ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในที่สุดก็พอจะได้ข้อสรุปไปบ้างแล้วว่า เหตุใด้การบรรจุข้าราชการรอบสองของสธ. จำนวน 7,547 ตำแหน่ง ถึงไปไม่ถึงฝั่งฝัน ทั้งที่สิ่งที่ควรจะเป็นคือ น่าจะมีความชัดเจนตั้งแต่ก่อนสิ้นปีงบประมาณ 56 เพื่อที่จะได้บรรจุได้อย่างเป็นทางการในต้นปีงบประมาณ 57

แม้ทางสธ.จะออกมาให้เหตุผลว่า เป็นเพราะติดขัดที่เป็นรัฐบาลรักษาการ จึงทำให้เรื่องยังค้างเติ่งอยู่ และต้องรอไปจนกว่าจะมีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม แต่เบื้องหลังของคำอธิบายนี้ คือ การที่สธ.ไม่สามารถทำแผนการบริหารจัดการอัตรากำลังของสธ.ได้ตรงกับที่ก.พ.ต้องการ เมื่อตอนก.ย.56 จนเป็นเหตุให้ถูกก.พ.ตีกลับมา และกว่าจะทำให้เสร็จ เวลาก็ล่วงเลยมาถึง เม.ย. 57 ซึ่ง ณ เวลานั้น ก็ผ่านล่วงเลยการยุบสภาตั้งแต่ 9 ธ.ค.56 มากว่า 4 เดือน

ประเด็นของเรื่องนี้ทั้งหมด จึงคือ ทำแผนช้า บางคอมเม้นท์ใน social media หลังจากนพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รักษาการรมว.สธ.เปิดใจกับสำนักข่าว Health focus เกี่ยวกับความล่าช้าของการบรรจุข้าราชการสธ. ถึงกับว่ากันว่า แผนแรกที่ส่งไปให้ก.พ.ในช่วงเวลาเฉียดฉิว ก.ย.56 นั้น มีแค่ใบแปะหน้ากับเอกสารอีก 6 แผ่นเท่านั้น ขณะที่คำตอบของรองปลัดสธ.นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ ที่ตอบคำถามสื่อมวลชนว่าทำไมจึงถูกก.พ.ตีกลับมา คือคำว่า ก.พ.ไม่ชอบ ก่อนจะอธิบายตามข่าวนี้ (ดูที่นี่) และเป็นเหตุให้สารนิเทศสธ.ต้องออกข่าวชี้แจงตามมา (ดูที่นี่)

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องการทำงานไม่มีประสิทธิภาพของฝ่ายบริหารในสธ. ไม่ใช่เรื่องใหม่ คนวงในรู้ดีว่า แกนอำนาจของสธ. ในยุคปลัดณรงค์ สหเมธาพัฒน์ เรืองอำนาจนั้น ไม่ใช่มือทำงาน คนแวดล้อมปลัด ไม่มีความจัดเจนเรื่องยุทธศาสตร์ งานวิชาการ และแม้กระทั่งการเตรียมข้อมูลวิชาการ เรียกได้ว่า กุนซือรอบตัวไม่มีประสิทธิภาพ

อาศัยแต่ว่า สารนิเทศสธ. เป็นทีมประชาสัมพันธ์ที่แข็งแกร่ง จึงขยันมีข่าวได้ทุกวัน แต่การปฏิบัติจริงตรงกันข้าม ซึ่งตรงนี้พิสูจน์ได้ เช่น การบรรจุลูกจ้างเป็นพกส. ที่แม้จะออกข่าวใหญ่โต พาดหัวข่าวลูกจ้างเฮ แต่ความจริงคือไม่เฮ เพราะล่าสุดพยาบาลที่รพ.ลำปาง(ดูที่นี่)ถึงกับต้องออกมาประท้วงเรียกร้องให้จ่ายเงินเดือนพกส.ให้เท่ากับที่ออกประกาศไป เพราะได้ค่าตอบแทนต่ำกว่าที่ประกาศ

