ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

2 แกนนำพยาบาลวิชาชีพลูกจ้าง หนุนข้าราชการสธ.ออกนอกการดูแลของ ก.พ. จะทำให้คล่องตัวในการบริหารจัดการ แต่ยอมรับไม่ง่าย และไม่น่าจะทำได้เร็ว เหตุขรก.สธ.ถือเป็นกลุ่มใหญ่คิดเป็นสัดส่วน 60-70 % ของขรก.ทั้งประเทศ แถมยังไม่ได้ขึ้นกับก.พ.หน่วยงานเดียว ชี้ที่ผ่านมาสธ.มีปัญหาด้านการจัดการทรัพยากรบุคคล ทั้งยังมีความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนต่างๆ การแก้ปัญหาให้ลูกจ้างชั่วคราวเป็นพกส.ก็แก้ที่ปลายเหตุ แถมการดำเนินการยังมีปัญหา ส่วนเรื่องบรรจุเป็นขรก.รอบสองนั้น เข้าใจสถานการณ์การเมือง ยังไม่ขยับเรียกร้อง รอดูท่าทีผู้บริหารก่อน

นางกรรณิกา ปัญญาอมรวัฒน์ หัวหน้าพยาบาลโรงพยาบาลชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี กล่าวถึงการเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งบรรจุข้าราชการ ว่า จากการเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขครั้งแรกนั้นในส่วนของพยาบาลได้รับการบรรจุไปประมาณ 3,000 คน ยังเหลือพยาบาลที่ยังไม่ได้รับการบรรจุอีกประมาณ 13,000 คน ส่วนการบรรจุข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขในรอบที่ 2 นั้นยังไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากมีปัญหาทางการเมือง ซึ่งขณะนี้มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาดูแลประเทศแล้ว ส่วนตัวคิดว่ายังไม่น่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ อาจจะมีบ้างที่ต้องไปหารือร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการหารือร่วมกันมาตลอด เพราะฉะนั้นตอนนี้ขอให้เป็นหน้าที่ของผู้บริหารในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง และหน้าที่ของผู้บริหารในการขับเคลื่อนเรื่องการบรรจุข้าราชการเองก่อน

ทั้งนี้ในส่วนตัวมองว่าเนื่องจากตำแหน่งในกระทรวงสาธารณสุขค่อนข้างมีความหลากหลาย ทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลในช่วงที่ผ่านมายังมีการให้ความสำคัญแต่ละสายงานจึงไม่เท่ากัน การบริหารจัดการคนยังไม่ค่อยดีเท่าที่ควร อีกทั้งในส่วนของค่าตอบแทนที่ไปใช้เงินบำรุงของโรงพยาบาลมาเป็นค่าใช้จ่ายทำให้เรื่องนี้ค่อนข้างยาก การจะเพิ่มคนจึงทำได้ยาก ทั้งนี้แม้ว่าปัจจุบันจะพยายามแก้ปัญหาปลายเหตุด้วยการปรับเปลี่ยนการจ้างงานจากการเป็นลูกจ้างชั่วคราวโรงพยาบาลมาเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) ซึ่งอยู่ระหว่างการวางระบบเรื่องค่าตอบแทน สวัสดิการต่างๆ ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้หรือไม่ ถ้าทำได้จริงน่าจะจูงใจคนได้ระดับหนึ่ง แต่จะแก้ปัญหาเรื่องคนออกนอกระบบได้หรือไม่นั้นตนยังไม่แน่ใจ จะต้องรอดูไปสักระยะ

สำหรับแนวทางการเอาข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขออกจากการดูแลของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน( ก.พ.)นั้น เรื่องนี้เห็นว่าเป็นเรื่องที่ควรจะทำมานานแล้ว แต่ที่ผ่านมายังไม่มีใครทำจริงๆ เพราะกระทรวงสาธารณสุขมีหลายสายงาน ไม่ได้มีสายงานเดียวเหมือนกับครู เพราะฉะนั้นการจะออกจาก ก.พ.ทั้งหมดเลยนั้นจึงไม่น่าจะทำได้ง่ายๆ ขณะเดียวกันในส่วนของ ก.พ.เองก็ไม่ได้อยากให้ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขออกจากการดูแล เพราะถือเป็นกลุ่มใหญ่ 60-70% ของข้าราชการพลเรือนทั้งประเทศ ส่วนตัวมองว่าการออกมาน่าจะมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการกำลังคนมากกว่าเพราะทุกวันนี้รูปแบบการบริหารจัดการ การให้บริการต่างๆ เปลี่ยนไปมากพอสมควร เช่น เรื่องการกำหนดอัตราจ้าง เหมือนกับเป็นครูอัตราจ้างที่มีความคล่องตัวกว่า

ผู้สื่อข่าวถามว่าถ้าเช่นนั้น การออกจากก.พ.หมายความว่าการจ้างงานจะมีลักษณะเหมือนครูอัตราจ้าง ที่ไม่จำเป็นต้องรับราชการอีกต่อไปอย่างนั้นหรือไม่ นางสาวกรรณิกา กล่าวว่า การบรรจุข้าราชการไม่ได้อยู่ที่ ก.พ.อย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่ กับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(กพร.) และคณะกรรมการปฏิรูประบบข้าราชการ ด้วย แต่ถ้าอยู่กับ ก.พ.นั้นการที่กระทรวงสาธารณสุขจะปรับอัตราจ้าง หรือเพิ่มอัตราจ้างนั้นจะไปกระทบกับกระทรวงอื่นด้วย เพราะฉะนั้นหากออกมาแล้วน่าจะทำให้การบริหารจัดการคล่องตัวขึ้น

ด้าน นายวรรณชาติ ตาเลิศ เลขานุการเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กล่าวว่า เรื่องนี้เท่าที่คุยกันเบื้องต้นในกลุ่มได้ตกลงกันว่าจะรอดูสถานการณ์ไปก่อนว่าทิศทางของกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งเท่าที่ทราบเห็นว่าท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำข้อมูลเรื่องนี้อยู่ ดังนั้นอาจจะประสานไปเพื่อขอทราบแนวทางว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ส่วนกรณีที่ท่านมีแนวคิดพาข้าราชการกระทรวงฯ ออกจากการดูแลของ ก.พ.นั้น ถือว่าเป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่ทำให้การบริหารงานบุคคลคล่องตัวขึ้น แต่ในการปฏิบัติอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้นนี้

ทั้งนี้ นายวรรณชาติ ได้กล่าวถึงการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลในกระทรวงสาธารณสุขในช่วงที่ผ่านมาว่าค่อนข้างล้มเหลวเพราะทำให้มีการดองคนไว้นานพอสมควรในการพิจารณาความก้าวหน้าของลูกจ้างให้มีสถานะ หรือสิทธิที่มั่นคงมากขึ้น อีกทั้งยังมีความเหลื่อมล้ำในเรื่องของค่าตอบแทนต่างๆ แต่ก็เห็นความพยายามของกระทรวงที่ต้องการลดช่องว่างตรงนี้ให้มากที่สุด แต่ก็ต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป  อย่างตอนนี้แนวคิดการกระจายกำลังคนตาม FTE ไปยังพื้นที่ที่มีความขาดแคลนนั้นตนเห็นด้วยกับหลักการกระจายกำลังคนด้วยวิธีการดังกล่าว และเมื่อพิจารณาในเรื่องของการจัดทำ 12 เขตบริการสุขภาพนั้นเห็นว่าเป็นแนวคิดที่ดีที่จะทำให้สถานบริการสามารถใช้ทรัพยากรต่างๆ ร่วมกันได้