ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไทยโพสต์ - กรุงเทพฯ * กก.บอร์ด สปสช.ภาคประชาชน เตรียมข้อมูลเสนอคืนการบริหารกลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะให้ สปสช.ดูแล เผย "บัตรประกันแรงงานต่างด้าว" ของ สธ.ขายไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายแรงงานพม่า เขมร ลาว แต่กลับขายได้มากในกลุ่มผู้ป่วยเอดส์ต่างด้าวถึง 70% ของยอดที่ซื้อประกัน

นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภาคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถอดสิทธิกลุ่มรอพิสูจน์สถานะบุคคลออกจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เข้าสู่กองทุนคืนสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขสำหรับคนมีปัญหาสถานะและสิทธิของกระทรวงสาธารณ สุข (สธ.) ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่สามารถรับการรักษาพยาบาลได้ ว่า โครงการดูแลสุขภาพของผู้รอพิสูจน์สถานะนั้นเป็นโครงการที่มีประโยชน์มีความสำคัญ แต่ในเรื่องของตัวเลขยังมีความสับสนอยู่ ดังนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะโอนการดูแลกลุ่มคนดังกล่าวกลับมาให้ สปสช.ดูแลแทน สธ. ซึ่งก่อนหน้านี้ตนได้เสนอเรื่องเข้าที่ประชุมบอร์ด สปสช.แล้ว และประธานบอร์ด นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ได้ให้กลับไปหาข้อมูลโครงการพร้อมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาเสนอเพิ่มเติมในการประชุมวันที่ 9 เม.ย.นี้ ทั้งนี้ การที่กฎหมายกำหนดให้ สปสช.ดูแลเฉพาะสิทธิของคนไทยเท่านั้น ในขณะที่กลุ่มเอ็นจีโอมองว่า สปสช.น่าจะดูและสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ที่อยู่ในราชอาณาจักรไทยด้วย

นอกจากนี้ ในกรณีการดูแลแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยที่ สธ.ให้ซื้อบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวนั้น ขณะนี้ยังมีปัญหากลุ่มที่ผู้ซื้อไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าควรเป็นแรงงานจากประเทศ พม่า กัมพูชา และลาว เนื่องจากการออกประกาศในตอนแรกระบุว่าต้องเป็นแรงงานที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้ แต่ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าเฉพาะแรงงานต่างด้าวจาก 3 ประเทศนี้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในการขายบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่ สธ.ชี้แจงว่าไม่ค่อยประสบผลสำเร็จนั้น แท้จริงทราบว่ามีหลาย รพ.ที่ขายบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวได้ค่อนข้างมาก อย่างเช่น รพ.บางแห่งในจังหวัดกระบี่และจังหวัดพังงา ที่ขายได้มากถึง รพ.ละ 4 พันคน คิดเป็นเงินแห่งละ 11 ล้านบาท และในจำนวนนี้พบว่ามีการดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์ถึง 70%

"ปัญหาโรคเอดส์ในกลุ่มแรงงานต่างชาติเป็นเรื่องสำคัญ อยากจะให้ทาง รพ.ช่วยกันดูแล แต่ที่ผ่านมาทาง รพ.มักจะอ้างว่ายาแพง แต่หลักจากที่ได้มีการทำซีแอลยาแล้วทำให้ราคายาต้านไวรัสเอชไอวีลดลงเหลือประมาณ 600-700 บาท จากเดิมจะอยู่ที่ 1,200 บาท ซึ่งประเทศไทยนำเข้าจากอินเดียอยู่ที่ราคา 500 บาท แต่ทาง รพ.ก็ยังไม่จ่ายและอ้างว่ายาแพง จากนี้ไปอย่ามาอ้างว่ายาแพงอีก เพราะตอนนี้เราพบว่ายาต้านไวรัสตัวหนึ่งหมดสิทธิบัตรไปแล้วตั้งแต่ มิ.ย.2556 ดังนั้นอยากให้องค์การเภสัชกรรมผลิตยาตัวนี้มากขึ้น" นายนิมิตร์กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์  วันที่ 17 มีนาคม 2557