ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ.เผยชัตดาวน์ กทม.วันที่ 2 บาดเจ็บเพิ่ม 7 ราย ส่งยอดสะสมเป็น 194 ราย ตาย 3 ราย สธ.เผยเหตุการณ์ยังไม่มีอะไรน่าห่วง ต่างจังหวัดยังคงปกติ ห่วงแยกปทุมวันเสี่ยงสุด เหตุใกล้วันเดดไลน์ กปปส. รวมถึงบริเวณราชดำเนิน และห้าแยกลาดพร้าว

วันนี้ (15 ม.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังประชุมคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัย ด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีชุมนุมทางการเมือง ระหว่างศูนย์ส่วนหน้า ส่วนกลาง และภูมิภาค ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ว่า เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันชัตดาวน์ กทม.เป็นวันที่ 2 เกิดเหตุการณ์ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 3 ครั้ง คือ 1. เหตุทะเลาะวิวาทกันเองของผู้ชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ประมาณ 14.00 น. มีผู้บาดเจ็บ 1 ราย พบผิวฉีกขาดที่ใบหน้า 2. บริเวณสวนลุมพินี ช่วง 20.00 น. พบตำรวจบาดเจ็บ 4 ราย นำส่ง รพ.ตำรวจ พบมีอาการฟกช้ำทั่วไปและถูกไฟช็อต ขณะนี้กลับบ้านแล้ว แต่ยังต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 1 ราย และ 3. ช่วงเวลาหลังเที่ยงคืนบริเวณสะพานหัวช้าง มีผู้บาดเจ็บ 2 ราย เป็นชาย 1 ราย และหญิง 1 ราย พบถูกยิงอาการปลอดภัยแล้ว รวมผู้บาดเจ็บทั้งหมด 7 ราย ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บสะสม 194 ราย ยังคงพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 13 ราย และเสียชีวิต 3 รายเช่นเดิม ซึ่งทุกรายปลอดภัยดี 
       
นพ.ณรงค์กล่าวอีกว่า การเตรียมการด้านการแพทย์นั้นขณะนี้เป็นช่วงสับเปลี่ยนกำลังหน่วยแพทย์กู้ชีพชั้นสูง (ALS) โดยเรียกทีมแพทย์จาก จ.ลพบุรี กาญจนบุรี และสิงห์บุรี เข้ามา ส่วนการวางกำลังดูแลการชุมนุมชัตดาวน์วันที่ 3 หน่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นยังคงใช้ทีมแพทย์จากโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา รพ.เลิดสิน รพ.สงฆ์ และ รพ.กระบุรี จ.ระนอง เข้ามาเสริม สำหรับหน่วยการแพทย์ฉุกเฉินชั้นสูงก็ใช้ของ รพ.กาฬสินธุ์ รพ.กระบุรี จ.ระนอง และ รพ.สุรินทร์ เช่นเดิม ส่วนจุดที่ตั้งไว้จะทำงานร่วมกับมูลนิธิร่วมกตัญญู
       
“สำหรับบริเวณโซนเหนือ ที่ศูนย์ราชการ หน่วยกู้ชีพชั้นสูงของเราจะทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร มีของ รพ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ รพ.ปทุมธานี และ รพ.พระนั่งเกล้า ในโซนใต้จะประสานกับสภากาชาดไทย จะมี รพ.เลิดสิน นอกจากนี้ยังมีอีกหลายโรงพยาบาลกำลังอยู่ระหว่างสับเปลี่ยนออกไป เช่น รพ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ รพ.ยุพราชสระแก้ว รพ.อุดรธานี เป็นต้น ระบบการแพทย์ฉุกเฉินยังคงไปตามระบบที่วางไว้ และไม่มีสถานการณ์อะไรน่าเป็นห่วง สำหรับต่างจังหวัดมีรายงานเข้ามา 2 จังหวัด แต่จะติดตามจังหวัดที่มีความเสี่ยง เช่น จ.อ่างทอง และ จ.สมุทรสงคราม ซึ่งมีระเบิดไปเมื่อ 2-3 วันก่อน แต่ก็พบว่า เหตุการณ์ยังเป็นปกติดีทุกจังหวัด” ปลัด สธ.กล่าว
       
ด้าน นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ส่วนหน้า กล่าวว่า จุดเสี่ยงของการชุมนุมขณะนี้มีอยู่หลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณแยกปทุมวัน เนื่องจากเข้าใกล้วันเดดไลน์ของกลุ่ม กปปส. แต่จุดเสี่ยงใหญ่ๆ ที่ต้องติดตามในขณะนี้มีอยู่ 2 จุด คือ บริเวณราชดำเนิน ซึ่งยังมีกลุ่ม คปท.ประจำอยู่ และบริเวณห้าแยกลาดพร้าว เนื่องจากเป็นจุดที่มีทางเข้าออกได้ง่าย ส่วนบริเวณจุดอื่นๆ จะมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง