ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัด สธ.เปิดเอกสารยัน วันที่เสนอคสช. 31 พ.ค. ไม่มี ประเด็นร่วมจ่าย 30-50% ชี้เป็นเรื่องการเมืองในกระทรวง เผยถ้าจะเสนอเรื่องร่วมจ่าย ตนจะเสนอเอง ไม่ต้องให้ใครมาเสนอแทน ตั้งข้อสังเกตเป็นเกมการเมืองภายในหรือไม่ ในขณะที่ไม่มีนักการเมือง แต่ก็มีการเล่นการเมือง แจงเอกสารที่ออกมาไม่ใช่เอกสารปลอม แต่เป็นการสรุปของผู้ปฏิบัติงานที่ยังไม่มีการรับรอง แจงไม่ยุบกองทุนย่อย แต่จัดการให้ดีขึ้น หมอธวัชชัยรับเป็นคนเสนอร่วมจ่าย แต่ไม่ได้เสนอถึง 30-50 % เผยไม่ใช่เรื่องใหม่ 10 ปีที่ผ่านมาก็มีคนเสนอร่วมจ่ายมาตลอด ด้านหมอประชุมพรฝากถามคนเล่นเกมนี้รู้จักบาปหรือไม่ ให้ข่าวพูดแบบบิดเบือน โกหกวันเข้าพรรษา

15 ก.ค.57 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในประเด็นข้อเสนอให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) ในอัตรา 30-50% ว่า ต่อเรื่องนี้ตนไม่ต้องแก้อะไรอีก เพราะตนพูดความจริงที่สามารถตรวจสอบได้ โดยในการประชุมร่วมกับ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา จะแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ระยะคือ ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว ในส่วนของข้อเสนอระยะเร่งด่วน 4 เรื่องคือ 1. การปรับปรุงระบบบริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ไม่ให้มีการโกงเวลาคนไข้ 2. การปรองดอง สมานฉันท์ที่ สธ.จะเข้าร่วมกับ สาธารณสุขจังหวัดและ กอ.รมน. 3. การสร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากร เจ้าหน้าที่ เช่น เรื่องค่าตอบแทน เรื่องความเสมอภาคในวิชาชีพ และ 4. กลไกการอภิบาลระบบ ซึ่งวันนี้ประชาคมสาธารณสุขเข้ามาร่วมกันแปลงไปสู่การปฏิบัติ การตรวจสอบ ป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นทั้งในและนอก ประชาคมเรารวมตัวกันตั้งแต่สมัยที่ประกาศว่าไม่เอารัฐบาลโกง  

แผนงานระยะกลางที่จะทำใน 1 ปี มี 5 เรื่องคือ 1.การปฏิรูประบบเขตบริการสุขภาพ 12 เขต ซึ่งจะมีการบริหารจัดการร่วมกัน 2.การปฏิรูประบบการเงินการคลัง ลดความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุน โดยอภิบาลระบบให้มีเอกภาพ โปร่งใส ประสิทธิภาพสูงสุด 3. การปฏิรูประบบข้อมูลที่ทำให้เสียเวลาในการดูแลผู้ป่วย ที่เป็นการสร้างวัฒนธรรมการสอยเงิน การเอางานไปแลกเงิน 4.เรื่องกฎหมายหลายๆ ฉบับที่ต้องเดินหน้าทั้งในระยะสั้น และระยะยาว 5. กลไกการสร้างเอกภาพ ส่วนแผนการทำงานระยะยาวใน 1-3 ปีนี้ มีแผนการลงทุนในรูปแบบของเขตบริการสุขภาพและกำลังคน

ทั้งนี้ในส่วนรายละเอียดของการปฏิรูประบบการเงินการคลังนั้นได้แบ่งออกเป็น 5 เรื่องย่อย คือ1.การบริหารการเงินการคลังสุขภาพแห่งชาติควรมีการดูแลให้เป็นทิศทางเดียวกันหรือไม่ 2. สร้างความเสมอภาค เท่าเทียมกัน ให้กับทุกกองทุน 3.การบริหารร่วมภายใต้ระบบเขตบริการสุขภาพ 4. การกำหนดสิทธิประโยชน์กลาง และ 5.การจัดทำฐานข้อมูลกลาง นี่คือข้อเสนอทั้งหมดที่สธ.ได้จัดทำเป็นรูปเล่มเสนอต่อหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา และยืนยันว่าไม่มีการพูดถึงเรื่องการร่วมจ่าย ไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้จากสธ. ยืนยันจากที่ประชุมที่มีองค์ประกอบเป็นข้าราชการ และองค์ประกอบหน่วยงานในสังกัด สธ. แต่ในช่วงท้ายของการประชุมที่มีการเปิดให้มีข้อเสนอ และความคิดเห็นนั้น มีผู้เสนอและมีการพูดถึงเรื่องนี้ และให้สธ.กลับไปศึกษาเรื่องนี้ แต่ยืนยันว่าตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมามีเรื่องที่ต้องตามที่ได้เสนอในเอกสารเยอะมากโดยเฉพาะการปัดกวาดเรื่องทุจริตคอรัปชั่น ทั้งหมด 11 เรื่อง รวมถึงการแก้ปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นนโยบายของ คสช. และการขายบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ที่ปรับราคา จึงไม่ได้มีการศึกษาประเด็นการร่วมจ่ายแต่อย่างใด

