยงรับอันตรายจากการใช้ยาไม่เหมาะสมแล้ว ภาระในการรักษาโรคก็จะเพิ่มขึ้นทั้งตัวประชาชน และรัฐบาล