ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สาวโรงงาน เป็นอีกกลุ่มที่เสี่ยงป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก  แต่กลุ่มนี้ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการตรวจคัดกรองมะเร็ง ทำให้มองข้าม และเสียโอกาสในการรักษา...

เหตุผลหนึ่งก็เพราะแม้แรงงานที่ทำงานในโรงงานจะมีสิทธิในประกันสังคม ปัญหาคือ สิทธินี้ไม่ครอบคลุมการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก  ซึ่งหากจะตรวจจะต้องจ่ายเงินเอง  กลายเป็นปัญหาที่สาวโรงงานทั้งหลายไม่ให้ความสำคัญ ประกอบกับเข้าใจว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งค่อนข้างยุ่งยาก หลายขั้นตอน ดังนั้น หากสามารถลดขั้นตอนยุ่งยาก และให้เข้าสู่การรักษาพยาบาลได้โดยง่ายจะลดอัตราการป่วย เสียชีวิตได้ด้วย เนื่องจากข้อมูลทุกวันนี้พบว่า มะเร็งปากมดลูกครองแชมป์มะเร็งที่คร่าชีวิตหญิงไทยต่อเนื่องหลายปี เฉลี่ยวันละ 14 คน

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดความร่วมมือขึ้นระหว่าง  สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกฟรีให้กับหญิงไทยทุกคน  โดยมีภาคีหมออนามัยแห่งประเทศไทยร่วมดำเนินการตรวจคัดกรองด้วยวิธีที่รวดเร็วและแม่นยำ พร้อมทั้งหากตรวจพบก็เข้าสู่สิทธิการรักษาของสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ได้ทันที

นพ.พูลชัย จิตอนันตวิทยา ที่ปรึกษาภาคีหมออนามัยแห่งประเทศไทย อธิบายว่า ปัญหาคือ แรงงานในโรงงานต่างๆจะไม่มีเวลา และไม่สามารถลาหยุดงานได้ บางคนก็กลัวการตรวจ และมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้เกี่ยวกับสิทธิการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกฟรี สปสช.ได้ร่วมกับภาคีหมออนามัยแห่งประเทศไทย จัดทำโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มผู้ประกันตนหญิง โดยนำร่องที่จ.สมุทรปรากการ เนื่องจากมีแรงงานในระบบประกันสังคม 7 แสนกว่าคน ครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานสตรี โดยได้เข้าไปจัดบริการตรวจคัดกรองเชิงรุก ในสถานประกอบการจำนวน 40 แห่งจำนวน 4,545 ราย พบแรงงานสตรีที่มีเซลล์ผิดปกติระยะเริ่มต้น ที่จะกลายไปเป็นมะเร็งปากมดลูก จำนวน 46 รายจากโรงงาน 20 แห่ง  โดยพบในช่วงอายุตั้งแต่ 27-46 ปี

ทั้งหมดเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม โดยที่เมื่อผลการตรวจคัดกรองออกมาเช่นนี้ ก็เป็นหน้าที่ของ รพ.ต้นสังกัดจะได้ทำการรักษาตามข้อแนะนำของสมาคมมะเร็งทางนรีเวช ด้วยการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่นการตรวจหา DNA ของเชื้อไวรัส การส่องกล้องเพื่อดูความผิดปกติของเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูก ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา (Colposcope and Biopsy)  

นพ.พูลชัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า  หลังจากพบเคสที่มีความเสี่ยงเกิดมะเร็งปากมดลูกก็จะทำการส่งตัวให้กับโรงพยาบาลในเครือข่ายของสำนักงานประกันสังคม  ซึ่งที่ผ่านมาจะมีปัญหาในขั้นตอนนี้มาก เนื่องจากทางโรงพยาบาลจะไม่เชื่อผลการตรวจคัดกรอง และจะให้ตรวจซ้ำ ซึ่งพบว่านอกจากต้องเสียค่าใช้จ่ายเองแล้ว ยังเสี่ยงได้รับผลตรวจไม่แม่นยำ  นั่นเพราะที่ผ่านมาพบว่าการตรวจโรงพยาบาลเอกชน เพื่อหาเซลล์มะเร็งปากมดลูกจะใช้เครื่องมือเก็บเซลล์ที่มีลักษณะเป็นแท่งไอติม เป็นเครื่องมือตรวจรุ่นเก่าที่มาตรฐานต่ำกว่าการตรวจที่โครงการดำเนินการ ทำให้ผลตรวจของโรงพยาบาลเอกชนไม่พบอาการที่ผิดปกติ จึงไม่ส่งตัวผู้ป่วยเข้ารักษา  

