ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เซ็นเอ็มโอยูร่วม สพฐ.และมูลนิธิไม่สูบบุหรี่ เดินหน้า 9 มาตรการให้ ร.ร.เป็นเขตปลอดบุหรี่ ก่อนขยายผลไปยัง ร.ร.มัธยมศึกษาตอนปลายสังกัด สพฐ.469 แห่งทั่วประเทศ หวังลดเยาวชนสูบบุหรี่ หลังพบอายุเฉลี่ยน้อยลงเรื่อยๆ


       

วันที่ 28 พ.ย. ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับ เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ จากการสนับสนุนของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินการโรงเรียนปลอดบุหรี่ของทั้ง 3 หน่วยงาน เพื่อนำบทเรียนการดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ ขยายผลไปยังโรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสังกัด สพฐ.รวม 469 แห่งทั่วประเทศ
       
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า จากรายงานองค์การอนามัยโลกล่าสุด พบว่า บุหรี่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคและประชากรทั่วโลกเสียชีวิต ปีละกว่า 6 ล้านคน หรือเฉลี่ยนาทีละประมาณ 11 คน ส่วนประเทศไทยมีรายงาน เสียชีวิต ปีละมากกว่า 50,000 คน เฉลี่ย 1 คนในทุกๆ 10 นาที โดยอันดับ 1 คือ โรคถุงลมปอด โป่งพอง มะเร็งปอด และโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2554 พบว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ 11.5 ล้านคน หรือร้อยละ 21.4 ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดบุหรี่ สูบเป็นประจำ 9.9 ล้านคนผู้ชายมีอัตราสูบบุหรี่มากกว่าผู้หญิง 20 เท่าตัว ประการสำคัญยังพบว่า เยาวชนไทย (อายุ 15-24 ปี) เริ่มสูบบุหรี่เร็วขึ้น จากในปี 2550 เริ่มสูบอายุเฉลี่ย 16.8 ปี แต่ในปี 2554 เริ่มสูบอายุเฉลี่ย 16.2 ปี
       
นพ.นพพร กล่าวต่อว่า คร.ร่วมกับ สพฐ.และมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้ร่วมลงนามดำเนินการโรงเรียนปลอดบุหรี่ เพื่อให้สอดคล้องกับพระะราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2553 ซึ่งกำหนดให้โรงเรียนเป็นเขตปลอดบุหรี่ 100% ตามกฎหมาย และสนับสนุนการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ โดยเพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินงานควบคุมยาสูบในโรงเรียนให้มากขึ้น ป้องกันมิให้เกิดผู้บริโภคยาสูบรายใหม่ มุ่งหวังคุ้มครองสุขภาพของเยาวชน และบุคลากรในโรงเรียน โดยกลวิธี เฝ้าระวังมิให้มีการสูบบุหรี่ในบริเวณโรงเรียน การบูรณาการความรู้เรื่องพิษภัยของบุหรี่ สนับสนุนและช่วยเหลือนักเรียนรวมทั้งบุคลากรในโรงเรียนที่ต้องการเลิกบุหรี่ ส่งเสริมให้นักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนได้มีส่วนร่วม เป็นต้น
       
นางสุวิมล จันทร์เปรมปรุง หัวหน้าคณะทำงานเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ กล่าวว่า จากผลการสำรวจของสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2554 พบว่า เยาวชนที่เริ่มสูบบุหรี่เป็นประจำอายุเฉลี่ยที่น้อยลง คือ จาก 18.5 ปี เป็น 17.4 ปี หรือประมาณชั้น ม.5 ดังนั้น เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ จึงได้คิดค้นรูปแบบการดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ เพื่อเร่งป้องกันเด็กและเยาวชนจากการสูบบุหรี่ในช่วงอายุดังกล่าว โดยกำหนดมาตรการ 9 ด้าน ของการดำเนินงานเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ และได้นำมาตรการนี้ไปดำเนินการในโรงเรียน 5 จังหวัดพื้นที่นำร่อง ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี สงขลา และกรุงเทพมหานคร และได้สรุปบทเรียนจากการดำเนินงานของโรงเรียน 285 แห่งที่เข้าร่วมโครงการออกมาเป็นชุดบทเรียนการดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ เพื่อให้โรงเรียนและหน่วยงานที่สนใจได้นำไปประยุกต์ใช้
       
นางสุวิมล กล่าวด้วยว่า มาตรการ 9 ด้าน เพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ ได้แก่ 1.ตั้งคณะทำงานเพื่อรับผิดชอบการดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ 2.ผู้บริหารสถานศึกษาประกาศนโยบายโรงเรียนปลอดบุหรี่ 3.ติดป้ายประกาศให้ทราบว่าโรงเรียนเป็นเขตปลอดบุหรี่ในจุดที่เห็นได้เด่นชัด 4.ติดสติกเกอร์เขตปลอดบุหรี่ทั่วบริเวณโรงเรียน 5.ประชาสัมพันธ์นโยบายและเฝ้าระวังการสูบบุหรี่ในบริเวณโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง 6.สอดแทรกเรื่องบุหรี่ในการเรียนการสอนและกิจกรรมนอกหลักสูตร 7.ส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ 8.มีมาตรการดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้เลิกสูบบุหรี่ และ 9.ขยายผลการดำเนินงานไปยังผู้ปกครองนักเรียนและชุมชนรอบโรงเรียนการสร้างค่านิยมไม่สูบบุหรี่และจัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดควันบุหรี่
       
“ที่ผ่านมา เครือข่ายครูฯ ได้จัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพคุณครูในโรงเรียนต่างๆ เพื่อขยายผลการนำบทเรียนดังกล่าวไปใช้ ยังจังหวัดใหม่เพิ่มขึ้นอีก 8 แห่ง ได้แก่ เชียงราย พิษณุโลก นครราชสีมา มหาสารคาม อุบลราชธานี นนทบุรี ระยอง และสุราษฎร์ธานี รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลและแนวทางผ่านทางเว็บไซต์โรงเรียนปลอดบุหรี่ www.smokefreeschool.net ซึ่งการร่วมมือทั้ง 3 หน่วยงานหลักในครั้งนี้จะทำให้เกิดโรงเรียนปลอดบุหรี่ต้นแบบเกิดขึ้นในทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีหน่วยงานของทั้ง ศธ.เครือข่ายครูฯ และ สธ.ร่วมกันสนับสนุนเพื่อเป็นแกนหลักในการดำเนินงาน” นางสุวิมล กล่าว