ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โพสต์ทูเดย์ - มีคำถามว่า โรงพยาบาลบ้านแพ้วเติบโตและขยายสาขาอย่างก้าวกระโดดเช่นนั้นได้อย่างไร

คำตอบก็คือเพราะการออกนอกระบบ จึงทำให้ "การรื้อปรับระบบ" (Reengineering)สามารถเกิดขึ้นได้ เริ่มจากปรัชญาในการบริหาร5 ประการ ได้แก่ 1) การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของประชาชนในการกำกับดูแล 2) การมุ่งตอบสนองความต้องการของชุมชน 3) การมุ่งสร้างความเสมอภาคของการกระจายบริการ4) การมุ่งยกระดับคุณภาพบริการ โดยมิได้มุ่งแสวงหากำไร และ 5) มุ่งเน้นประสิทธิภาพของการบริหารทรัพยากร

คณะผู้บริหารของโรงพยาบาลบ้านแพ้วสามารถเข้าถึงหัวใจแห่งเจตนารมณ์ของการกระจายอำนาจและหลักธรรมาภิบาล หรือหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยแท้พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งโรงพยาบาลบ้านแพ้วเป็นองค์กรมหาชน กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารจำนวน 11 คน มีผู้แทนชุมชน 3 คน ซึ่งเสนอโดยสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่และองค์กรประชาชนในท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิ3 คน ซึ่งอย่างน้อย 1 คน ต้องไม่เป็นข้าราชการ ทำให้ผู้บริหารและโรงพยาบาลจะต้องยึดประโยชน์และความต้องการของชุมชนเป็นหลัก แทนที่จะต้องเข้าไปคอยเอาใจผู้มีอำนาจในส่วนกลาง

ระบบราชการที่กำหนดให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขต้องขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุข แม้จะมีการ "กระจายอำนาจ" ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่โรงพยาบาลต่างๆ ก็ยังต้องขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุขอยู่นั่นเองโรงพยาบาลในส่วนภูมิภาคยังมีสภาพเป็นเสมือน "เมืองขึ้น" ของผู้บริหารในกระทรวงสาธารณสุข แต่การออกไปเป็น "องค์กรมหาชน" ของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ทำให้โรงพยาบาลสามารถทำหน้าที่เป็น"โรงพยาบาลชุมชน" ที่แท้จริง

หลังจากดำเนินการมาได้ 10 ปี สวรส.ได้ทำการประเมินโรงพยาบาลบ้านแพ้วอย่างรอบด้านผลปรากฏว่าโรงพยาบาลประสบความสำเร็จในทุกด้าน

ประการแรก การขยายบริการออกไปมากมายสามารถตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายของประชาชนได้อย่างดีน่าแปลกที่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำจำนวนมาก มองการขยายบริการออกไปนอกเขต อ.บ้านแพ้ว ว่าเป็นการ"ล่วงล้ำ" เขตพื้นที่ของโรงพยาบาลอื่นไม่มองว่านโยบายการจำกัดกำลังคนภาครัฐ ทำให้บริการโดยรวมของโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถขยายตัวรองรับความต้องการของประชาชนได้อย่างพอเพียงโรงพยาบาลจำนวนมาก คนไข้แน่น-ล้น และมีสภาพเหมือนตลาดสด ไม่เป็นสถานที่"สัปปายะ" สมกับที่เป็น "โรงพยาบาล" อันควรเป็นที่พึ่งยามทุกข์ยากของประชาชนเลย

ประการที่สอง ในด้านความพึงพอใจของผู้รับบริการก็พบความพึงพอใจอยู่ในเกณฑ์สูงดังคำกล่าวของ อสม. จากบ้านทำนบแพ้วที่บอกว่า "เขาเต็มใจทำให้เราเต็มที่ตอนนั้นผมพาแม่ไปโรงพยาบาลบ้านแพ้วเขาวินิจฉัยโรคไม่ได้เขาก็ส่งไปที่เกษมราษฎร์ ไปถึงเขาก็วินิจฉัยไม่ได้อีก เขาก็พาเราไปส่งที่โรงพยาบาลรามาฯ โดยที่เราไม่เสียค่าใช้จ่ายเลย"

