ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอสุวัช ผอ.อภ. แจงส่งฝ่ายการตลาดชี้แจง รพ. แล้วอาจเกิดเหตุยาขาดแคลน คาดสื่อสารไม่เข้าใจ ยันหาก รพ. ต้องการให้ อภ. จัดหายาก็จะดำเนินการให้ ย้ำไม่จ้างโรงงานเอกชนผลิตแทน เพราะใช้เวลานาน ลั่นยาเอดส์ไม่ขาดแคลน เพราะมีวัตถุดิบผลิตแล้ว ปัดข้อหาไม่สั่งซื้อเพิ่ม เหตุราคาแพงกว่าจัดซื้อครั้งแรก ต้องรอเสนอบอร์ด ด้านหมอพิพัฒน์ ประธานบอร์ดแจงข้อหาจ้างบริษัททิ้งงานกลับมารับงานต่อ เพราะช่วงที่ประกวดราคา บริษัทดังกล่าวยังไม่ถูกประกาศว่าทิ้งงาน จึงมีสิทธิ์เข้ามาเสนอราคา

นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา (ขอบคุณภาพจาก www.manager.co.th)

9 ก.ค. เวบไซต์ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (ผอ.อภ.) กล่าวถึงกรณี 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพตั้งข้อสงสัยกรณีรู้ล่วงหน้าเหตุการณ์ยาขาดแคลนจากการหยุดผลิตยาและลดกำลังการผลิตยาบางตัว เพื่อปรับปรุงระบบมาตรฐานการผลิต แต่ไม่มีการแจ้งโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าของ อภ. โดยปล่อยให้เผชิญหน้าสั่งซื้อยาแก้ปัญหาเอง ว่า จริงๆ แล้วฝ่ายการตลาดของ อภ. มีการชี้แจงกับลูกค้า หรือโรงพยาบาลต่างๆ แล้วว่าอาจเกิดผลกระทบด้านยาขึ้น จากการลดการผลิตยาบางรายการลง เนื่องจากต้องปรับปรุงมาตรฐานการผลิต หากโรงพยาบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนแล้วต้องการให้ อภ. จัดหา เราก็จะช่วยจัดหาให้ หรือหากโรงพยาบาลมีความสะดวกในการจัดซื้อยาเองก็มิใช่เรื่องยาก เพราะบริษัทยาเอกชนก็มักมีการส่งผู้แทนออกไปทำการตลาดอยู่แล้ว อย่างยาเบาหวานที่ อภ. ลดการผลิตลง ก็มองว่ายาของบริษัทเอกชนก็มีราคาใกล้เคียงกันหรือบางตัวอาจถูกกว่าของ อภ. ด้วยซ้ำ เนื่องจากมีการผลิตเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การที่ข่าวออกมาเช่นนี้อาจสะท้อนว่า มีการสื่อสารที่ไม่ตรงกันหรือไม่เข้าใจกัน ซึ่งตนจะให้ฝ่ายการตลาดเร่งปรับปรุงในการดำเนินงานดังกล่าว ส่วนเหตุที่ว่าทำไม อภ. ไม่จ้างโรงงานเอกชนผลิตยาแทน เป็นเพราะการให้โรงงานเอกชนผลิตให้นั้นต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งจะต้องผ่านในเรื่องของมาตรฐานจีเอ็มพี และ อย. ด้วย
       
