ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดลินิวส์ - การแพร่ระบาดของ 'โรคอันตรายร้ายแรง" เป็นข่าวครึกโครมอีกหน หลังพบว่ามีการแพร่ระบาดของ "โรคโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012" หรือ "เมิร์สคอฟ" ในหลายประเทศของทวีปเอเชียและยุโรป ซึ่งหลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดของ "เชื้อไวรัสโคโรน่า" ที่ว่านี้ ก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสดังกล่าว ณ วันเสาร์ที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมามากถึงกว่า 90 คน! ซึ่งตัวเลขจะหยุดอยู่แค่นี้? จะเพิ่มสูงขึ้นอีกหรือไม่? หรือจะอย่างไร? ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องตามดูกันต่อไป...ซึ่งก็รวมถึงประเทศไทย ที่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาแม้จะยังไม่มีรายงานว่าพบผู้ได้รับเชื้อไวรัสที่ว่านี้ แต่สถานการณ์ก็ยังไว้วางใจไม่ได้ ยิ่งยุคนี้เป็นยุค 'โลกไร้พรมแดน"ก็ยิ่ง 'ต้องเฝ้าระวังเข้ม"

และไม่เพียงเชื้อโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่ต้องเฝ้า

กับ 'เชื้อโรค-โรค" อื่น ๆ ก็ต้องเน้นระวังเช่นกัน

"โรคโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012"ที่ปรากฏเป็นข่าวฮือฮาหลังจากหลาย ๆ ประเทศตรวจพบว่ามีผู้ป่วยที่ติดเชื้อ และเบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตเกือบร้อยคนนั้น โรคนี้-โรคที่เรียกสั้น ๆ ว่า "เมิร์สคอฟ"นี้ มีต้นเหตุมาจากเชื้อก่อโรคคือไวรัสโคโรน่า ซึ่งทางสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคดังกล่าวนี้ไว้ว่า เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรน่าชนิด "อาร์เอ็นเอ สายเดี่ยว (single stranded RNA virus)" ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสในตระกูลCoronaviridae ทั้งนี้ เชื้อที่ว่านี้มีการพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2508 โดยจุดที่น่ากลัวคือ...

ติดต่อได้ทั้งในสัตว์ และในคน!!

กล่าวสำหรับอาการของโรค หลังจากที่ร่างกายได้รับเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 ผู้รับเชื้อจะมีไข้สูง เกิดอาการไอ หายใจหอบ จากนั้นจะเริ่มหายใจลำบากมากขึ้น และอาจจะมีภาวะปอดบวมเกิดขึ้นด้วย รวมถึงหลังได้รับเชื้อก็อาจจะส่งผลไม่ดีต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ระบบทางเดินอาหาร, ระบบประสาท และอาจจะเกิด "โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง" ซึ่งลักษณะอาการต่าง ๆ ที่ว่ามานี้ มีลักษณะคล้ายกับ "โรคซาร์ส" ที่เคยระบาดเมื่อหลายปีก่อนจนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งความคล้ายนี้ทำให้ทั่วโลกต้องผวา...

เมื่อ "เชื้อไวรัสโคโรน่า" อาละวาด!!

ทั้งนี้ เป็นที่น่าจับตา น่าติดตามข่าว ว่าเจ้า "โรคโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012" หรือ "เมิร์สคอฟ" นี้ จะเกิดการแพร่ระบาด ของเชื้อโรคออกไปกว้างไกลแค่ไหน?หากดีหน่อยคงจำกัด อยู่เพียงไม่กี่ประเทศ แต่ถ้าเกิดร้ายขึ้นมากกว่าที่คาดคิดไว้ ก็ น่ากลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคปัจจุบันที่เป็น 'โลกยุคไร้พรมแดน"

'โรค-เชื้อโรค" อาจ 'แพร่กระจายได้ง่าย"