ประการที่สาม ด้วยความพึงพอใจของทีมงานและผู้ร่วมงานพบอัตราการลาออกในปี2553 เพียงร้อยละ 0.86 เฉพาะบุคลากรวิชาชีพลาออกเพียงร้อยละ 0.18 ในส่วนบุคลากรที่เป็นปัญหามากที่สุดสำหรับโรงพยาบาลระดับชุมชนคือ แพทย์ แพทย์ท่านหนึ่งบอกว่า "ถ้าเทียบที่นี่กับเอกชน ผมว่าที่นี่ก็ได้เยอะอยู่เหมือนกันนะครับ ถือว่าพอใจ ผมคิดว่ามันก็น่าจะใกล้ๆ กัน แต่ถ้าเทียบจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เอกชนจะได้มากกว่าที่นี่ และที่นี่งานก็ออกจะหนักหน่อย แต่มันก็สบายใจในเรื่องของการที่เราไม่ได้เน้นเรื่องผลกำไรอะไรมากมาย แต่เราเน้นที่การดูแลผู้ป่วยเป็นหลักนั่นเป็นจุดดีที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจ"

ในส่วนของ "ผู้ร่วมงาน" คือ สถานีอนามัยซึ่งปัจจุบันเรียกว่าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลก็มีเสียงสะท้อนจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดในทางชื่นชมที่"โรงพยาบาลออกมาอุ้ม (สถานีอนามัย) โรงพยาบาลจัดงบประมาณบางส่วนมาสนับสนุนงานส่งเสริมสุขภาพทั้งอำเภอ"

ประการที่สี่ ทางด้านประสิทธิภาพ ชัดเจนว่าต้นทุนต่อหน่วยในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ต่ำกว่าโรงพยาบาลของรัฐขนาดเดียวกันอย่างชัดเจน ต้นทุนค่าแรงหรือบุคลากรก็ต่ำกว่า เมื่อเทียบกับโรงพยาบาลของรัฐในขนาดเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน

ประการที่ห้า ด้านสถานะการเงิน รายได้ของโรงพยาบาลสูงกว่ารายจ่ายโดยตลอดยกเว้นในปีแรกที่ออกนอกระบบ และเมื่อปี2549 ที่ขยายสาขาเข้าไปในโรงพยาบาลพร้อมมิตร ที่ต้องลงทุนจำนวนมากทั้งค่าเช่าและค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร แต่หลังจากนั้นตัวเลขก็เป็นบวกโดยตลอด

ความสำเร็จของโรงพยาบาลบ้านแพ้วคือความชื่นชมยินดีของผู้ที่ห่วงใยในปัญหาบ้านเมืองอย่างแท้จริง แต่ดูจะเป็น "หนามตำใจ"ของผู้บริหารจำนวนไม่น้อยในกระทรวงสาธารณสุข เพราะต้องตอบคำถามว่า แล้วทำไมไม่ส่งเสริมให้โรงพยาบาลในสังกัดออกนอกระบบเพิ่มขึ้น

โรงพยาบาลบ้านแพ้วเป็นโรงพยาบาลแรกและโรงพยาบาลเดียวที่ออกนอกระบบในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ โดยผู้มีบทบาทสำคัญคือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีน่าเสียดายที่เมื่อมาดำรงตำแหน่งนายกฯอภิสิทธิ์ มิได้สานต่อนโยบายนี้อีก

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ เมื่อครั้งเป็นรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เคยศึกษาและไปเยือนโรงพยาบาลบ้านแพ้ว แล้วกลับมาพูดกับหลายๆคนว่า โรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุขต้องออกไปอย่างบ้านแพ้ว เพราะเป็นคำตอบเดียวที่จะแก้ปัญหาเรื่องประสิทธิภาพคุณภาพ และภาระงบประมาณภาครัฐลงได้ น่าประหลาดใจ ที่เมื่อขึ้นมาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขนพ.ณรงค์ ไม่ได้ผลักดันในเรื่องนี้อีก

มี "เสียงลือเสียงเล่าอ้าง" ว่า นพ.ณรงค์ไม่ทำเรื่องนี้เพราะรัฐมนตรีประดิษฐ์ "ไม่เอา"ไม่ทราบว่าจริงหรือไม่ แต่เรื่องนี้รัฐมนตรีคงไม่ต้องตอบ เพราะแม้จะตอบก็ไม่รู้ว่าจะเชื่อถือได้หรือไม่

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 26 พฤศจิกายน 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง