ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประชุม นพ.สสจ. ผอ.รพ.ทุกระดับเห็นร่วม เสนอจัดสรรงบ สปสช.ลงพื้นที่ตามจำนวนรายหัวแต่ละเขต ไม่ควรแยกเป็นส่วนๆ ควรจัดให้สอดคล้องกับต้นทุนบริการและค่าใช้จ่าย ด้านระบบข้อมูลยึด 43 แฟ้มเป็นหลัก แต่ปรับให้กระชับ ให้ รพ.สต.เก็บข้อมูลที่สนองต่อการบริการของ รพ.สต.เท่านั้น ส่งศูนย์ข้อมูลจังหวัดเพียงที่เดียว ให้เขตและ สธ.ดึงข้อมูลเอาเอง

แพทย์หญิงอุทุมพร กำภู ณ อยุธยา ประธานชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมตัวแทนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป สาธารณสุขอำเภอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่กระทรวงสาธารณสุข  จ.นนทบุรี เพื่อร่วมกันพิจารณากลไกการบริหารจัดการในปีงบประมาณ 2558 ที่จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม2557 ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ปฏิรูปแนวทางการบริหารจัดการ 3 ระบบใหญ่ๆ คือ ระบบบริการ ระบบการเงินการคลัง และระบบข้อมูลด้านสุขภาพ โดยระบบการเงินการคลังที่ใช้มีอยู่ 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ งบผู้ป่วยใน งบผู้ป่วยนอก และงบส่งเสริมป้องกัน ส่วนระบบบริการ มี 3 ระบบคือปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ และเป็นบริการที่ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ คือส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องบูรณาการ และ ดำเนินการไปพร้อมๆกันเพื่อให้ทราบว่าจะดูแลสุขภาพประชาชนอย่างไร และประชาชนจะได้อะไร

แพทย์หญิงอุทุมพรกล่าวต่อว่า เรื่องระบบบริการ ที่ประชุมมีความเห็นว่า ให้ รพ.สต.รับผิดชอบงานบริการขั้นพื้นฐานและงานชุมชน ประกอบด้วยงานเยี่ยมบ้านประชาชน งานรณรงค์แก้ไขปัญหาสุขภาพในชุมชน หมู่บ้าน เพื่อลดการเจ็บป่วย ส่วนโรงพยาบาลระดับอื่นๆ ให้พัฒนาระบบการรักษาพยาบาล ลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล และการส่งต่อที่ไม่จำเป็น ทั้งนี้จะให้มีการจัดทำข้อตกลงการจัดบริการ ระหว่างรพ.สต.กับอำเภอ   อำเภอกับจังหวัด จังหวัดกับเขต และเขตกับกระทรวงสาธารณสุข   

ในเรื่องระบบการเงินการคลัง ที่ประชุมมีความเห็นว่า หลักเกณฑ์การจัดสรรเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติลงพื้นที่ ควรจัดสรรไปตามจำนวนรายหัวประชากรในแต่ละเขตบริการสุขภาพ เพื่อให้มีความเชื่อมโยงกัน ทั้งการรักษาและการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ไม่ควรแยกเป็นส่วนๆ เหมือนที่ผ่านมา โดยจะมีคณะกรรมการบริหารจัดการที่ระดับเขต จังหวัด และอำเภอหรือเครือข่ายบริการระดับอำเภอ ทำหน้าที่ปรับเกลี่ยเงินลงไปยังพื้นที่ให้สอดคล้องกับต้นทุนบริการและต้นทุนค่าใช้จ่ายจริง มีการจัดทำกรอบการทำงาน การใช้เงิน และควบคุมกำกับการทำงานให้มีประสิทธิภาพเป็นไปตามตัวชี้วัด แต่ละพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรเงิน จะต้องจัดทำแผนงานรองรับการใช้เงิน และมีตัวชี้วัดของพื้นที่ที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาสุขภาพของพื้นที่นั้นๆ โดยมีผู้ตรวจราชการและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ควบคุมกำกับในระดับเขตและจังหวัด 

สำหรับเรื่องระบบข้อมูลสุขภาพ ที่ประชุมเห็นว่า ให้ยึด 43 แฟ้มเป็นหลัก และจะมีการปรับให้กระชับเท่าที่จำเป็นและนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยให้มีศูนย์ข้อมูลที่ระดับจังหวัด เขต และกระทรวงสาธารณสุข ให้ รพ.สต. เก็บข้อมูลที่ตอบสนองการให้บริการของ รพ.สต. ส่งข้อมูลที่เป็นข้อมูลระดับบุคคล และข้อมูลการให้บริการในพื้นที่ไป ที่ศูนย์ข้อมูลจังหวัดเท่านั้น โดยเขตและกระทรวงฯ จะต้องใช้ข้อมูลจากศูนย์จังหวัด ส่วนข้อมูลของโรงพยาบาลระดับอื่นๆ ต้องเป็นข้อมูลที่ตอบสนองต่อการจัดบริการดูแลรักษาผู้ป่วย บ่งบอกประสิทธิภาพการทำงาน และตอบสนองตัวชี้วัดด้วยเช่นกัน

“การปฏิรูประบบงาน เงิน ข้อมูลครั้งนี้ มั่นใจว่าจะทำให้ประชาชนได้รับบริการพื้นฐานที่มีคุณภาพ ปัญหาสุขภาพในแต่ละพื้นที่ ที่มีความแตกต่างกัน จะได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนผู้ให้บริการจะมีความสุขในการทำงานมากขึ้น” แพทย์หญิงอุทุมพรกล่าว