กรมวิทย์ชี้ใช้จุลินทรีย์บีเอส ฉีดพ่นกำจัดลูกน้ำยุงรำคาญติดต่อกัน ทำให้ยุงดื้อได้ แนะใช้สารยับยั้งการเจริญเติบโตของแมลง หรือผสมจุลินทรีย์บีทีไอแทน
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ยุงรำคาญเป็นพาหะโรคฟิลาเรียหรือโรคเท้าช้าง มีแหล่งเพาะพันธุ์ในแหล่งน้ำเน่าและท่อระบายน้ำ การพ่นหมอกควันเพื่อกำจัดยุงตัวเต็มวัยมีขั้นตอนยุ่งยากและต้องผ่านการอบรมวิธีการใช้อย่างถูกต้อง ใช้งบประมาณสูง แต่ได้ผลระยะสั้นเพียง 1-2 วัน ทั้งนี้ ผลจากการวิจัยของกรมวิทย์พบว่า การกำจัดลูกน้ำยุงรำคาญสามารถทำได้เบื้องต้นโดยการเก็บขยะในน้ำเน่าเสีย และปล่อยปลากินลูกน้ำร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม มาตรการเบื้องต้นเหล่านี้ ยังไม่สามารถลดจำนวนลูกน้ำยุงรำคาญได้มากพอ จึงต้องใช้สารกำจัดที่เหมาะสม ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำว่ามีความปลอดภัยสูงต่อมนุษย์และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ได้แก่ สารยับยั้งการเจริญเติบโตของแมลง เช่น ไดฟลูเบนซูรอน หรือโนวาลูรอน (Novaluron) หรือใช้จุลินทรีย์บาซิลลัส สเฟียริคัส (บีเอส) ฉีดพ่นลงในแหล่งน้ำเน่าขังที่พบลูกน้ำยุงรำคาญ
นพ.อภิชัย กล่าวว่า นักวิจัยของกรมวิทย์ฯ พบว่า การใช้จุลินทรีย์บีเอส เพียงชนิดเดียวติดต่อกันประมาณ 3 เดือน ก่อให้เกิดการดื้อในภายหลังได้ จึงได้ทดลองใช้จุลินทรีย์บีเอสผสมกับจุลินทรีย์บาซิลลัส ทูริงจิเอนซิส (บีทีไอ) ปรากฏว่าสามารถควบคุมยุงรำคาญได้อย่างน้อย 3 สัปดาห์ ทั้งนี้จุลินทรีย์ดังกล่าวที่นำมาใช้นั้นไม่ใช่ส่วนที่มีชีวิต แต่เป็นโปรตีนที่เป็นพิษเฉพาะกับลูกน้ำยุงรำคาญทำให้ไม่สามารถขยายพันธุ์ในน้ำได้
"การกำจัดลูกน้ำยุงลายพาหะโรคไข้เลือดออก ควรเน้นกำจัดในแหล่งเพาะพันธุ์ที่พบ โดยใช้สารกำจัดลูกน้ำยุงลาย เช่น ซีโอไลท์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมของกรมวิทย์ที่ได้รับการยกย่อง จากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าเป็นสุดยอดนวัตกรรมไทยตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งจากการวิจัยของกรมวิทย์พบว่า มีความคงทนได้ประมาณ 3 เดือนใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์นำเข้าจากต่างประเทศ แต่นานกว่าการใช้จุลินทรีย์บีทีไอ ซึ่งมีความคงทนประมาณ 2-4 สัปดาห์ทำให้ประหยัดแรงงานไม่ต้องใช้บ่อย" อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว
- 66 views