ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไทยโพสต์ - สาธารณสุข * สภาพัฒน์ห่วงฐานะการเงินการคลัง สปสช.ระยะยาวมีปัญหา แนะให้รีบเตรียมการเนิ่นๆ พร้อมกับเสนอทางออกให้ใช้ระบบผู้ป่วยร่วมจ่ายเฉพาะโรค แต่ สปสช.ปฏิเสธทำไม่ได้ เพราะขัดกับ กม.หลักและรัฐธรรมนูญ ล่าสุดตั้งคณะอนุ กก.ศึกษาเรื่องฐานะการเงินระยะยาวเมื่อต้องดูแลผู้สูงอายุ และการหาแหล่งเงินทุนมาสนับสนุนโครงการ

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ว่า สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 มี.ค.2556 เห็นชอบงบประมาณงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปี 2557 โดยให้รับข้อเสนอของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจการคลังแห่งชาติ (สศช.) ในประเด็นที่เสนอแนะว่าควรมีการศึกษาและดำเนินการใช้แนวทางการรับภาระค่าใช้จ่ายร่วมกันระหว่างรัฐและผู้ป่วย โดยเฉพาะกรณีการให้บริการเฉพาะโรค ซึ่งแยกจากการให้บริการสุขภาพที่เป็นสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานตามเศรษฐานะของผู้ใช้บริการ เพื่อกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกในการดูแลสุขภาพ และควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยที่ไม่เป็นการกีดกันการเข้าถึงบริการที่จำเป็นของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยนั้น ซึ่งคณะกรรมการ สปสช.ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวในการประชุมครั้งที่ 6/2556 เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2556 ที่ประชุมมีมติมอบ สปสช.ดำเนินการประสานข้อมูลและทำความเข้าใจกับ สศช. และคณะรัฐมนตรี ในเรื่องสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นสิทธิของประชาชน ไม่ใช่การจัดบริการตามเศรษฐานะนั้น

เลขาธิการ สปสช.กล่าวต่อว่า สปสช.จึงได้ดำเนินการจัดประชุมเพื่อทำความเข้าใจร่วมกับ สศช.แล้ว 2 ครั้ง ผลสรุปจากการหารือในประเด็นการร่วมจ่ายตามเศรษฐานะนั้น สปสช.ได้ชี้แจงว่า สำนักงานกฤษฎีกาได้เคยตีความแล้วว่าไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เพราะอาจก่อให้เกิดการแบ่งแยกและกีดกันตามมาได้ แต่หากกำหนดให้มีการร่วมจ่ายเป็นการทั่วไป เช่น การร่วมจ่าย 30 บาทต่อครั้งในการใช้บริการ โดยยกเว้นผู้ยากไร้หรือบุคคลอื่นที่มีการกำหนดเฉพาะ สามารถทำได้ แต่การร่วมจ่ายรายโรคไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย นอกจากนี้ สิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น ได้กำหนดภายใต้หลักความจำเป็นด้านสุขภาพของประชาชน และหากต้องเพิ่มสิทธิประโยชน์ที่มีผลต่อการเพิ่มงบประมาณ ก็จะดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาก่อน เช่น สิทธิประโยชน์บริการทดแทนไต เป็นต้น

นพ.วินัยกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอแนะจากทาง สศช.ที่ สปสช.จะต้องวางแผนการพัฒนา เนื่องจากจะส่งผลกระทบระยะยาวด้านสังคมและด้านการเงินการคลังของ สปสช.ใน 2 ประเด็นคือ ระบบการเงินการคลังสำหรับการดูแลระยะยาวในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงและการหาแหล่งเงินอื่นๆ สปสช.จึงได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานด้านวิชาการ เพื่อจัดทำแนวทางการบริหารจัดการการคลังสาธารณสุขระยะยาว (Long-term  Health Financing) ในรูปแบบของคณะอนุกรรมการ หลังจากนั้นจึงได้นำข้อสรุปดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2556 ก็ได้มีมติให้มีการตั้งคณะทำงานดังกล่าวต่อบอร์ด สปสช.เพื่อรับทราบ โดยมี ดร.คณิศ แสงสุพรรณ กรรมการ สปสช.ด้านการเงินการคลัง นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการ ภาคประชาชนเป็นที่ปรึกษา มีรองเลขาธิการ สศช. เป็นประธานอนุกรรมการ อนุกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนปลัดกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมบัญชีกลาง เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เลขาธิการ สปสช. อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์  วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557