ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน - ในอนาคตอันใกล้ แรงงานไทยจะก้าวเข้าสู่วัยเกษียณอายุจำนวนมากพร้อมๆ กัน อันเป็นผลมาจากประชากรยุค Baby Boom ทำให้รัฐต้องแบกภาระในการจัดหาสวัสดิการสังคมให้กับผู้สูงอายุที่มีลักษณะเป็นครอบครัวเดียว ไม่สมรสหรือคู่มีการหย่าร้างมีจำนวนสูงขึ้น ทำให้แรงงานวัยเกษียณบางส่วนต้องพึ่งเงินจุนเจือและสวัสดิการจากรัฐบาล

เงื่อนไขสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพเกิดขึ้นเมื่อผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 180 เดือน (15 ปี) เมื่อผู้ประกันตนลาออก มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นผู้ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย หากจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพจำนวนเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบและหากจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพพร้อมผลประโยชน์ตอบแทนตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด หากผู้นั้นถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับตั้งแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับคราวสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือนมีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเดือนละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย และปรับเพิ่มอัตราบำนาญชราภาพขึ้นอีกในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุน 12 เดือน

กองทุนประกันสังคม ณ ปี พ.ศ.2554 มีเงินสำรองซึ่งเป็นเงินออมจากผู้ประกันตนทั่วประเทศเพื่อจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพจำนวน 785,126 ล้านบาท ที่สำนักงานประกันสังคมจะเริ่มมีการจ่ายบำนาญชราภาพในปีนี้ แต่มีการคาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ.2581 เงินสำรองจะเริ่มติดลบและในปี พ.ศ.2590 เงินสำรอง ณ วันสิ้นปีจะหมดลงในที่สุด

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวผู้เขียนได้ทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องรูปแบบสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพของต่างประเทศ 7 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศเยอรมนี สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย และฟิลิปปินส์ สรุปได้ว่า มีการขยายการเกษียณอายุสูงสุดที่ 66 ปี ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และออสเตรเลีย (เพศชาย อายุ 66 ปี เพศหญิง อายุ 60 ปี) มีการขยายการเกษียณอายุต่ำสุดที่ 63 ปี คือประเทศเยอรมนี ทั้งนี้สิทธิประโยชน์กรณีชราภาพมีทั้งเงินสำรอง/เงินสะสมครอบคลุมพนักงานรัฐและภาคเอกชน ยกเว้น ข้าราชการพลเรือน ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศญี่ปุ่นและออสเตรเลียมีการตั้งกองทุน ประเทศอินเดียใช้แผนบำนาญ (Pension scheme) นอกจากนี้ประเทศเยอรมนีโดยรัฐบาลกลางได้จ่ายเงินอุดหนุนให้แก่สถาบันการประกันร้อยละ 1 ของรายได้จากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ประเทศญี่ปุ่นเพิ่มเงินสะสม ลดประโยชน์สวัสดิการและสนับสนุนโดยจัดตั้งหน่วยงานการบริการทางด้านบำนาญแห่งญี่ปุ่น ประเทศออสเตรเลียกำหนดให้นายจ้างให้โบนัสผู้สูงอายุที่ยังทำงาน และประเทศฟิลิปปินส์ มีการจัดตั้งคณะกรรมการทบทวนข้อกำหนดการเกษียณอายุของประเทศ จัดตั้งบัญชีเกษียณบุคคลเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางการเงินกับผู้สูงอายุ

ดังนั้น การเกษียณอายุ ที่ควรจะเป็นของประเทศไทยจากการทบทวนวรรณกรรม คือ 66 ปี ครอบคลุมพนักงาน/ลูกจ้างภาครัฐและภาคเอกชน (ยกเว้นข้าราชการ) โดยกำหนดระดับเงินบำนาญสุทธิไม่ต่ำกว่าร้อยละ 64 ของรายได้ขั้นต่ำต่อเดือนเช่น 300 บาท x 30 วัน x 0.64 = 5,760 บาท หากเกษียณอายุก่อนกำหนด ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญลดลงตามสัดส่วนของจำนวนปีและจำนวนเงินที่ส่งสมทบและ รัฐบาลควรจ่ายเงินอุดหนุนเพิ่มแก่กองทุนร้อยละ 1 ในทุก 2 ปี จากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม

