ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หลังการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศ ด้วยการปรับวิธีการจ่ายงบประมาณมาเป็นในรูปแบบเหมาจ่ายรายหัว ที่กระจายงบประมาณไปตามจำนวนประชากรในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ มุ่งให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง และมีการแยกผู้ซื้อและผู้ให้บริการในระบบรักษาพยาบาล เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบรักษาพยาบาล โดยมีการออก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 พร้อมจัดตั้ง “สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” (สปสช.)  ขึ้นเพื่อนำหน้าที่แทนประชาชนทั่วประเทศในฐานะผู้ซื้อบริการ จากหน่วยบริการรักษาพยาบาลที่ทำหน้าที่ในฐานะผู้ให้บริการ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยมี “กระทรวงสาธารณสุข” (สธ.) เป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ มีโรงพยาบาลในสังกัดทั้งสิ้น 827 แห่ง แยกเป็นโรงพยาบาลศูนย์ 25 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลจังหวัด 70 แห่ง และโรงพยาบาลชุมชนอีก 732 แห่ง ไม่นับรวมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอีก 9,770 แห่ง ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

นอกจากในฐานะผู้ให้บริการในระบบรักษาพยาบาลรายใหญ่แล้ว กระทรวงสาธารณสุขยังเป็นหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิรูปสุขภาพที่เกิดขึ้น ซึ่งนอกจากถูกดึงอำนาจการจัดสรรงบประมาณในมือแล้ว ยังถูกตรวจสอบจากผู้ซื้อบริการ ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมา สปสช. และ สธ. จึงเป็นหน่วยงานที่เป็นคู่ขัดแย้งในช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา เห็นได้จากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโรงพยาบาลขาดทุน การเบิกจ่ายงบประมาณ การจัดสรรงบประมาณในรูปแบบกองทุนที่กระทบต่อการบริหารงประมาณโรงพยาบาล เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมา นอกจากความพยายามเพื่อดึงอำนาจการจัดสรรงบประมาณกลับคืนแล้ว บ่อยครั้งยังมีข้อเสนอถึงขั้นยุบ สปสช.จากฟากฝั่ง สธ. 

การแถลงข่าวของปลัดสธ. เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ยื่น 3 ข้อให้สปสช.ดำเนินการ

ล่าสุดในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้มีการเคลื่อนไหวจาก สธ.อีกครั้ง ภายใต้การนำของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในการเสนอข้อทักท้วงขอให้ สปสช.ปรับหลักเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณ โดยให้ยกเลิกระเบียบการจัดสรรเงินผ่านบัญชี 6 ของสำนักงานสาขาจังหวัด สปสช.และขอให้ยกเลิกการจ่ายค่าตอบแทนล้านไต หรือค่าตอบแทนอื่นที่มีลักษณะเดียวกันที่เป็นการจ่ายตรงรายบุคคล ซึ่งเห็นว่าได้ส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานในฐานะหน่วยบริการ พร้อมขอให้ระงับการจัดซื้อจากงบค่าเสื่อม ซึ่งข้อเรียกร้องนี้เกิดขึ้นภายหลังการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นเดิน (สตง.) ที่พบการใช้งบประมาณผิดวัตถุประสงค์ของทางนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ซึ่งทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานสาขาจังหวัด สปสช.

ข้อเสนอทักท้วงการจัดสรรงบประมาณครั้งนี้ มาพร้อมกับท่าทีที่ “แข็งกร้าว” ของ นพ.ณรงค์ ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของกระทรวงสาธารณสุขในขณะนี้ ในช่วงที่สถานการณ์การเมืองส่งผลให้มีเพียง “รัฐมนตรีรักษาการ” ที่แทบไม่มีอำนาจในการบริหาร โดยให้เวลา สปสช. 2 สัปดาห์ เพื่อการดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา พร้อมขู่ยกเลิก สสจ.ในการทำหน้าที่เป็น ผอ.สำนักงานสาขาจังหวัด สปสช. และดูเหมือนว่า หลังจากที่ นพ.ทรงยศ ชัยชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้นำข้อเรียกร้องดังกล่าวเสนอต่อ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) และถูก นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ตีกลับ จะยิ่งเพิ่มดีกรีความร้อนแรง ให้ ปลัด สธ. จัดแถลงข่าวเปิดใจ พร้อมประกาศย้ำอีกครั้ง ให้รอดูการเคลื่อนไหว สธ. หลังครบ 2 สัปดาห์ หาก สปสช.ไม่มีการดำเนินการใดๆ

งานนี้ สปสช. จึงตกเป็นฝ่ายตั้งรับ ...

