ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดลินิวส์ -โอกาสหายจากโรคมะเร็งเต้านมค่อนข้างสูงหากค้นพบใน ระยะต้น ๆ แต่อย่างที่รู้บางครั้งเมื่อค้นพบแล้วขั้นตอนการรักษาต้องล่าช้าเนื่องด้วยคิวการผ่าตัด คิวรอให้เคมีบำบัดต่างล่าช้า โดยเฉพาะในโรงพยาบาลของรัฐบาลเพราะหมอและเครื่องมือในการรักษายังไม่เพียงพอต่อคนไข้ แต่ภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องท้าทายการทำงานของโรงพยาบาลในเขตพื้นที่ 4 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (รพ.ศรีนครินทร์ รพ.ขอนแก่น จ.ขอนแก่น รพ. มหาสารคาม รพ.กาฬสินธุ์ และรพ.ร้อยเอ็ด) โดยได้ริเริ่มจัดตั้งเครือข่ายดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแบบช่องทางด่วน ( Fast Tract) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 7 ขอนแก่น เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้รับการรักษาโดยเร็ว

นพ.ฉันทิชย์ พูลลาภ ศัลยแพทย์ดูแลเรื่องมะเร็ง รพ. ร้อยเอ็ด ให้ข้อมูลว่า โดยหลักการการรักษามะเร็งเต้านมนั้นเมื่อตรวจเมมโมแกรมแล้วหลังจากพบว่ามีก้อนเนื้อ จะเข้าสู่กระบวนการผ่าตัดหลังจากนั้นให้เคมีบำบัด แต่ขั้นตอนที่ล่าช้าคือการตรวจด้วยเครื่องเมมโมแกรมใน รพ.ร้อยเอ็ดคนไข้ต้องใช้เวลารอคิวตรวจ 2 เดือน รพ.ศรีนครินทร์ใช้เวลา 1 ปีครึ่ง ส่วน รพ.กาฬสินธุ์ รพ.มหาสารคามใช้เวลา 2-3 เดือน สำหรับโครงการนี้ตั้งเป้าว่าคนไข้ต้องสามารถตรวจเมมโมแกรมได้ภายใน 2 สัปดาห์หลังจากแพทย์วินิจฉัยแล้ว หลังจากได้ผลตรวจเมมโมแกรมแล้วจะทำการตรวจชิ้นเนื้อ ที่ผ่านมาการตรวจชิ้นเนื้อใช้เวลา 1 เดือน ถือว่าค่อนข้างช้า สุดท้ายจึงได้ข้อสรุปว่าทั้ง 4 โรงพยาบาลต้องรายงานผลการตรวจชิ้นเนื้อภายใน 2 สัปดาห์ คิวผ่าตัดต้องได้ภายใน 1 เดือน (จากเดิม 2-3 เดือน)

" ที่ผ่านมาไม่ได้คุยกันในพื้นที่เขต 7 ทำให้มีปัญหาเกิดขึ้นเมื่อมีระบบ Fast Tract ขอความ ร่วมมือให้เปิดการตรวจเมมโมแกรมนอกเวลาราชการ"

หลังจากริเริ่มโครงการมา 3 เดือนมีระบบการทำงานที่ชัดเจนสามารถตรวจเมมโมแกรมคนไข้ได้แล้ว 136 ราย คนไข้ที่ต้องตัดชิ้นเนื้อ 22 ราย และ 18 รายได้รับการผ่าตัดและ 15 รายได้รับเคมี ซึ่งขณะนี้มีแพทย์ที่ผ่าตัดมะเร็งได้ 5 คน โดยคนไข้ที่อยู่ในระบบประกันสุขภาพแบบบัตรทองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา แต่ทั้งนี้อยู่ภายใต้กรอบค่ารักษาที่สปสช.วางไว้ อาทิ ค่าเมมโมแกรม 3,000 บาท ค่าตรวจชิ้นเนื้อ 4,400 บาท ค่าผ่าตัด+ค่านอน รพ. 40,000 บาท และค่าเคมีบำบัด 8,000 บาท (6 ครั้ง)

นพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษก สปสช. กล่าวว่า การคัดกรองแล้วนำมารักษาก่อนโรคจะลุกลามเป็นสิ่งที่สปสช.ต้องการทำในหลาย ๆ โรค ที่ผ่านมาเคยทำแล้วเป็นรูปธรรมคือโครงการสโตรก Fast Tract ผู้ป่วยอาการเส้นเลือดในสมองตีบ หากพบแล้วให้ยาละลายลิ่มเลือดภายใน 3 ชั่วโมงผู้ป่วยจะไม่มีความพิการ มะเร็งก็เช่นกัน แต่ผู้หญิงมีจุดอ่อนคือมะเร็งปากมดลูกและมะเร็ง เต้านม ดังนั้นสิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดตอนนี้คือวัฒนธรรม ไทยที่ยังอายในการตรวจภายใน ซึ่งการคัดกรองมะเร็งเต้านมตั้งแต่ต้นแล้วเข้าสู่การรักษาจะช่วยป้องกันไม่ให้โรคลุกลาม ขณะที่โรงพยาบาลในเขต 7 ได้จัดเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายและลูกข่ายโดยโรงพยาบาลแม่ข่ายคือ รพ.ศรีนครินทร์ และ รพ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นรพ.โรงเรียนแพทย์ จะไปให้ความรู้ลูก ข่ายคือรพ.มหาสารคาม ร้อยเอ็ด รพ.กาฬสินธุ์ เช่นเมื่อ ไปคัดกรองแล้วเจอผู้ป่วยจะส่งต่ออย่างไร จากนั้นจะประสานไปยัง รพ. ชุมชนในพื้นที่หลังจากได้รับความรู้เรื่องการ ตรวจแล้วจะมีใบส่งต่อไปยังโรงพยาบาลแม่ข่ายให้การรักษาได้ทันที

นพ.อรรถพร กล่าวว่าคนที่ป่วยเป็นมะเร็ง คนส่วนใหญ่คิดว่าต้องตาย พิการ ไม่สามารถทำงานได้หากคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ ผู้ป่วยมะเร็งไม่สามารถสร้างจีดีพีได้นอกจากนั้นจีดีพีที่คนอื่นสร้างไว้ต้องถูกดึงมาเป็นค่ารักษา ดังนั้นการดูแลผู้ป่วยได้ในระยะต้นทำให้เขาสร้างจีดีพีได้ในต่อไป

มะเร็งที่เป็นปัญหาและพบมากในผู้หญิงไทยและผู้หญิงทั่วโลกคือ มะเร็งเต้านม แม้ว่าประเทศไทยจะมีสถิติการพบน้อยกว่ามะเร็งปากมดลูก แต่เมื่อเปรียบเทียบการเสียชีวิตกลับสูงเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งจากข้อมูลสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านมอยู่ที่ 8.4 ต่อแสนประชากร

ขณะที่อัตราการเสียชีวิตของมะเร็งปากมดลูกอยู่ที่ 5.4 แสนต่อประชากร และทุก 2 ชม.จะพบว่ามีสตรีไทยเสียชีวิตด้วยมะเร็งเต้านม 1 คนและมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่มา--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 22 เม.ย. 2557 (กรอบบ่าย)--