ดังนั้น สำหรับเหล่าบรรดาลูกจ้างชั่วคราวสธ. ที่รอความหวังจะได้บรรจุข้าราชการในรอบสองนั้น ถึงวันนี้ก็คงชัดเจนแล้วว่า เรื่องของเรื่องคือ การทำแผนที่ไม่มีประสิทธิภาพ จนนถูกก.พ.ตีกลับคืนมา และในการแก้ไขทำแผนใหม่ ก็ใช้เวลานาน กระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ยุบสภา 9 ธ.ค.56 ก็ยังไม่แล้วเสร็จ มาเสร็จจนส่งแผนให้ได้ ก็เมื่อ วันที่ 3 เม.ย.57 ตามหนังสือสป.สธ. ที่ สธ 0201.032/763 ลงวันที่ 3 เม.ย.57 ขณะที่สายงานแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร ก็เพิ่งส่งให้สธ. ตามหนังสือสป.สธ. ที่ สธ 0201.032/893 ลงวันที่ 23 เม.ย.57 นี้เอง

ซึ่งแน่นอนว่า ช่วงเวลาที่การเมืองไม่ปกติ ยังไม่รู้ว่าจะเดินไปในทิศทางไหนนี้ ชะตากรรมของลูกจ้างชั่วคราวที่รอคอยการบรรจุก็ยังต้องรอคอยอย่างไม่รู้อนาคตต่อไป

และนี่เป็นประเด็นที่น่าเสียใจและน่าเห็นใจที่สุดของเหล่าบรรดาคนทำงานด้านสาธารณสุข ที่เราต่างรับรู้ตระหนักกันดีว่า พวกเขาต้องทำงานหนักเพียงไร ขณะที่ต้องทนอยู่กับค่าจ้าง และสวัสดิการที่ไม่คุ้มค่า มีเพียงความหวังว่าจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการเท่านั้น ที่เป็นแรงจูงใจ

และพลันที่ สำนักข่าว Health Focus เผยแพร่สาเหตุของความล่าช้าของการบรรจุข้าราชการจากปากคำของหมอประดิษฐ (ดูที่นี่) ก็พบว่า มีหลาย comment ท้ายข่าวตาม Facebook ที่ได้แชร์ข่าวกันไป ที่น่าสนใจ และได้สะท้อนนัยยะสำคัญของปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลในกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นปัญหาหมักหมม เรื้อรัง ที่นาทีนี้คงต้องบอกว่า เหมือนภูเขาไฟเดือด ที่กำลังรอคอยการปะทุอยู่ในเร็ววันนี้  

บางความเห็น ก็สะท้อนความน้อยอกน้อยใจ ที่รู้สึกว่าชีวิตผิดพลาดที่เลือกเดินทางสายนี้ บ้างก็แนะนำให้ สธ.ปฏิรูปกระทรวงก่อนจะไปปฏิรูปประเทศ บ้างก็เสนอให้ สธ.แยกออกจากก.พ.เสีย

และต่อไปนี้ นี่เป็นบางส่วนของความคิดเห็นจากลูกจ้างชั่วคราวสธ. ที่ว่ากันว่า พวกเขานี่แหละ คือคนชายขอบของสธ.ตัวจริง ที่แม้จะมีคนมองเห็น แต่ก็เป็นการมองเห็นที่ไม่ใส่ใจจะรับฟังปัญหาและจัดการ ยังไม่นับความรู้สึกเหลื่อมล้ำ และน้อยเนื้อต่ำใจระหว่างสายสนับสนุน และสายวิชาชีพ และระหว่างสายวิชาชีพ ด้วยกันอีกด้วย

“R.I.P. ไว้อาลัยกระทรวงนี้ ผู้ใหญ่ไม่ได้สนใจลูกน้องตัวเองบ้างเรย ทำไมคุณจะผลิตมาเพื่อ?? ถ้าไม่ดูแล นร.ทุน มีไว้ใช้จริงๆ มีไว้หลอกใช้ภาระงานที่หนัก เงินเดือนน้อย ปรับพกส. แล้วเงินเดือนก็ไม่ขึ้นตามกรอบ ใบประกอบวิชาชีพไม่มี ‪#‎รู้ว่าทำงานทางนี้ไม่มีวันรวย แต่ก็ทำเพื่ออะไร ถ้าไม่ใช่เพราะสวัสดิการข้าราชการที่มันควรจะได้บ้าง ถึงวันนี้พร้อมที่จะไปยืนตากแดดหน้ากระทรวง มันมากเกินไปแล้ว ถ้าคุณทำไม่ได้ก็ออกไป ให้คนอื่นมาทำซะ!!!!”

“บอกแล้ว ถ้าเป็นคนดีจริง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องแน่ แต่นี่เปล่าเลย”

“จบแล้ว การบรรจุ "ลูกจ้างชั่วคราว"

ลา ออก จบป่ะ.

