ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“จากประสบการณ์ทำงานด้านยาหลายสิบปี ยอมรับว่าสถานการณ์ปัญหาการใช้ “ยาสเตียรอยด์” ของประเทศไทยในปัจจุบันอยู่ในภาวะที่น่ากังวลอย่างมาก แม้ว่ายาสเตียรอยด์จะมีประโยชน์ แต่ด้วยสรรพคุณที่ครอบจักรวาล ส่งผลให้มีการใช้อย่างพร่ำเพรื่อและกระจายเป็นวงกว้างจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งยังมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น” ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกริ่นเริ่มต้นถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อนกล่าวต่อว่า สารสเตียรอยด์ ปกติร่างกายคนเราจะสร้างขึ้นได้เอง เป็นฮอร์โมนชนิดที่ผลิตจากต่อมหมวกไตชั้นนอกเพียงวันละ 20-30 มิลลิกรัม เพื่อควบคุมการทำงานของร่างกาย โดยกรณีที่ต่อมหมวกไตทำงานผิดปกติ ไม่สามารถผลิตสารสเตียรอยด์ได้จะส่งผลให้ป่วยเป็น “โรคออโต้อิมมูน” หรือโรคภูมิต้านตนเอง จึงต้องใช้สารสเตียรอยด์สังเคราะห์ทดแทน รวมไปถึงผู้ป่วยโรคหัวใจรูมาติก โรคไตบางชนิด โรคเกี่ยวกับคอลลาเจน เป็นต้น

สารสเตียรอยด์ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นเพื่อใช้ทางการแพทย์นั้น หลักๆ มี 2 ชนิด คือ Cortisol และ Aldosterone ซึ่งยากลุ่มสเตียรอยด์ที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์นี้ กฎหมายได้กำหนดเป็นยาควบคุมพิเศษ เนื่องจากมีความเป็นพิษสูง ซึ่งในกรณีที่เป็นกลุ่มยากินและยาฉีดจะต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์และจำหน่ายในโรงพยาบาลและคลินิกเท่านั้น แต่ในกรณีที่เป็นยาทากำหนดให้เป็นยาอันตรายที่ต้องสั่งจ่ายโดยเภสัชกร และจากสรรพคุณที่ช่วยลดอาการบวม อักเสบ และแก้ปวดได้บางครั้งอย่างทันใจ จึงผู้ประกอบการหัวใสนำไปผสมในยาและขายกันอย่างแพร่หลาย โดยไม่คำนึงอันตรายที่จะเกิดกับผู้บริโภคหากใช้โดยไม่มีการควบคุม โดยเฉพาะกรณีที่ใช้ต่อเนื่อง อาทิ อาการบวม ความดันโลหิตสูง อ่อนเพลีย ติดเชื้อได้ง่าย กระดูกพรุน ต้อหิน เป็นต้น

ผศ.ภญ.นิยดา บอกว่า ในอดีตหลายสิบปีที่แล้ว ยาสเตียรอยด์มักถูกจัดเป็นยาชุด และนำออกขายตามรถเร่ แผงลอย และร้านขายของชำในต่างจังหวัดและพบบ้างในเมือง ซึ่งภายหลังจากที่พบปัญหาดังกล่าวที่เป็นต้นตอปัญหาสุขภาพชาวบ้านขณะนั้น จึงได้มีการรณรงค์เพื่อแก้ไขปัญหาจนนำไปสู่การแก้ไข พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ที่ให้เพิ่มเรื่องยาชุดเป็นยาผิดกฎหมาย และมีความพยายามจากหลายหน่วยงานเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหา ซึ่งต่อมาพบว่านอกจากกลุ่มยาชุดข้างต้นแล้ว สเตียรอยด์ถูกลักลอบผสมใส่ยาลูกกลอน กลุ่มยาโบราณ มีการใช้อย่างแพร่หลายเช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มักกินเพื่อแก้ปวดเมื่อย เนื่องจากเมื่อกินแล้วจะมีอาการดีขึ้น และคิดว่าเป็นการบำรุงกำลัง โดยเข้าใจว่าเป็นผลที่เกิดขึ้นมาจากสมุนไพร โดยไม่ทราบว่าในความเป็นจริงมีสเตียรอยด์ปนอยู่ ด้วยเหตุนี้ทำให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีการประกาศเป็นนโยบายเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

“กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาสเตียรอยด์ในขณะนั้น โดยเฉพาะ อย. ที่ได้ประกาศเป็นนโยบาย ตั้งแต่ปี 2543 และได้มีการแถลงข่าวเกี่ยวข้องกับยาสเตียรอยด์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในปี 2543 แถลงข่าว อย.จับมือหมอรามาต่อต้านใช้ยาสเตียรอยด์, ปี 2547 อย.เตือนภัยยาแผนโบราณผสมสเตียรอยด์ ปี 2548 ระวัง...อย่าซื้อยาจากรถเร่ อันตรายอาจได้รับยาปลอมผสมสเตียรอยด์, ปี 2550 สธ.พบโรค “คุชชิ่ง” โผล่ในคนนิยมซื้อยาชุด ยาหม้อ ยาลูกกลอนกินเอง ต่อเนื่องในปี 2555 แถลงข่าวอย่าลงเชื่อโฆษณาขายยาลูกกลอนแก้สารพัดโรค แต่ปัญหาสเตียรอยด์ยังคงมีอยู่และมีการปรับรูปแบบมากขึ้น จากยาชุดสู่ยาลูกกลอน และปัจจุบันแม้แต่อาหารเสริม เครื่องดื่มบำรุงกำลัง หรือแม้แต่น้ำผลไม้ที่อ้างว่าเป็นเครื่องดื่มสุขภาพก็มีสเตียรอยด์ผสมอยู่มากมาย” ผู้จัดการแผนงาน กพย. กล่าว

นอกจากปัญหาสเตียรอยด์ที่เกิดจากผู้ประกอบการแล้ว ยังมีปัญหาสเตียรอยด์ที่เกิดจากตัวผู้ใช้ที่ไม่มีความรู้เพียงพอเกี่ยวกับการใช้ยากลุ่มนี้ อย่างยาหยอดตาเป็นกรณีที่เห็นได้ชัด ซึ่งมียาหยอดตาบางกลุ่มที่มีสเตียรอยด์ผสมอยู่เพื่อลดอาการบวมหรือคันตา แต่ปรากฎว่ามีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ใช้หยอดแล้วรู้สึกสบายตา รู้สึกกระจ่างเวลามองมากขึ้น  ทำให้มีการใช้อย่างต่อเนื่องโดยที่ไม่รู้ว่า หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดต้อหิน นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ใช้ครีมที่ผสมสเตียรอยด์อย่างต่อเนื่อง โดยเข้าใจว่าจะทำให้ผิวเรียบเนียน แต่ไม่รู้ว่าจะส่งผลให้ผิวบางลง กลายเป็นผื่นแพ้ง่ายเช่นกัน โดยในเรื่องนี้จำเป็นต้องเร่งให้ความรู้ที่ถูกต้องกับประชาชนเพื่อลดผลข้างเคียงจากการใช้ยา

ส่วนปัญหาการลักลอบผสมสเตียรอย์ในยาลูกกลอน อาหารเสริม และน้ำผลไม้นั้น ผศ.ภญ.นิยดา เห็นว่า เรื่องนี้ควรมีมาตรการดำเนินการที่จริงจัง ไม่เพียงแต่เฉพาะการควบคุมการใช้ยาสเตียรอยด์เท่านั้น แต่ต้องติดตามการใช้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ยาสเตียรอยด์ โดยมาตรการที่ทาง กพย.เสนอจะเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งต้องคุมเข้มเช่นเดียวกับยาซูโดอีเฟรดีนที่ถูกนำมาเป็นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติด ซึ่งทาง กพย.ได้นำเสนอต่อทาง อย.แล้ว ได้แก่

