ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. สั่งเกาะติดโรคเมิร์สคอฟ รุนแรงเท่าซาร์ส เร่งจับตากลุ่มป่วยคล้ายหวัดใหญ่ทั่วประเทศ เน้นคนกลับจากต่างประเทศและนักท่องเที่ยว พร้อมวางแผนดูแลผู้ไปประกอบพิธีฮัจญ์

วันนี้ (17 เม.ย.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ประกาศแจ้งเตือนคนไทยในภาคตะวันตกของประเทศ ให้ดูแลสุขภาพป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2012 หรือเมิร์สคอฟ (Middle East Respiratory Syndrome Coronavirus : MERS-CoV) เมื่อวันที่ 14 เม.ย. หลังมีรายงานพบการแพร่ระบาด ตั้งแต่ ก.ย. 2555 ว่า ได้ให้กรมควบคุมโรค (คร.) ตั้งศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคนี้อย่างใกล้ชิด จนถึงขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยในไทยแต่อย่างใด แต่ยังวางใจไม่ได้ เนื่องจากยังพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องใน 11 ประเทศ ได้แก่ จอร์แดน ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ อังกฤษ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฝรั่งเศส ตูนิเซีย เยอรมนี อิตาลี โอมาน และคูเวต โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดในซาอุดีอาระเบีย ล่าสุด องค์การอนามัยโลก รายงาน ณ วันที่ 16 เม.ย. พบผู้ป่วยยืนยัน 238 ราย เสียชีวิต 92 ราย
       
นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า การป้องกันได้เน้นย้ำ 2 มาตรการหลัก ได้แก่ 1. ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และโรงพยาบาลทุกแห่ง เฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้สูง ไอ ถ่ายเหลว อาเจียน และมีประวัติเดินทางกลับจากประเทศที่พบผู้ป่วย หรือเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากประเทศที่พบผู้ป่วย หากพบผู้ป่วยที่มีอาการที่กล่าวมาขอให้จัดไว้อยู่ในข่ายสงสัย ให้ปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันควบคุมการแพร่กระจายเชื้อในสถานพยาบาลในระดับสูงสุดเช่นเดียวกับโรคซาร์ส และ 2. มอบให้ คร.วางแผนการดูแลสุขภาพชาวไทยมุสลิมประมาณ 10,000 คน ที่จะเดินทางไปร่วมพิธีฮัจญ์ประจำปี 2557 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงให้จัดทำคำแนะนำในการดูแลสุขภาพและป้องกันโรคแก่ผู้ที่จะเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้รับการชื่นชมจากประเทศต่างๆ เช่น อินโดนีเซีย ว่า ไทยมีระบบในการดูแลป้องกันโรคแก่ผู้แสวงบุญที่ดี
       
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส จัดเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน ที่มีอาการรุนแรงคล้ายโรคซาร์ส เชื้อจะลุกลามเข้าปอดอย่างรวดเร็ว เชื้อจะอยู่ในละอองน้ำมูกน้ำลายผู้ป่วย ติดต่อได้ง่ายจากการไอจาม จากการวิเคราะห์อาการของผู้เชี่ยวชาญ พบว่าอาการของผู้ป่วยที่พบบ่อยคือ มีไข้สูง ร้อยละ 98 ไอ ร้อยละ 83 หายใจหอบ ร้อยละ 72 ถ่ายเหลว ร้อยละ 26 อาเจียน ร้อยละ 21 ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดร้อยละ 96 มีโรคประจำตัว 1 โรค หรือมากกว่า ได้แก่ เบาหวาน รองลงมาคือความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต และยังพบผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวมากกว่า 1 โรคร้อยละ 72
       
นพ.โสภณ กล่าวว่า การดูแลรักษาผู้ป่วย คร. ได้ตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญระหว่างกรมการแพทย์และ คร. โดยมี รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และมีทีมให้คำปรึกษาด้านการป้องกันควบคุมการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาล โดยมีแพทย์หญิงจริยา แสงสัจจา ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร เป็นประธาน ขณะนี้ องค์การอนามัยโลกยังไม่มีข้อห้ามในการเดินทางไปยังประเทศที่พบผู้ป่วย ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำของ สธ. ยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ ภายหลังสัมผัสสิ่งสาธารณะ เลี่ยงการอยู่ใกล้คนที่เป็นหวัดและอยู่ในสถานที่แออัด
       
“หากมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดขอให้ใส่หน้ากากอนามัย และพักผ่อนอยู่ที่บ้าน หากอาการไม่ดีขึ้นใน 2 วัน ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาพร้อมบอกประวัติการเดินทางไปต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ต้องรอถึง 2 วัน แม้ว่าขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยดังกล่าวแต่ก็ต้องจัดระบบเฝ้าระวังในสถานพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัย โทรสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง” อธิบดี คร. กล่าว
       
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์​ รองปลัด สธ. กล่าวว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลกยังไม่แนะนำมาตรการเฝ้าระวังที่เข้มข้นกับประชาชนกลุ่มทั่วไป เพราะยังไม่จำเป็น แต่สิ่งที่ต้องทำคือ ประชาชนกลุ่มเฉพาะ ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อ ซึ่งทุกโรงพยาบาลมีมาตรฐานการรายงานเรื่องโรคระบาดอยู่แล้ว หากพบประวัติการเดินทางและเจ็บป่วยจะมีการรายงานทันที โดยการค้นหาผู้ป่วยเร็วถือเป็นมาตรฐานสำคัญที่สุด นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังการติดต่อของเชื้อในโรงพยาบาล เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดเข้าไปสู่ชุมชน ทั้งนี้ สำหรับการพบผู้เสียชีวิตในประเทศมาเลเซีย และป่วยในฟิลิปปินส์นั้น ก็พบว่าเป็นผู้ที่เดินทางไปยังพื้นที่เฝ้าระวัง ซึ่งประเทศไทยไม่จำเป็นต้องเฝ้าระวังการเดินทางเข้าออกประเทศของทั้งสองประเทศแต่อย่างใด