น่าเห็นใจน้องๆที่ยังไม่ได้บรรจุ

ฝันสลาย

ระเบิดเวลาทั้ง สธ และ สพฐ อะไรจะเลวร้ายปานนั้น เสียใจกับผู้เสียสละทั่วประเทศ โอกาสใช้สิทธิเลือกตั้งคราวหน้าคงต้องแสดงพลัง

ไม่รักษาคำพูดเลย..

ตาสว่างกันรึยังพี่น้อง พรุ่งนี้ไม่มีจริง

กรรมมันตกที่ใคร???

ความผิดใครหนิ เราใช่ไหมที่เลือกทางเดินนี้

ผู้บริหารมันก็ได้แค่นี้

งานหนัก เงินน้อย ไม่เห็นอนาคต

ตำแหน่งไม่มีให้บรรจุ แล้วผลิตทำไมทุกปี ดีมานกับซัพพลายน่าจะดุลกัน

แปลกแต่จริง กระทรวงระดับมันสมอง งบกระเด็นไปทาง(สปสช.) หน้าืั้ที่ตำแหน่งกระเด็นไปทาง(กพ.) ทำไมไม่หัดตั้ง กส. ของตัวเองซะมั้ง มัวทะเลาะกันยังกับเด็กอมมือ HI IQ HI IDIOT อย่าบอกว่ามีทฏษฎีนี้มีจริงนะครับ โถ โถ

เพิ่งไปประชุมที่ คร. มาวันนี้... มีพาดพิงมาถึงเรื่องนี้ด้วย... มันยาวมาก สรุปสั้นๆได้ว่า ปลัด ไม่ได้งี่เง่า ไม่ได้โง่ และไม่ได้ลอยตัวเหมือนที่เข้าใจกันครับ มันซับซ้อนมาก และปลัดก็ไฟท์เยอะมาก เพียงแต่ไม่ได้สื่อสารให้รู้เท่านั้นเองครับ

ผลิดมาใช้งาน โดยไม่รับประกันความมั่นคงอะไรเลย

ผลิตเยอะมากแต่ละปี แต่บ่มีตำแหน่งมาบรรจุให้ เลิกผลิดเหอะถ้างั้น สงสารทั้งตัวเองและน้องๆที่กำลังเรียน

เป็นแค่ใบปะน้ากับเอกสารอีก6แผ่นสินะ

ไม่เข้าใจว่าทำไม สธ. ไม่ออกจาก กพ.????!!!!!!

เห็นด้วยกับความเห็นข้างบนครับ หาทางออกจาก กพ. เถอะ กระทรวงสาธารณสุขมีบุคลากรมาก เทียบกับ องค์กรที่ไม่ได้ขึ้นตรงกับ กพ. ได้สบาย ไม่ว่าจะเป็น ตำรวจ ทหาร ข้าราชการครู ก็มีบุคลากรไม่ต่างกัน

อันนี้ลองวิเคราะห์ดูว่าถูกหรือเปล่านะครับ มีหลายคอมเม้ น ที่แสดงความคิดเห็นมาแล้วจี๊ดเลย มันต้องอยู่กับข้อมูลที่เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องได ก็ติดหมดครับ เพราะ สธ. ไม่ได้มีอำนาจอะไรเลย เกี่ยวกับเรื่องการบรรจุบุคลากร กพ. เป็นคนกำหนดอัตรา ซึ่ง กพ. ไม่เข้าใจว่าความจริงบุคลากร มันไม่พอจริง ๆ หรือ รู้แต่ทำเป็นไม่รู้ ไม่เห็นความสำคัญของในจุดนี้ แต่คนที่ทำงานจริงแทบตาย มันหนัก กพ. ไม่เห็นความสำคัญ เพราะ มันไม่ใช่ผลกระทบของตัวเอง อันนี้เรื่องจริงนะครับ รพ.ชุมชน ตั้งขึ้นใหม่บางแห่งเจ้าหน้าที่น้อยมากไม่พอแน่นอน เห็นได้ชัดเจนมาก แล้ว กพ. ก็เฉย ๆ อย่างงั้นหรอ ครับ

