ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เผยกรณีพบชาวมาเลเซียเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสเมอร์ส-โควี 2012 รายแรก ชี้ไทยมีความเสี่ยงเช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะมีการเดินทางไป-มาพื้นที่ระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง แต่ไทยมีระบบการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคที่เข้มแข็ง สั่งเข้มข้นมาตรการเฝ้าระวังโรค ทั้งในโรงพยาบาลและชุมชน รวมทั้งให้การรักษาผู้ป่วยสงสัยขณะนี้ องค์การอนามัยโลกยังไม่มีข้อแนะนำจำกัดการเดินทาง แต่ให้หลีกเลี่ยงไปฟาร์มปศุสัตว์ เพิ่มการล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่การระบาดของโรค หลังกลับมาไทยแล้วมีอาการป่วยเป็นไข้ ไอ 2 วันไม่ดีขึ้น ให้พบแพทย์และแจ้งประวัติเดินทางไปต่างประเทศให้แพทย์ทราบด้วยทุกครั้ง

จากรณีที่องค์การอนามัยโลก รายงานเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ว่าได้รับรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขประเทศมาเลเซีย พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสเมิร์ส -โควี (MERS-CoV : Middle East Respiratory Syndrome -Coronavirus ) หรือโคโรน่าไวรัส 2012 รายแรกของประเทศ เป็นชายวัย 54 ปี หลังเดินทางไปที่เมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ระหว่างวันที่ 15-28 มีนาคม 2557 มีอาการป่วยเมื่อ 4 เมษายน 2557 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2557 ที่ผ่านมา  โดยผู้เสียชีวิตมีประวัติสัมผัสกับอูฐและดื่มนมอูฐด้วยนั้น

เกี่ยวกับความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว วันนี้ (18 เมษายน 2557) นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ข้อมูลการพบผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสเมอร์ส-โควี 2012 ที่ประเทศมาเลเซีย ประชาชนไทยควรติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่ต้องเดินทางหรือมีญาติเดินทางไปในพื้นที่การระบาด เนื่องจากประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อเช่นเดียวกับมาเลเซียและฟิลิปปินส์ และขอให้ตระหนักในการป้องกันโรค โดยไทยมีระบบการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคที่เข้มแข็ง และได้สั่งให้ทุกจังหวัดเข้มข้นมาตรการเฝ้าระวังโรค ทั้งในโรงพยาบาลและชุมชน รวมทั้งให้การรักษาผู้ป่วยสงสัยโดยขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียนบวก 3รวม 13ประเทศ มีระบบการเฝ้าระวังโรคติดต่อและใช้มาตรการควบคุมป้องกันโรคร่วมกัน ทำให้สามารถรู้สถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อต่างๆ ในประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างรวดเร็ว

นายแพทย์ณรงค์กล่าวว่า มาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขไทยดำเนินการจะยึดตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อจำกัดการเดินทางใดๆ โดยมุ่งเน้นการให้คำแนะนำแก่ประชาชนทั้งชาวไทยที่เดินทางไปที่ประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้ ในกลุ่มที่เดินทางเพื่อดำเนินธุรกิจ การท่องเที่ยว และประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ขอให้หลีกเลี่ยงการไปฟาร์มปศุสัตว์ ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยไข้หวัดหรือมีอาการปอดบวม หลังจากเดินทางกลับประเทศหากมีอาการไข้ ไอ เกิน 2วัน ขอให้พบแพทย์ได้ที่โรงพยาบาลรัฐและเอกชนทั่วประเทศ และแจ้งประวัติการเดินทางทุกครั้ง นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข มีระบบการเฝ้าระวังในกลุ่มนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางที่มาในประเทศไทยซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งที่ช่วยในการป้องกันควบคุมโรคได้

ในกลุ่มของบุคลากรทางการแพทย์ได้ให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชน เพิ่มระดับการเฝ้าระวังเข้มข้นในกลุ่มผู้ป่วยที่มีไข้และปอดบวมหรือปอดอักเสบร่วมด้วย ขอให้ซักประวัติการเดินทางทุกราย และแยกดูแลในห้องปลอดเชื้อ โดยใช้ระบบการป้องกันควบคุมการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาลตามมาตรฐานสากลอย่างเคร่งครัด ป้องกันการแพร่เชื้อสู่บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยอื่นๆ และญาติ รวมทั้งเก็บตัวอย่างเสมหะในลำคอส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งขณะนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สามารถตรวจยืนยันได้ ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จากกรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ สำนักระบาดวิทยา โดยได้ให้กรมการแพทย์ ทบทวนคู่มือแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคนี้ เพื่อเป็นมาตรฐานแก่แพทย์ทั่วประเทศแล้ว

ทางด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในวันนี้ กรมควบคุมโรคได้ประชุมผู้เชี่ยวชาญและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมปศุสัตว์ เฝ้าระวังการติดเชื้อในอูฐที่มีการเลี้ยงในไทยหลายแห่ง ไม่พบการติดเชื้อใดๆ ในส่วนของคำแนะนำเพื่อการเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อไวรัสเมอร์ส-โควี 2012 กรมควบคุมโรคจะเร่งดำเนินการให้คำแนะนำทางวิชาการที่เหมาะสม ให้แก่สายการบินระหว่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สถานกงสุลไทย และกระทรวงการต่างประเทศ โดยจะมีการติดตามสถานการณ์จากองค์การอนามัยโลกและภูมิภาคอย่างใกล้ชิด และขณะนี้ ยังไม่มีความจำเป็นต้องติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายเพื่อคัดกรองผู้เดินทางที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองเนื่องจากองค์การอนามัยโลกไม่แนะนำให้ใช้และมีประโยชน์ในการเฝ้าระวังโรคนี้น้อย

ทั้งนี้แนวทางการดำเนินงานและคำแนะนำต่างๆ จะมีการปรับปรุงเป็นระยะให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารที่เป็นปัจจุบันได้ที่เว็บไซต์ สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่http://beid.ddc.moph.go.thและสำนักระบาดวิทยา http://www.boe.moph.go.th กรมควบคุมโรค หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422