ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -สธ.เร่งตีความโครงการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการ หลังรัฐบาลยุบสภาฯ สามารถทำได้ต่อหรือไม่ แต่พกส.เดินหน้าต่อเพราะเป็นอำนาจของปลัดสธ. ส่วนการปรับแก้ระเบียบค่าตอบแทนยังต้องรอ ครม.ชุดใหม่ ด้าน เครือข่ายลูกจ้างฯ ทำใจยอมรับ แต่หวั่นเป็นเหตุดึงคนออกนอกระบบ โดยเฉพาะผู้ใช้ทุนใกล้หมด

ที่กระทรวงสาธารณสุข-เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2556 นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่รัฐบาลประกาศยุบสภาไปแล้วแต่ยังคงทำหน้าที่เป็นรัฐบาลรักษาการอยู่ ทำให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องมาทบทวนโครงการต่างๆ ที่รอการอนุมัติว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร โดยในส่วนที่ตนรับผิดชอบอยู่คือเรื่องการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุขเป็นข้าราชการ การปรับปรุงแก้ไขระเบียบค่าตอบแทนบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขนั้น จะถือว่าเป็นงานประจำ หรือเป็นงานที่ต้องได้รับการอนุมัติจากครม.หรือไม่ มีผลผูกพันด้านงบประมาณหรือไม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างให้ฝ่ายกฎหมายของ สธ.ตรวจสอบอยู่คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในสัปดาห์หน้า สำหรับเรื่องพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) เป็นอำนาจของปลัด สธ.สามารถเดินหน้าได้ตามเดิม

ทั้งนี้ในส่วนของการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวฯ เป็นข้าราชการนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ 1. ตำแหน่งข้าราชการที่ว่างจากการเกษียณอายุ ลาออก จำนวน 1,300 ตำแหน่ง ตรงนี้สามารถดำเนินการได้ทันที ซึ่งทางหน่วยบริการในแต่ละเขต แต่ละจังหวัดได้ส่งเรื่องเข้ามายังสำนักงานปลัดฯ และได้มีการนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนเพื่อพิจารณาปรับเกลี่ยไปตามที่ขอเข้ามาคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธ.ค.นี้ กับส่วนที่ 2. ตำแหน่งข้าราชการจำนวน 7,451 อัตราที่ต้องนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนั้นยังต้องรอตีความว่าเป็นเรื่องประจำหรือเป็นเรื่องนโยบาย เป็นเรื่องที่ต้องผูกพันกับรัฐบาลชุดต่อไปหรือไม่ เพราะจำเป็นต้องใช้เงิน ขณะนี้ได้สอบถามเป็นการภายในไปยังเลขาธิการสำนักรัฐมนตรี ว่าสามารถทำได้หรือไม่ในรัฐบาลรักษาการ ทั้งนี้ได้มีการส่งสัญญาณเบื้องต้นไปยังน้องๆ ซึ่งเขาเข้าใจได้ เพราะเป็นเรื่องที่เหนือการควบคุม

“ถ้าเผื่อผูกพันรัฐบาลต่อไปก็ต้องมีการใช้เงิน อันนี้ผมไม่ทราบว่าจะใช้มติครม.เมื่อปีที่แล้วที่อนุมัติไว้ 22,500 อัตรา แต่ให้อนุมัติเป็นรายปีไป กำลังให้เจ้าหน้าที่ประสานเป็นการภายในอยู่ รวมถึงสอบถามไปยัง กพ.ด้วย สำนักงบประมาณด้วย ต้องปรึกษาหารือกันว่าเข้าได้หรือไม่ ถ้าเข้าไม่ได้ก็ต้องรอให้มีรัฐบาลใหม่ ช้าไปอีกนิดหนึ่ง 2-3 เดือน ก็เข้าใจคนรอ เข้าใจลูกจ้างที่อยากบรรจุเป็นข้าราชการอยู่”  