อย่างกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคชนิดร้ายแรงที่สุดชนิดหนึ่งของโลก เชื้อ "ไวรัสอีโบล่า" ที่แพร่ระบาดในประเทศกินี ทวีปแอฟริกา เมื่อช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา นี่ก็เป็นกรณีตัวอย่างที่สำคัญ ซึ่งหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสชนิดนี้ หรือ "โรคไข้เลือดออกอีโบล่า" ในประเทศกินี เชื้อโรคนี้ก็ได้ "แพร่กระจายสู่ประเทศเพื่อนบ้าน" และแม้ภายหลังจะควบคุมหรือขีดวงเชื้อโรคดังกล่าวได้ ทว่าผลจากการระบาดของเชื้อโรคชนิดนี้ในรอบนี้ก็ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คน!! ในหลายประเทศซึ่งแม้แต่องค์การอนามัยโลกก็ยังผวา

นี่สะท้อนอีกแง่มุมของโลกยุคไร้พรมแดน...

จากทวีปแอฟริกา ตัดกลับมามองที่ประเทศไทย แม้จะห่างไกลจากประเทศที่ว่า อีกทั้งยังไม่เคยตรวจพบการแพร่ระบาดของ "เชื้อโรคร้าย-โรคอันตรายร้ายแรง" ดังที่ได้กล่าวมา แต่ก็ใช่ว่าจะวางใจได้ แม้จะยังไม่พบ "เชื้อไวรัสโคโรน่า" หรือไม่พบการเกิด "โรคอีโบล่า" แต่ก็ยังมีเชื้อโรค-โรคอีกหลายชนิดที่สุ่มเสี่ยง...

ทั้งช่วงนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเปิด "เออีซี"

อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.โสภณ เมฆธน เคยชี้ไว้ว่า...โอกาสที่ไทยจะเผชิญ 'โรคติดต่ออุบัติใหม่-โรคติดต่ออุบัติซ้ำ" ถือ ว่ามีความเป็นไปได้สูง โดยโรคระบาด โรคติดต่อต่าง ๆ ก็มีอาทิ โรคมือเท้าปาก, โรคไข้หวัดนก, วัณโรคชนิดดื้อยา, โรคไข้ปวดข้อยุงลาย, โรคเท้าช้าง, โรคไข้เลือดออก, กาฬโรค เป็นต้น

กับผลสืบเนื่องที่อาจเกิดขึ้นจาก "เออีซี" โดยคาดไม่ถึง คือประเด็น 'ปัจจัยเสี่ยง"ที่อาจเกิดจาก การเคลื่อนย้ายของประชากรของประเทศกลุ่มเออีซี ที่จะสามารถเคลื่อนย้ายกันได้อย่างเสรีมากขึ้น ทั้งในกลุ่มนักท่องเที่ยว แรงงาน และ อาจรวมถึงผู้ติดเชื้อโรคร้ายโรคอันตรายร้ายแรง และไหนยังจะมีปัจจัยอื่น ๆ อาทิ การเคลื่อนย้ายของสัตว์, พืช, อาหาร ตลอดจนความคล่องตัวด้าน การคมนาคมขนส่ง ที่จะมีมากขึ้น

ประเด็นปัจจัยเสี่ยงดังที่อธิบดีกรมควบคุมโรคชี้ไว้ เป็นประเด็นที่ไทย ทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนโดยทั่วไป ไม่อาจมองข้าม ซึ่งในส่วนของประชาชนก็ควรต้องปฏิบัติตามที่หน่วยงานรัฐแนะนำ

ก่อนอื่น 'ไม่แตกตื่นจนเกินเหตุ" นี่ก็สำคัญ

แต่ก็ต้องตามมาด้วย 'ใส่ใจป้องกันตนเอง"

ประตูโลกเปิด 'ประตูโรค" ก็เปิดตามด้วย!!.

ที่มา--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 22 เม.ย. 2557 (กรอบบ่าย)--

เรื่องที่เกี่ยวข้อง