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการรักษามะเร็งปากมดลูกของผู้ป่วยไม่ได้มีเท่านี้ แต่ยังพบว่า การรักษามะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มต้นในโรงพยาบาลเอกชน ผู้ประกันตนยังถูกปฏิเสธการรักษา เพราะเคยมีผู้ประกันตนหญิงที่ตรวจเจอว่าเป็นมะเร็ง โดย 2 ปีก่อนหน้านี้เคยเข้ารับการตรวจมะเร็งปากมดลูกในโรงพยาบาลเอกชนเช่นกัน แต่เนื่องจากพบเพียงอาการในระยะเริ่มต้น ไม่รุนแรง โรงพยาบาลจึงให้ผู้ป่วยรอดูอาการไปก่อน แทนที่จะรีบรักษาในระยะเริ่มแรก

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดโครงการความร่วมมือการรักษาต่อเนื่องแบบไร้รอยต่อ  คือ  ให้มีการรักษาแบบเป็นกลุ่มกับแรงงานสตรีกลุ่มนี้ คือ เมื่อพบ 46 รายก็ให้ทำการตรวจพร้อมกันในโรงพยาบาลเดียวกัน  อย่างกรณีนี้ได้ทำการส่งตัวเข้ารับการรักษาต่อเนื่องที่รพ.เปาโลเมมโมเรียล สมุทรปราการ เป็น รพ.ต้นแบบที่พัฒนาการรักษามะเร็งแบบเป็นกลุ่มก้อน ใช้เวลาในการตรวจรักษาประมาณ 15 นาทีต่อราย พักฟื้นสังเกตอาการ 2 ชม แล้วสามารถกลับไปทำงานต่อได้ โดยอาจนับได้ว่าเป็นการตรวจรักษามะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มต้นจำนวนมากที่สุดในวันเดียว 

โดยการรักษาผู้ป่วยนั้น  ขั้นตอนจะเริ่มจากเมื่อส่งตัวผู้ป่วยที่พบความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก ปกติโรงพยาบาลจะต้องตรวจเพิ่มเติม โดยใช้กล้องชนิดพิเศษส่องเข้าไปยังบริเวณปากมดลูกเพื่อตรวจดูเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ และใช้เครื่องมือที่มีลักษณะเป็นขดลวดที่มีความร้อนปาดเนื้อเยื่อที่เป็นเซลล์มะเร็งออก          

ส่วนการเบิกจ่ายเงินให้กับโรงพยาบาลนั้น “นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล”  รองเลขาธิการ  (สปส.) บอกว่า รพ.ในระบบจะทำเรื่องเบิกจากระหว่างกันในอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ตกลงกันไว้ นับเป็นก้าวใหม่ของประกันสังคม ที่รักษาโดยเอาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นตัวตั้ง และจะได้หมุนเวียนไปทำเช่นนี้กับ รพ.ต่างๆในเขต เพื่อยกมาตรฐานงานบริการเรื่องมะเร็งทั้งระบบให้ดีขึ้น 

สำหรับก้าวต่อไปของโครงการดังกล่าว คือ การขยายการบริการให้ครอบคลุมทั้งจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานกว่า 2 หมื่นแห่ง ซึ่งสปส. จะทยอยหารือกับผู้ประกอบการต่างๆ ให้อนุญาตแรงงานหญิงตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เพื่อเป็นการป้องกันดีกว่าการรักษา ซึ่งนอกจากส่งผลต่อสุขภาพของแรงงานแล้ว ยังส่งผลต่อการทำงานด้วย นอกจากจังหวัดสมุทรปราการ จะมีการขยายไปยังจ.ชลบุรี ปราจีนบุรี และจ.ระยอง ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มจังหวัดภาคอุตสาหกรรม และมีแรงงานสตรีที่ยังรอคอยการตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกอีกมากเช่นกัน

นับเป็นวิสาหกิจสุขภาพชุมชนที่ดีและน่าสนับสนุน...