ส่วนเรื่องการปรับแก้ระเบียบค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย และค่าตอบแทนตามภาระงานหรือพีฟอร์พี ซึ่งจะมีการนำเข้าหารือในวันที่11 ธ.ค. 56 ให้ปรับตามที่ชมรมแพทย์ชนบทเสนอนั้น ได้มีการเลื่อนการประชุมออกไปก่อน เพื่อรอให้มีรัฐบาลชุดใหม่ก่อนจึงจะสามารถดำเนินการได้ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเงิน เกี่ยวกับค่าตอบแทน การเพิ่มเงินเดือนนั้นรัฐบาลรักษาการไม่น่าจะสามารถพิจารณาได้ เพราะจะกลายเป็นการสัญญาเพื่อหาเสียง ดังนั้นขณะนี้จะดำเนินการตามระเบียบค่าตอบแทนฯ ฉบับที่ 8,9 ไปเรื่อยๆ ตามที่ได้มีการอนุมัติไปแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของกระทรวงและผู้เกี่ยวข้องสามารถประชุมหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปก่อนนำเสนอเข้าครม.ชุดใหม่ได้หรือไม่ นพ.วชิระ กล่าวว่า คนที่นั่งหัวโต๊ะที่ประชุมคือรมว.สธ. เพราะจะต้องนำเรื่องเข้าไปเสนอที่ประชุมครม. ถ้าคนที่จะนำเรื่องเข้าครม.ไม่อยู่หรือไม่สามารถนำเข้าครม.ได้ ประชุมไปมันก็เสียความรู้สึกอีก เลยเลื่อนออกไปก่อน

ด้าน นางกรรณิกา ปัญญาอมรวัฒน์ ผู้นำกลุ่มพยาบาลลูกจ้าง กล่าวว่า เรื่องนี้มันจำเป็นต้องล่าช้าอยู่แล้วจนกว่าจะมีครม.ใหม่ ซึ่งเราจำเป็นต้องรอ ในขณะที่การการบรรจุพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) ก็ยังไม่เรียบร้อย หน่วยงานยังทำเรื่องการจ้างงานใหม่ได้ ถ้าช้ามากๆ สุดท้ายแล้วเดือนเม.ย.นี้จะมีเด็กจบใหม่มาอีก ยิ่งจะมีกลุ่มที่รอบรรจุเยอะมาก แต่ที่เป็นห่วงคือกลุ่มที่จบเมื่อปี 2552 ซึ่งเป็นกลุ่มที่กำลังจะใช้ทุนหมด เกรงว่าจะมีผลต่อการตัดสินใจว่าจะอยู่หรือไม่อยู่ต่อในระบบ ที่สำคัญคือไม่รู้ว่าครม.ใหม่จะเป็นชุดไหน จะเห็นด้วยกับเรื่องนี้หรือไม่ ทำให้คนทำงานลำบากน้องๆ ก็จะตัดสินใจยากว่าจะอยู่หรือไม่

“ตรงนี้มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นมติครม.ปีต่อปีปัญหาคือไม่ใช่มติผูกพัน 3 ปี ดังนั้น กพ.เอง รัฐบาลเองก็จะดูงานเป็นปีต่อปี และคงอยากเห็นการแก้ปัญหาเชิงมหภาคเลยบังคับให้เราทำงานเป็นปีต่อปี และสถานการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ รัฐบาลออก ยังไงก็ต้องรอรัฐบาลใหม่”

นายวัฒนะชัย นามตะ ประธานสหวิชาชีพกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า คงต้องยอมรับ ทำอะไรไม่ได้เราก็ต้องรอ เพราะตอนนี้ทุกอย่างติดหมด แต่เบื้องต้นมีตำแหน่งที่ข้าราชการประจำสามารถดำเนินการได้เลย ส่วนอัตราข้าราชการ 7,451 ตำแหน่งที่ต้องเข้าครม.นั้นไม่แน่ใจว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าเรื่องนี้เป็นโครงการอนุมัติตำแหน่งตามวาระเดิมที่เสนอไปแล้วในรอบแรก ไม่ใช่เป็นการขอตำแหน่งมาใหม่ เว้นเสียแต่ว่ารัฐบาลรักษาการจะรักษามารยาทจึงไม่ดำเนินการ