นพ.สุวัช กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการขาดส่งยาต้านไวรัสเอชไอวีให้แก่ สปสช. ยอมรับว่าเป็นเพราะผลิตส่งให้ตามงวดไม่ทัน แต่ไม่ต้องเกรงว่าจะกระทบต่อผู้ป่วย เพราะวัตถุดิบลามิวูดีนที่ส่งมาไม่ทันนั้น ขณะนี้ส่งเข้ามาทั้งหมดแล้ว 6 ตัน สามารถผลิตยาเม็ดลามิวูดีนได้ ส่วนที่ต้องแบ่งไปผลิตยาชนิดจีพีโอเวียร์แซด 250 ด้วยนั้น เพราะเป็นยาที่ อภ. สามารถผลิตได้รายเดียวในประเทศ หาก อภ. ไม่ผลิตก็อาจกระทบต่อผู้ป่วยด้วยเช่นกัน ส่วนที่ตนยังไม่อนุมัติซื้อวัตถุดิบลามิวูดีนเพิ่มนั้น ขอชี้แจงว่า บริษัทต่างประเทศได้เสนอราคาเข้ามาที่แพงกว่าการจัดซื้อครั้งที่แล้ว จึงต้องมีการเสนอที่ประชุมบอร์ดเสียก่อน สำหรับยาต้านไวรัสเอชไอวีชนิด AZT ที่ยังพอใช้ 6 เดือนนั้น กำลังเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ด อภ. เพื่อจัดซื้อแก้ปัญหา ซึ่งมั่นใจว่าสามารถจัดซื้อเข้ามาผลิตได้ทันภายใน 6 เดือน ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ไม่กระทบเรื่องขาดแคลนยาแน่ ส่วนประเด็นการก่อสร้างโรงงานที่รังสิตที่มีความไม่ถูกต้องหลายจุด ยินดีให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมตรวจสอบ
       
“สำหรับยาอื่นๆ เช่น ยาจิตเวช ยาเม็ดเสริมไอโอดีน เรามีวัตถุดิบในการผลิต สิ่งที่ อภ.พยายามดำเนินการก็คือแก้ปัญหายาตัวไหนที่มีความต้องการเยอะก็จะเร่งผลิตให้ก่อน ซึ่งขณะนี้ก็พบว่ามีเครื่องตอกยาอีก 1 ตัวที่สามารถใช้การได้ ก็จะนำมาช่วยในการเร่งผลิตยาให้รวดเร็วยิ่งขึ้น” ผอ.อภ. กล่าว

ขณะที่ นสพ.มติชนรายวัน วันที่ 9 ก.ค. รายงานว่า นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเราเพียงแต่ชี้แจงลำดับเหตุการณ์ว่าเป็นอย่างไร และไม่กล่าวโทษใคร ส่วนที่ต้องเอ่ยถึงอดีตผู้บริหารเก่า เพราะต้องเท้าความว่าปัญหาแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นนั้นมีที่มาอย่างไร หากไม่กล่าวถึงก็จะชี้แจงไม่ได้ว่าปัญหานั้นสะสมมาอย่างไร ขออย่าแปรเจตนาในแง่ลบ ส่วนกรณีการไม่ชี้แจงปัญหาต่อโรงพยาบาลว่าจะมีการหยุดผลิตยาหรือลดกำลังการผลิตยาบางชนิดลง อย่างยาเบาหวานนั้น เป็นขั้นตอนของฝ่ายปฏิบัติการคือ ผู้อำนวยการ อภ. ซึ่งตนเข้าใจว่าอาจจะมีการชี้แจงสื่อสารแล้ว แต่เข้าใจไม่ตรงกัน เพราะปัญหาเช่นนี้ก็ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ส่วนข้อสงสัยเรื่องจ้างบริษัททิ้งงานให้กลับเข้ามาดูแลการก่อสร้างโรงงานที่รังสิตใหม่นั้น ต้องชี้แจงว่าช่วงขณะที่ให้ประกวดราคานั้น ยังไม่มีการประกาศว่าบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทผู้ทิ้งงาน เพราะกำลังอยู่ในขั้นตอนที่ฝ่ายปฏิบัติกำลังเสนอเรื่องพิจารณา จึงทำให้บริษัทมีสิทธิ์ที่จะเสนอเข้ามา ขอยืนยันว่าเราไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ใคร ซึ่งขณะนี้กำลังมุ่งแก้ไขทุกอย่างให้ดีขึ้น และพยายามทำหน้าที่อย่างดีที่สุด