มาตรการต้นน้ำ : การควบคุมที่วัตถุดิบการกำหนดรูปลักษณ์ยาสเตียรอยด์ให้มีรูปแบบเดียวที่แสดงให้รู้ว่าเป็นสเตียรอยด์ ควบคุมการกระจายสเตียรอยด์อย่างจริงจัง นอกจากนี้ยังจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบการเฝ้าระวังและปรับปรุงมาตรการทางกฎหมาย รวมทั้งพัฒนาระบบฐานข้อมูลและ ช่องทางการส่งต่อข้อมูลที่มีประสิทธิภาพต้องประมวลภาพรวมและส่งข้อมูลกลับพื้นที่

มาตรการกลางน้ำ : การดำเนินงานร่วมกันในพื้นที่ทั้งศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในการเร่งสำรวจปัญหาในพื้นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด การดำเนินงานตามกฎหมาย โรงพยาบาลชุมชนในการร่วมเร่งสำรวจผู้ป่วย การจัดทำคลินิกสำหรับผู้ติดยาสเตียรอยด์ทั้งหมดต้องประสานงานกันในระดับ พื้นที่

และมาตรการปลายน้ำ : ให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้บริโภคและให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูล การตรวจการปนปลอมสเตียรอยด์อย่างทั่วถึง

“เท่าที่ดูขณะนี้พบว่า ระบบควบคุมสเตียรอยด์บ้านเรานั้นแย่มาก ไม่มีแม้แต่ตัวเลขการนำเข้า ซึ่งเป็นไปได้ อยากให้มีการควบคุมที่เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เรียกว่าตั้งแต่นำเข้ามาประเทศไทยจนถึงสู่การกระจายให้กับประชาชนเลย เพื่อกันผู้ประกอบการหัวใจที่ลักลอบนำสเตียรอยด์ไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนเป็นวงกว้าง และหาเป็นไปได้ควรยกเป็นวาระระดับชาติ ซึ่งอยู่ระหว่างการนำเสนอ โดยดึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ไขกันอย่างจริงจัง เพราะนอกจากเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานแล้ว นับวันจะยิ่งมีปัญหามากขึ้น” ผู้จัดการแผนงาน กพย. กล่าวและว่า นอกจากนี้หน่วยงานที่ควบคุมควรมีการปรับโครงสร้างการทำงานเพื่อให้ความสำคัญกับปัญหาสเตียรอยด์มากขึ้น

ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวว่า อย่างไรก็ตามที่ผ่านเพื่อแก้ไขปัญหาสเตียรอยด์ ทาง กพย. ได้ร่วมกับมูลนิธิหมอชาวบ้าน ชมรมเภสัชชนบท สมาคมเภสัชกรรมชุมชน ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ สมาคมอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านและภาคี จัดทำโครงการรณรงค์เพื่อการใช้ยาสเตียรอยด์ให้ปลอดภัยและเหมาะสมซึ่งเป็นการสร้างความเข้มแข็งที่ปลายน้ำคือให้ความรู้ ข้อมูลแก่ภาคประชาชนให้เกิดการบูรณาการมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่ง เพราะประชาชนไม่มีความรู้ความเข้าใจ ไม่สามารถ ตรวจสอบได้ว่ายาที่กินเป็นอะไร โดยมีชุดตรวจสอบยาสเตียรอยด์ ทั้งนี้ยังได้มีการจัดตั้ง

“เครือข่ายรณรงค์การใช้สเตียรอยด์ให้ปลอดภัยและเหมาะสม” ที่เป็นการจับมือร่วมกันในการสะท้อนปัญหาสเตียรอยด์ที่เกิดขึ้นตามพื้นที่ต่างๆ รวมถึงการให้ความรู้ นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการจัดทำ Application บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสเตียรอยด์นี้ด้วย