ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ “สิ่งประดิษฐ์คิดค้นระดับดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์” ประจำปี 2556 แก่ผลงานประดิษฐ์เรื่อง “อุปกรณ์ช่วยพ่นยาที่สามารถประดิษฐ์ได้ด้วยตนเองสำหรับการรักษาโรคหืด” ของ รศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล ปรับขนาดให้เหมาะกับรูปหน้าของผู้ป่วยได้ แก้ปัญหาความต้องการอุปกรณ์พิเศษอย่างเร่งด่วนเพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยเด็ก และคนชราที่เป็นโรคหืดอย่างทันท่วงที

รศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “ผู้ป่วยโรคหืดที่มีอาการกำเริบจะทุกข์ทรมาน และอาจไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ บางรายต้องมารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน หรือนอนโรงพยาบาล และบางรายอาจเสียชีวิตได้ การรักษาโรคนี้ส่วนใหญ่ใช้ยาพ่นสูด ซึ่งอุปกรณ์พ่นยาชนิด MDI เป็นอุปกรณ์ที่ใช้บ่อยที่สุด โดยการสูดยาต้องกดยาในจังหวะเดียวกันกับการหายใจเข้าทางปาก และต้องกลั้นหายใจเป็นเวลา 10 วินาที ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุไม่สามารถพ่นยาได้อย่างถูกต้อง ดังนั้น จึงต้องอาศัยอุปกรณ์เสริมเพื่อช่วยในการพ่นยาที่เรียกว่า สเปเซอร์ หรือกระบอกกักเก็บยาที่มีลักษณะเป็นกระบอกครอบเข้ากับใบหน้า มีวาล์วปิดเปิดควบคุมทิศทางของอากาศหายใจ ทำให้ผู้ป่วยสามารถสูดลมหายใจเข้าออกได้ตามปกติ ไม่ต้องกดยาพร้อมกับจังหวะหายใจเข้า และไม่ต้องกลั้นหายใจ ทำให้พ่นยาง่ายขึ้น และนำละอองยาเข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้น แต่สเปเซอร์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นอุปกรณ์นำเข้าที่มีราคาสูง มีไม่กี่แบบ และไม่สามารถปรับขนาดให้เหมาะสมกับทุกคนได้ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ชนิดนี้ จึงไม่สามารถควบคุมอาการของโรคได้ เราจึงคิดวิธีการประดิษฐ์สเปเซอร์ที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองจากวัสดุที่หาได้ในครัวเรือน”


       

“อุปกรณ์ “DIY Spacer” นี้จะมีลิ้นวาล์วสำหรับปิดเปิดควบคุมทิศทางของอากาศที่สามารถถอดแยกชิ้นส่วนได้ ทำให้ง่ายต่อการพกพา มีกระเปาะกักเก็บยาที่ทำจากขวดน้ำพลาสติกปริมาตร 500 มล. ต่อเข้ากับลิ้นวาล์ว อีกด้านหนึ่งของวาล์วต่อกับส่วนที่เป็นหน้ากากซึ่งทำจากขวดน้ำพลาสติกเช่นกัน และสามารถปรับขนาดหน้ากากให้เหมาะสมกับผู้ใช้ได้ด้วย โดยในการออกแบบเน้นการเลือกใช้วัสดุที่มีอยู่ทั่วไป สามารถประดิษฐ์เองได้ง่าย และมีราคาถูก คือ มีราคาเพียงชุดละ 50 บาท ซึ่งถูกกว่าอุปกรณ์ช่วยพ่นยาแบบมีลิ้นวาล์วที่นำเข้าจากต่างประเทศถึงกว่า 24 เท่า แม้จะมีอายุการใช้งานค่อนข้างสั้น คือ ประมาณ 3-6 เดือน เนื่องจากใช้ขวดน้ำพลาสติกเป็นวัสดุหลักที่อาจแตก หรือชำรุดได้ง่าย แต่ผู้ใช้ก็สามารถเปลี่ยนขวดได้ตลอดเวลา ซึ่งได้รับการยืนยันว่า สามารถรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผู้ป่วยที่ใช้อุปกรณ์พ่นยาชนิดนี้มีระดับการควบคุมโรคไม่แตกต่างจากอุปกรณ์ที่จำหน่ายในตลาด ทำให้ลดปริมาณการใช้ยาลงได้เนื่องจากการพ่นยาที่ถูกต้องจะเพิ่มปริมาณยาที่ไปสู่ปอด ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลที่มักจะมีสาเหตุที่เกิดจากการพ่นยาไม่ถูกวิธีทำให้มีอาการแย่ลง แต่หากผู้ป่วยใช้อุปกรณ์ช่วยพ่นยาอันนี้จะสามารถควบคุมโรคได้ และมีอาการดีขึ้น ลดจำนวนการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และลดค่าใช้จ่ายในการรักษา”

จากรายงานพบว่าในประเทศไทย มีผู้ป่วยโรคหืดประมาณ 3 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณปีละ 1,500 คน หรือเฉลี่ยถึง 3 คนต่อวัน โดยร้อยละ 70 ของการเสียชีวิตดังกล่าวสามารถป้องกันได้ โดยการใช้ยาอย่างเหมาะสม การใช้อุปกรณ์ช่วยพ่นยา “DIY Spacer” จะช่วยลดจำนวนการเสียชีวิตของผู้ป่วย และช่วยลดการสูญเสียรายได้ของประเทศได้