กระทรวงเรามันไม่ได้มีระบบ HR ที่ดี ไม่ใช่เฉพาะปัญหาเรื่องการบรรจุอย่างเดียวนะครับ แรงจูงใจเจ้าหน้าที่ ความก้าวหน้าในสายงาน ตรงนี้ก็ห่วยไม่แพ้กัน เดี่๋ยวก็ทะเลาะกันเองในกระทรวง ค่าตอบแทนต่าง ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ ทำงานร่วมกันเป็นทีม ทำเหมือน ๆ กัน เหนื่อยเหมือนกัน ค่าตอบแทนไม่เท่ากัน รับตามตำแหน่ง เป็นต้น ความก้าวหน้ายิ่งห่วยเข้าไปหนัก ผมอยากให้ผู้บริหารทุกระดับ กพ. ด้วย ดูกระทรวงศึกษาธิการ เป็นตัวอย่างนะครับ เขาทำดีมาก ความก้าวหน้าในสายงานยอดเยี่ยม เพราะทุกตำแหน่งไม่มีทางตัน ต่างก็มีเส้นทางของตนเอง เช่น ผู้บริหาร ก็ มีชำนาญการพิเศษด้านการบริหารไป ส่วน ครูผู้สอน ก็มี ชำนาญการพิเศษในสาย สอน ไป เท่าเทียมกันขึ้นอยู่กับการผลิตผลงานของแต่ละคน สาธารณสุขของเรา น่าจะทำแบบนี้บ้าง ทุกตำแหน่งก็มีชำนาญการพิเศษในสายของตนเอง โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ ตำบล หมู่บ้าน รพ.ชุมชน นี่น่าเห็นใจมาก ลองคิดดูดี ๆ นะครับ ส่วนตัวผมคิดว่า ระบบสาธารณสุขควรจะพัฒนามาจากส่วนรากหญ้า คือ ตำบล (รพ.สต.)เจ้าหน้าที่ควรจะมีครบทุกตำแหน่ง พยาบาล นวก. จพ.สาธารณสุข จพ.ทันตะ จพ.เภสัช จพ.แพทย์แผนไทย ผอ.รพ.สต. (มาจากคนใน สธ.) ทุกสายงานที่ว่ามา ต่างมีเส้นทางของเอง อยู่ที่พื้นที่ ก็ ก้าวหน้าได้ ขึ้นอยู่ที่ผลงาน แบบนี้จะดีกว่า ระบบปัจจุบัน จพ. ทั้งหลาย ก็จะเปลี่ยนสายงาน ไปที่ นวก. ใช่มั้ยครับ เปลี่ยนแล้วก็ไปทำงานในหน้าที่ใหม่ แล้วงานเดิมก็ต้องหาเจ้าหน้าที่ใหม่มา ซึ่งก็ไม่พอซักที เป็นแบบนี้มานานแล้วครับ เป็นวังวนอยู่แบบนี้ ไม่เคยคิดที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรเลย แค่ให้ตำแหน่งอะไรก็สามารถก้าวหน้าได้ในตำแหน่งของตนเองก็แก้ปัญหาได้แล้ว เจ้าหน้าที่ก็ทำงานอย่างมีความสุขตามวิชาชีพของตนเอง และทุกคนก็จะพัฒนางานของตนเองไปโดยอัตโนมัติ ลองคิดดูนะครับ ผู้บริหารทั้งหลาย ว่าง ๆ ก็ลองไปดู ระบบ HR ของกระทรวงศึกษาธิการเข้าบ้าง

ออกจาก กพ ตั้ง กสธ ครับ

ออกจาก กพ คือดีที่สุดและ แต่ออกไม่ได้น่ะสิ ข้าราชการ สธ มีเยอะจน กพ ดูมี power. แต่ถ้าออกจาก กพ เหลือกระทรวงให้ กพ ดูแลไม่กี่คน และที่สำคัญ กพ น่ะไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรหน้างานเลย..

รากเหง้าปัญหา อยู่ที่ กพ มาตั้งนานเลย ที่รมต ปลัด สธ ทะเลาะกันเป็นปลายเหตุครับ สธ จะออกแบบ HR ให้เลิศหรูดีอย่างไรก็ปฏิบัติไม่ได้ เพราะ กพ ไม่เห็นชอบ อ้างเหตุผลพันแปดหมื่นเก้า อ้างไม่ยุติธรรมกับข้าราชกาชกระทรวงอื่น 2 มาตรฐาน กระทรวงครู ตำรวจ ทหาร ตุลาการ ทำได้กำหนดได้ เพราะไม่ได้สังกัด กพ ครับ โปรดคิดให้ถึงรากเหง้าแห่งปัญหา อย่าคิดอ้างเหตุผลแค่ปลายเหตุ ยิ่งมีความขัดแย้งการเมือง รมต กับ ปลัด ทะเลาะกัน แล้วมาเสี้ยมคนในกระทรวงให้แตกแยกกันแย่งกันบรรจุ เป็นตัวประกันเป็นเหยื่อเกมการเมือง โปรดเอาเรื่องนี้เอาปัญหาออกจากการเป็นเงื่อนไขการต่อรองของเกมส์ผู้บริหาร ต้องก้าวข้ามปัญหาความขัดแย้งของคน คิดก้าวพ้นออกจาก กพ แล้วจะเกิดระบบHR ที่สมบูรณ์

