ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“สมาคมวิชาชีพสาธารณสุข” เตรียมทำข้อเสนอ คสช. ปฏิรูปงานด้านส่งเสริมป้องกันโรค เน้นให้ความสำคัญมากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล ชี้แม้มีสสส.ทำงานด้านนี้ แต่ที่ผ่านมาเน้นไปที่รณรงค์ไปหลัก ต่างจากนักสาธารณสุขที่ลงไปทำงานกับประชาชนทุกระดับ พร้อมเปิดแนวคิดจัดตั้ง “กองทุนสุขภาพอำเภอ” ใช้หลักการเดียวกับกองทุนตำบลของสปสช. ทั้งการกระจายงบและบริหารเพื่อทำงานส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค แก้ปัญหา รพ.สต.ขาดแคลนงบประมาณ ด้าน “นายกสมาคมหมออนามัย” เผย รพ.สต.ร้อยละ 30 เหลือเงินบำรุงแค่พันบาท เตรียมเสนอ สธ.-สปสช.ปรับการจัดสรรงบใหม่

นายสาคร นาต๊ะ 

นายสาคร นาต๊ะ นายกสมาคมหมออนามัย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ประมาณร้อยละ 30 จากจำนวนกว่า 9,000 แห่งทั่วประเทศ ที่เหลือเงินบำรุงเพียงแค่หลัก 1,000 บาท นับเป็นภาวะวิกฤตของ รพ.สต.และในเดือนนี้ (มิถุนายน) จะมีอีกหลายแห่งที่เกิดวิกฤตการเงินขึ้นอีก สาเหตุเกิดจากปัญหาการกระจายงบประมาณ แม้ว่าทาง รพ.สต.จะนำเสนอปัญหานี้ไปหลายครั้งแล้ว แต่เมื่อมีการนำเสนอข่าวมักจะไปเน้นที่โรงพยาบาลที่เป็นต้นสังกัดของ รพ.สต. อย่างโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งเมื่อมีงบเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องให้หน่วยบริหาร หรือที่เรียกว่างบ CF (Contingency fund) ลงมา งบก้อนนี้จะถูกกันเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องให้กับโรงพยาบาลแม่ข่าย รพ.สต.ก่อน ถ้าเหลือจึงกระจายให้กับ รพ.สต. ซึ่งยอมรับว่าเป็นปัญหาอย่างมาก อีกทั้งค่าเฉลี่ยการจัดสรรงบของแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน ส่งผลให้ รพ.สต.บางแห่งได้รับงบประมาณที่น้อยมาก อย่างที่ รพ.สต.บ้านต๋อมได้เพียงปีละ 1-2 แสนบาทเพื่อบริหารทั้งปี ถือว่าน้อยมาก ขณะที่การจัดเก็บรายได้จากการรักษาสามารถจัดเก็บได้จากประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการซึ่งได้เงินไม่มาก

“ปัญหางบประมาณ รพ.สต. ได้เสนอกันไปรายรอบ เนื่องจากการจ่ายงบผ่านโรงพยาบาลแม่ข่ายในกรณีที่มีปัญหางบประมาณก็จะกระจายให้กับ รพ.สต.ได้ไม่มาก บางครั้งต้องต่อรองของบกันเป็นรอบๆ หากบาง รพ.สต.ไม่กล้าต่อรองก็จะบริหารโดยลดภาระค่าใช้จ่ายกันเอง อย่างเช่น การเลิกจ้างลูกจ้างชั่วคราว การยกเลิกฝึกอบรมและค่าอยู่เวร ที่ล้วนแต่กระทบต่องานบริการทั้งสิ้น ที่ผ่านมาจึงมีการเสนอให้แยกงบออกเป็น 2 ส่วน คืองบบริหารที่เพื่อให้ รพ.สต.ดำเนินการได้ อย่างเช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ จะต้องจัดสรรตรงลงพื้นที่ และงบดำเนินการตามตัวชี้วัด แต่ต้องลดภาระการบันทึกข้อมูลลง” นายกสมาคมหมออนามัย กล่าว

นายสาคร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ รพ.สต.ยังประสบปัญหาจากกรณีการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวสายสนับสนุนเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) เนื่องจากกลุ่มนี้เดิมเป็นกลุ่มที่ทาง รพ.สต.ว่าจ้างและจ่ายเองด้วยเงินบำรุง ซึ่งในกรณีที่มีปัญหางบประมาณสามารถเลิกจ้างได้ แต่ตามนโยบายบรรจุให้เป็น พกส. การสั่งจ้างเป็นอำนาจของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) อีกทั้งการยกเลิกการจ้างยังทำไม่ได้ เพราะเป็นการทำสัญญาจ้าง 4 ปี จึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ เพราะ รพ.สต.หลายแห่งไม่มีเงินบำรุงที่จะนำมาจ่าย

“ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ที่ผ่านมาทางแกนนำ รพ.สต.ได้เดินสายประชุม 4 ภาค คือที่ จ.อุดรธานี นครนายก พิจิตร และระนอง ซึ่งจะได้จัดทำข้อสรุปเพื่อนำเสนอต่อปลัดกระทรวงสาธารณสุขและ สปสช.ต่อไป” นายกสมาคมหมออนามัย กล่าว

นางทัศนีย์ บัวคำ

ด้าน นางทัศนีย์ บัวคำ อุปนายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข กล่าวว่า ในการประชุมเชิงวิชาการ “รวมพลังพัฒนามาตรฐานวิชาชีพนักสาธารณสุขสู่สภาการสาธารณสุขชุมชน” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อร่วมกำหนดทิศทางทำงานของวิชาชีพสาธารณสุข ภายหลังจากที่ได้มีการออก พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ. 2556 ทั้งนี้ในช่วงการบรรยายของ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสข.) เรื่อง “มิติความเชื่อมโยงของมาตรฐานวิชาชีพกับมาตรฐานบริการสาธารณสุข” ที่มีการเปิดเวทีให้ซักถาม ได้มีนักวิชาชีพสาธารณสุขส่วนหนึ่ง ได้แสดงความเห็น ในประเด็นการกระจายงบประมาณลงไปยัง รพ.สต. เนื่องจากพบว่ารูปแบบการกระจายงบประมาณในปัจจุบันที่โอนผ่านโรงพยาบาลชุมชนที่เป็นแม่ข่าย ได้ส่งผลให้ รพ.สต.ส่วนหนึ่งประสบปัญหางบประมาณ เพราะหากได้แม่ข่ายที่ดีก็ดีไป แต่หาก รพ.สต.มีแม่ข่ายที่เห็นแก่ตัว กอดงบไว้ ก็จะส่งผลกระทบต่อ รพ.สต.อย่างมากในการทำงานป้องกันและส่งเสริมสุขภาพประชาชน จึงอยากให้มีการแก้ไขในเรื่องนี้

นางทัศนีย์ กล่าวว่า ทางสมาคมวิชาชีพการสาธารณสุขอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบไม่แต่เฉพาะด้านงบประมาณ รพ.สต.เท่านั้น แต่รวมไปถึงการบริหารงานด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เบื้องต้นอยากให้มีการแยกงบประมาณชัดเจนระหว่างงบรักษาพยาบาลที่ส่งตรงไปยังหน่วยบริการ และงบประมาณดำเนินการส่งเสริมป้องกันโรคที่บริหารในรูปแบบ “กองทุนสุขภาพอำเภอ” ดูแลประชากร 150,000-200,000 คน โดยกองทุนอำเภอนี้จะเรียนรู้จากการดำเนินงานของกองทุนตำบล สปสช. กำหนดการบริหารในรูปแบบคณะกรรมการฯ เพื่อทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคทั้งหมด

“แต่เดิมเรามีโรงพยาบาลชุมชนทำหน้าที่เป็นแม่ข่ายกระจายงบประมาณการส่งเสริมและป้องกันโรคให้กับ รพ.สต. หรือที่เรียกว่า CUP (Contracting Unit for Primary Care) แต่ข้อเสนอใหม่นี้จะขอให้มีการจัดตั้งกองทุนอำเภอเพื่อให้ทำหน้าที่เป็น CUP แทน ทั้งนี้เพื่อทำให้งานด้านส่งเสริมและป้องกันโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้น” อุปนายาสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข กล่าว

นางทัศนีย์ กล่าวว่า งานด้านส่งเสริมและป้องกันโรคที่ผ่านมา ได้รับการยอมรับแล้วว่าเป็นงานที่สำคัญ เพราะใช้งบประมาณดำเนินการไม่มาก แต่ผลที่ได้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษา แต่ที่ผ่านมาภาพรวมกลับให้ความสำคัญไม่มาก แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำงานเรื่องนี้ แต่กลับเน้นไปที่การรณรงค์ ต่างจากการทำงานของนักวิชาชีพสาธารณสุขที่ลงไปทำงานกับชาวบ้านในทุกพื้นที่ ไม่แค่เรื่องสุขภาพแต่รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนั้นจึงควรมีการเทงบประมาณมายังงานด้านการป้องกันมากขึ้น สำหรับข้อเสนอทั้งหมดนี้อยู่ระหว่างเตรียมเพื่อนำเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการทำงานด้านการส่งเสริมและป้องกันโรค