ที่ผ่านมาทางผู้บริหาร สปสช. นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะออกมาชี้แจงถึงความเป็นไปได้ของข้อเรียกร้องดังกล่าว โดยระบุว่างานนี้ สปสช.ไม่มีอำนาจ เป็นเรื่องของบอร์ด สปสช.ที่จะพิจารณา แต่พร้อมที่จะเปิดเจรจาหารือกับทาง สธ.เพื่อหาทางออกร่วมกัน

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ทางด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช.ได้วิเคราะห์ถึงข้อเรียกร้องตามที่ สธ.เสนอรวมถึงความเป็นไป เริ่มจากการยกเลิกจัดสรรเงินผ่านบัญชี 6 โดยมองว่าเป็นความพยายามในการรวมอำนาจการบริหารงบประมาณไว้ที่ 12 เขตบริการสุขภาพของกระทรวง ซึ่งเป็นการรวมอำนาจการบริหารไว้ที่ส่วนกลาง ไม่เพียงแต่เป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ แต่ยังขัดต่อหลักการการปฏิรูประบบสาธารณสุขที่ต้องกระจายอำนาจการบริหารออกไปให้ได้มากที่สุด งานนี้ไม่เพียงแต่ไม่คุ้มครองประชาชนในการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลเท่านั้น แต่ยังทำให้หน่วยบริการได้รับการชดเชยที่ไม่เหมาะสมได้

ส่วนการยกเลิกการจ่ายค่าตอบแทนล้างไตและค่าตอบแทนอื่นที่มีลักษณะเดียวกันที่จ่ายตรงรายบุคคลนั้น นอกจากการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนและเครือข่ายผู้ป่วยที่ต่างไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วย ซึ่งต่างยอมรับว่าจากการจ่ายค่าตอบแทนในรูปแบบดังกล่าว เป็นการกระตุ้นให้แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทำงานนอกเวลา และเชิงรุกมากขึ้น ซึ่งนอกจากการบริการโรคไตแล้ว ยังมีโครงการผ่าต้อกระจก โครงการผ่าตัดหัวใจ ซึ่งทำให้อัตราการผ่าตัดผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามในประเด็นนี้ ด้าน นพ.ประทีป ชี้แจงว่า หลังจากการจ่ายค่าตอบแทนรูปแบบดังกล่าว ทำให้มีการเร่งรักษาผู้ป่วย ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยที่รอคิวรักษาลดลง จนทำให้การรักษาผู้ป่วยเริ่มเข้าสู่ระบบตามปกติแล้ว และได้มีการทยอยยกเลิกการจ่ายค่าตอบแทนในรูปแบบนี้

สำหรับกรณีการยกเลิก สสจ. เป็น ผอ.สำนักงานสาขาจังหวัด สปสช. นั้น ประเด็นนี้ นพ.ประทีป ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมา สปสช.ได้ให้ สสจ.รับหน้าที่นี้ เนื่องจากไม่ต้องการลงทุนด้านการบริหาร และเห็นว่าสามารถใช้กลไกของ สสจ.ได้ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นหาก สธ.ยกเลิก สสจ.เป็น ผอ.สำนักงานสาขา สปสช. จะทำให้ สปสช.ขาดกลไกทำงานระดับจังหวัด แต่ทั้งนี้จากการเติบโตและความเข้มแข็งของสำนักงานสาขาเขต สปสช. ในช่วงที่ผ่านมาก็สามารถทำงานแทนได้ แต่อาจส่งผลต่อการกำกับการทำงานในพื้นที่ นอกจากนี้ยังอาจใช้กลไกท้องถิ่นในการเข้ามาทำหน้าที่ในส่วนจังหวัดแทนได้ ส่วนกรณีการกระจายงบประมาณตรงไปยังหน่วยบริการนั้นก็ไม่เป็นปัญหาเพราะเป็นการใช้ระบบไอที

“ข้อเสนอของ สธ. คงต้องมีการตั้งทีมเจรจา โดยเป็นผู้บริหารระดับสูงของทั้ง 2 ฝ่ายมาพูดคุยกัน แต่ทั้งนี้หลังเจรจาแล้ว ต้องไปจบที่ บอร์ด สปสช. เพราะตัวสำนักงาน สปสช. นั้นไม่มีอำนาจ ซึ่งคาดว่าจะนัดเจรจาได้ภายในเดือนเมษายนนี้ แต่ทั้งนี้คงไม่ทันงบประมาณปี 2558 เนื่องจากบอร์ด สปสช.ได้พิจารณางบขาขึ้นไปแล้ว” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว 

ทั้งนี้ สปสช.เตรียมที่จะเปิดแถลงข่าวหลังเปิดสงกรานต์เพื่อแสดงท่าทีพร้อมเจรจากับทาง สธ. ในวันที่ 17 เมษายน นี้ ซึ่งจะมีผู้บริหารระดับสูงของ สปสช.เกือบทั้งหมดร่วมนั่งโต๊ะแถลงเพื่อชี้แจงประเด็นต่างๆ ให้กับสื่อมวลชน งานนี้คงต้องติดตาม รวมถึงการเคลื่อนไหวของ สธ.ในวันที่ 18 เมษายน ซึ่งเป็นวันครบรอบ 2 สัปดาห์ ตามที่ ปลัด สธ.ยื่นคำขาดไว้ ซึ่งมีกระแสข่าวแถมมาด้วยว่างานนี้ยังเป็นเพียงแต่เริ่มต้นเท่านั้น  

อย่างไรก็ตามจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่าง สธ. และ สปสช. ในครั้งนี้ คนตกที่นั่งลำบากงานนี้คงไม่พ้น สสจ. โดยเฉพาะ 8 จังหวัดที่ถูก สตง.สุ่มตรวจและพบการใช้งบประมาณที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ทั้งงบส่งเสริมป้องกันโรค งบค่าเสื่อม ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เจตนา ขึ้นอยู่กับการตีความทางกฎหมาย มีเพียงบางจังหวัดที่ทำโดยเจตนา จำเป็นที่ทั้ง 2 หน่วยงานต้องช่วยกันเพื่อแก้ปัญหา แทนการนำมาเป็นประเด็นเพื่อโจมตีซึ่งกัน