ปฏิรูปกระทรวงเราก่อนดีกว่าไหมก่อนที่จะปฏิรูปประเทศ

เห็นด้วยอีกเสียงครับเรื่องการปฏิรูปกระทรวงครับ...ต้องทำอย่างเร่งรีบครับ

ปฏิรูปกระทรวง ยากเหมือนเอาช้างมาอาบน้ำพร้อมกันสามตัว มันเป็นเรื่องเพ้อฝันไปแล้วครับ อดีตก็มีให้เห็น เขาไม่สนคนทำงานระดับล่าง เขาสนแต่ แพทย์ เท่านั้นครับ ลำพังของบจาก สปสช.ก็เงิบพอแล้ว งานเป็นกอง ต้องบันทึกข้อมูลแลกกับเงิน เหมือนขอทาน

เฮ้อ....ยิ่งอ่านยิ่งเบื่อระบบ....ทำไมไม่แยกกระทรวงแพทย์ไปเลย แล้วเราออกจากกพ....คงฝันไปอีกนานงานนี้...

เคยเห็นมีแนวคิดและสนับสนุนออกจาก กพ. เหมือนครู เป็น กค. วิชาชีพตัวเองเอง...เพื่อสวัสดิการแด่มวลวิชาชีพตามที่เราเห็นแบบอย่างข้าราชการครู...เคยเห็นมีการขับเคลื่อนอยู่พักหนึ่งของกลุ่มวิชาชีพแพทย์แล้วก็เงียบหายไป...ของ สธ.เราน่าจะแยกออกเป็น กสธ. น่าจะดีเหมือนวิชาชีพครูบ้างนะครับ ?

เรื่องบรรจุข้าราชการ ได้โปรดเห็นใจน้องๆ หนูจบตั้งแต่ปี 52 ทำงานมา 5 ปีจะเข้าปีที่ 6 ค่ะ ขวัญและกำลังใจคือการได้บรรจุเป็นข้าราชการ การอดทนรอด้วยความหวังช่างยาวนานมาก 

ถ้าติดที่ กพ. ก็ต้องขอแยกออกให้ได้ กพ. จะมากดมาขวางการพัฒนาของพวกเราทำไม กพ. ถ้ามีใครอ่าน คอมเม้นนี้ ก็ขอให้ทบทวน บทบาทของพวกท่าน ว่าที่ท่านทำมันถูกหรือ กรุณาฟังพวกเราบ้าง ทุกอย่างมันไม่มีทางติด มันมีทางออกเสมอ ถ้าคิดจะทำนะครับ หากท่านไม่อยากให้เราออกจาก กพ. ท่านก็ควรเอาใจใส่และทบทวนระบบ HR ของบุคลากร ทางการสาธารณสุขด้วย ถ้าท่านต้องการข้อมูลก็ลงมาเก็บได้ ไม่ใช่นั่งนึกเอาเองนะครับ หากท่านไม่คิดพัฒนาในส่วนนี้ ก็ขอให้ปล่อยพวกเราออกมาเป็นอิสระ เราจะทำให้ท่านดู ว่ามันทำได้ นะครับ ท่าน

...จาก comment ทั้งหมดที่สำนักข่าว Health Focus ประมวลมานั้น นาทีนี้ จึงบอกได้แต่เพียงว่า นี่เป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ของสธ. และหากสถานการณ์ยังเป็นอยู่เช่นนี้ ระเบิดเวลานี้คงยากที่จะถอดสลักได้... 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปลัดณรงค์’ โยนบึ้ม ‘ลูกจ้างชั่วคราว’ ปากคำรัฐมนตรี ‘มันจบแล้ว’

หมอวชิระยันส่งแผนให้ก.พ.ตั้งแต่เม.ย.แล้ว แต่ติดขัดเป็นรัฐบาลรักษาการ