ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ชี้การคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารภาคใต้ต้องปฏิรูปขนานใหญ่ เสนอรัฐเร่งทำคลอดองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค หลังสำรวจพบ 1 ใน 3 ขนมเด็กหน้าโรงเรียนมีปัญหาด้านฉลาก แถมฉลากอาหารฮาลาลมีปัญหามาก

วันที่ 23 เมษายน 2557 ณ โรงแรมไดอิชิ หาดใหญ่ จ.สงขลา เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ได้จัดโครงการ เวทีสาธารณะเพื่ออาหารปลอดภัยภาคใต้ครั้งที่ 3 ระหว่างเวลา 8.30 – 16.00 น. มีผู้เข้าร่วมจำนวน 50 คน โดยมีเนื้อหาหลักในเวทีคือการนำเสนอสถานการณ์ปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารของภาคใต้ใน 3 ประเด็นคือ ฉลากอาหาร การโฆษณาผิดกฎหมาย และการแสดงเครื่องหมายฮาลาล
หนึ่งในสามของขนมเด็กหน้าโรงเรียน ฉลากห่วย

นางสาวสิรินนา เพชรรัตน์ ผู้ประสานงานโครงการบริโภคสร้างสรรค์ สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จากการสำรวจฉลากของขนมเด็กที่จำหน่ายหน้าโรงเรียนในจังหวัดสงขลาและสุราษฎร์ธานีระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2557 จำนวน 272 รายการ พบว่ากว่า 1 ใน 3 ของฉลากทั้งหมดที่สำรวจมีปัญหาการแสดงข้อมูลบนฉลากไม่ครบถ้วน ไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 194 เรื่องฉลากอาหาร ปี พ.ศ. 2543 เช่นพบว่ามากถึงร้อยละ 42.3 ไม่แสดงวัน เดือน ปีที่หมดอายุของผลิตภัณฑ์ แสดงเลขที่อย.อันเป็นเท็จหรือตรวจสอบไม่ได้ กว่าร้อยละ 33.5 ซึ่งเป็นปัญหาอย่างยิ่ง และอาจก่อให้เกิดอันตรายกับผู้บริโภคได้
สารพันปัญหาฉลากอาหารฮาลาล

นางกัลยทรรศ์ ติ้งหวัง ผู้ประสานงานเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสตูล กล่าวว่าจากการสำรวจอาหารฮาลาลของเครือข่ายอาสาฯ พบปัญหาของอาหารฮาลาลมากมาย เช่น มีการแสดงเครื่องหมายฮาลาลปลอม ทั้งเครื่องหมายดาวเดือน และฮาลาลที่ไม่อยู่ในสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ไม่แสดงวันหมดอายุของเครื่องหมายฮาลาล หรือแสดงวันหมดอายุของเครื่องหมายที่มีขนาดเล็กจนมองไม่เห็น นอกจากนี้ยังพบว่าผู้บริโภคไม่ทราบว่าจะร้องเรียนปัญหาเหล่านี้กับหน่วยงานใด นอกจากนี้การเข้าร่วมเป็นประชาคมอาเซียนจะเป็นปัจจัยหลักที่อาจกระทบต่อความปลอดภัยในการบริโภค ดังนั้น ภาครัฐต้องผลักดันให้เกิดมาตฐานอาหารฮาลาลของประเทศที่ชัดเจนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคทั้งหลาย
โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายยังเกลื่อน

นางสาวจุฑา สังขชาติ เลขาธิการสมาคมผู้บริโภคสงขลา กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสถานีวิทยุและทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี ในจังหวัดสงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 1 – 20 เมษายน 2557 แบ่งเป็นสถานีวิทยุจำนวน 5 สถานี และทีวีดาวเทียม 1 ช่อง ในจังหวัดสงขลา กับ สถานีวิทยุจำนวน 6 สถานี กับ เคเบิลทีวี 3 ช่อง ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และทีวีดาวเทียม 1 ช่อง ของจังหวัดสตูล พบปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารหรือเครื่องสำอางค์ ที่ทำให้เชื่อว่ารักษาโรคได้ ทำให้สวย ทำให้ผอม หรือแม้กระทั้งรักษาการติดยาเสพติด ผลิตภัณฑ์ยาที่โฆษณาเกินกว่าสรรพคุณที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นอกจากนี้ยังมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมสมรรถภาพทางเพศอย่างแพร่หลายและมีรูปประกอบที่ล่อแหลมต่อการผิดกฎหมาย เช่น โฆษณาผลิตภัณฑ์เฮง เฮง บนทีวีดาวเทียมทางช่องสกายเวิร์ล รายการเรดรูม : ห้องร้อน ลีลารัก, ผลิตภัณฑ์ดับเบิลแม็กซ์ทางเคเบิลทีวีสถานี CTH MOVIE HITS ช่อง 34 รายการ สุขภาพดีกับสมุนไพร ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายผ่านสื่อดังกล่าว หน่วยงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ต้องเชื่อมประสานร่วมกับกสทช.เขต เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์

จากปัญหาทั้งหมดที่นำเสนอชี้ให้เห็นว่าการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารในปัจจุบันมีความอ่อนแอทั้งในส่วนการดำเนินการของภาครัฐ เอกชน และผู้บริโภค เครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้จึงเห็นความจำเป็นที่ต้องมีการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารในภาคใต้ขนานใหญ่ จึงมีข้อเสนอต่อรัฐและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องดังนี้

1.ให้รัฐบาล และสภาผู้แทนราษฏรเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. …ที่ผ่านการพิจารณาจากวุฒิสภาแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีกลไกการตรวจสอบการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของภาครัฐ เป็นตัวแทนของผู้บริโภคในการร่วมกำหนดนโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนสนับสนุนผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคให้มีความเข้มแข็งในการดูแลตนเอง

2.ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพิ่มเติมเนื้อหาใน (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องฉลากอาหารฉบับใหม่ ดังนี้
- บังคับให้มีการแสดงวันหมดอายุของอาหารที่เป็นภาษาไทย โดยเรียงลำดับเป็น วัน เดือน ปี เท่านั้น
- ยกเลิกคำว่าควรบริโภคก่อน และใช้เฉพาะคำว่า “วันหมดอายุ” เท่านั้น เพื่อป้องกันปัญหาการสับสนของผู้บริโภค
- ให้มีการแสดงคำเตือนของอาหารที่มีส่วนประกอบของสารที่อาจก่อภูมิแพ้
- ให้มีการแสดงส่วนประกอบของอาหารที่มาจากการตัดต่อ/ดัดแปรพันธุกรรม (GMOs)
และต้องเร่งรัดการออกประกาศดังกล่าวเพื่อการคุ้มครองผู้โภคที่ดียิ่งขึ้น

3.เร่งรัดพัฒนาระบบเตือนภัยอาหารไม่ปลอดภัย (Rapid Food Alert System)

4.สร้างระบบการเชื่อมโยงกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคระหว่างรัฐกับประชาสังคมที่เป็นรูปธรรม

5.ปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการบังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะเรื่องการควบคุมโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ

ทั้งนี้ ที่ประชุมของเครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้จากเวทีดังกล่าว ได้กำหนดพันธกิจร่วมกันในการให้ความรู้และเสริมสร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิผู้บริโภคด้านอาหารตลอดจนความรู้ ความเข้าใจเรื่องฉลากและเท่าทันโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพให้แก่ผู้บริโภคในภาคใต้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้บริโภคต่อไป