จากการคำนวณพบว่า สถานะการเงินของกองทุนชราภาพจะเริ่มขาดทุนในปี พ.ศ.2582

จากการคำนวณสะท้อนให้เห็นว่า การขยายระยะเวลาการเกษียณอายุ จากอายุ 60 ปี เป็น 65 ปี และ 70 ปี ประกอบกับการนำรายได้อื่นๆ นอกเหนือจากเงินเดือน (เช่น ค่าอาหาร ค่ากะ เป็นต้น) มาคำนวณรวมเงินสมทบเพื่อให้กองทุนมีรายรับมากขึ้น แต่จากการคำนวณพบว่าการจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนก็จะมีสัดส่วนที่สูงขึ้น ซึ่งใกล้เคียงกับรายงานผลการศึกษาของ Deloitte & Touche Consulting Group, Thailand ปี พ.ศ.2542 ศึกษาโดยใช้ PROST MODEL คำนวณพบว่ากองทุนจะล้มละลายในปี พ.ศ.2589

นอกจากนี้ยังพบว่ารายได้ที่ผู้ประกันตนได้รับหลังเกษียณอายุอยู่ในระดับต่ำมาก จากการศึกษาของ ADB (ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ Asia Development Bank) พบว่ารายได้ที่เพียงพอหลังเกษียณอายุควรอยู่ในระดับร้อยละ 30-50 ของเงินเดือนก่อนเกษียณ เพราะผู้ประกันตนส่วนมากมีรายจ่ายเฉลี่ยต่อเดือน สูงกว่า เงินบำนาญที่จะได้รับ ซึ่งอาจจะไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่อเดือนได้อย่างเพียงพอ และผลการศึกษาพบว่าผู้ประกันตนส่วนมากต้องการใช้เงินบำเหน็จเมื่อเกษียณอายุจากการทำงานคิดเป็นร้อยละ 51.56 อาจเนื่องจากต้องการนำเงินบำเหน็จซึ่งเป็นเงินก้อนมาใช้ในการลงทุนทำกิจการค้าขายหลังการเกษียณอายุจากการทำงาน

ดังนั้น สำนักงานประกันสังคมควรร่วมมือกับสถาบันการเงินจัดรูปแบบสินเชื่ออัตราพิเศษสำหรับผู้ประกันตน เพื่อเป็นทางเลือกการออมให้กับผู้ประกันตนในเบื้องต้น ควรเพิ่มอัตราเงินสมทบแบบขั้นบันไดกับผู้ประกันตนรายใหม่ ภายใต้การยอมรับทั้งของผู้ประกันตนและสถานประกอบการ และควรนำเงินกองทุนไปลงทุนในสถาบันการเงินที่มีผลตอบแทนสูงขึ้นกว่าในปัจจุบันภายใต้การจัดการโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการ ทั้งนี้จะต้องศึกษาวิจัยในรายละเอียดต่อไป

อย่างไรก็ตาม การขยายเกษียณอายุของสถานประกอบการในแต่ละประเภทกิจการและในแต่ละบุคลากรของสถานประกอบการมีศักยภาพแตกต่างกัน ด้านศักยภาพในการทำงานและสำนักงานประกันสังคมควรประชาสัมพันธ์ในเชิงสร้างสรรค์และจูงใจในการปรับอัตราเงินสมทบและการขยายเกษีณอายุเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องก่อนเริ่มดำเนินการ อันจะเป็นการป้องกันความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องและลดผลกระทบในการต่อต้านหรือการไม่ยอมรับทั้งผู้ประกันตนและสถานประกอบการต่อไป

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 22 เม.ย. 2557 (กรอบบ่าย)--