“มีข้อสังเกตเล็กๆ เรื่องนี้เกิดเมื่อวันที่ 31 พ.ค. มีกระบวนการอะไรหรือไม่ เป็นเรื่องการเมืองหรือเปล่า ขณะที่กระทรวงเราไม่มีนักการเมือง แต่กลับมีการเล่นการเมืองในเรื่องนี้อย่างไร พวกเรากำลังตั้งหน้าทำงาน เดินหน้าการทำ better service พูดถึงประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างไร เราคุยเรื่องความโปร่งใส เรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง การแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งพรุ่งนี้จะไปเข้าพบ องค์การต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น จะมีการทำเอ็มโอยูอย่างไร แบบการก่อสร้าง การเปิดประมูล การตรวจรับ การจ้าง ระเบียบการจัดซื้อยาใหม่ เรื่องจริยธรรมต่างๆ เรื่องการเงินการคลังเราจะทำอย่างไรให้เงินทั้งหมดที่มีประมาณ 2 แสนล้านไปถึงมือประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ นี่คือสิ่งที่เรากำลังจะทำทั้งหมด แต่ไม่เข้าใจว่ามีกระบวนการอะไรหรือไม่ เป็นข้อสังเกตส่วนตัว มีอะไรหรือเปล่าที่ออกมาเป็นจังหวะจะโคน สำหรับเรื่องข้อเสนอถ้าจะผมจะเสนอเรื่องการร่วมจ่าย ด้วยความเป็นตัวผม ผมเสนอเอง ไม่ต้องรอให้คนอื่นเสนอแทน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมเสนออยู่ในเล่มนี้ทั้งหมด (เอกสารข้อเสนอการดำเนินงานตามนโยบายด้านสาธารณสุข ต่อ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช.) ที่มาจากคณะทำงาน สธ.” นพ.ณรงค์ กล่าว และว่าวันนี้เป็นจุดตั้งต้นที่ผมจะพูดความจริง สังคมต้องรับรู้ความจริง และสื่อจะเป็นคนกระจายความจริงโดยไม่มีอคติ ยังไม่ได้หารือ คสช.เพราะเป็นเรื่องภายใน แต่คงต้องมีการรายงานให้ทราบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า เอกสารที่ออกมานั้นแสดงว่าเป็นของปลอมหรือไม่ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า เอกสารนั้นเป็นการสรุปของผู้ปฏิบัติงาน ยังไม่มีการรับรอง ทั้งนี้ยืนยันว่าทุกอย่างเหมือนเดิมคือประชาชนทุกคนสามารถใช้สิทธิในระบบ 30 บาทเหมือนเดิม

ต่อข้อถามว่าจะมีการเรียกกลุ่มที่ออกมาให้ข่าวเรื่องนี้มาพูดคุยหรือไม่ เพราะตอนนี้ยังมีการให้ข่าวอย่างต่อเนื่อง นพ.ณรงค์กล่าวว่า ขอให้ประชาชนกระจายข่าวให้ประชาชนเข้าใจเพราะที่พูดวันนี้คือความจริงที่ตรวจสอบได้ทั้งหมด ผู้ที่อยู่ในห้องประชุมเป็นผู้ที่รับฟังแนวคิดทั้งหมดของ สธ. แต่จะรับไว้ว่าจะต้องทำความเข้าใจกันอย่างไร

ขณะที่มีการเสนอเรื่องร่วมจ่ายฯ นั้นได้มีการท้วงติง หรือให้ความเห็นต่อเรื่องนี้หรือไม่ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า เนื่องจากมีการเปิดให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงความเห็นอย่างอิสระ จึงมีการเสนอเรื่องนี้เท่านั้นเอง อย่างไรก็ตาม เรื่องที่เกิดขึ้นมาอยากจะสื่อสารกับผู้ปฏิบัติงานเรามีงานที่ต้องทำเยอะ เพราะฉะนั้นอย่าไปสนใจเรื่องเหล่านี้ เรากำลังมองเรื่องการปฏิรูปเขต และปฏิรูปการเงินการคลัง การบริการที่ดี ธรรมาภิบาล ฯลฯ

อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลา 12 ปี ของการเกิดระบบ 30 บาท ขึ้นมา คงมีเรื่องที่ต้องปรับปรุง และที่ผ่านมามานั้นเราได้คุยกันในเชิงระบบ และมีการประเมินสิ่งที่ประชาชนควรได้รับแต่ยังไม่ได้รับมีอะไรบ้าง จะทำอย่างไรให้เกิดสิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน ไม่เหลื่อมล้ำ ตรงนี้จึงต้องมีการปฏิรูประบบการเงินการคลังให้เงิน 2 แสนล้านถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ 

ผู้สื่อข่าวยังถามถึงกรณีกระแสข่าวยุบกองทุนย่อยต่างๆของกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ไม่ได้ยุบ แต่เป็นการบริหารจัดการให้ดี เนื่องจากทุกวันนี้กองทุนย่อยมีจำนวนมาก แต่ที่มีการอ้างอิงว่าจะไปแตะกองทุนผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์นั้น ไม่เป็นความจริง ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าในเรื่องกองทุนสุขภาพฯ แบ่งเป็นกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งในกองทุนนี้มีการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับตำบล และยังมีกองทุนอื่นๆอีกมาก ตรงนี้จะมีเรื่องงบประมาณเข้ามา หากไม่มีการจัดการและตั้งเป้าการทำงานให้ชัดเจน ก็จะเป็นการใช้งบไม่เกิดประโยชน์ได้ นอกนั้นกองทุนเอดส์ กองทุนไตวายเรื้อรัง ไม่มีการเข้าไปยุ่ง

นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก  กล่าวว่า จากที่มีการเสนอข่าวว่า ปลัด สธ. เป็นผู้เสนอแนวทางการร่วมจ่ายในบัตรทองนั้น จริงๆ ตนเป็นผู้เสนอความเห็นภายหลังจาก นพ.ณรงค์ ปลัดสธ. ได้เสนอนโยบายโดยรวมต่อคสช. และไม่คิดว่าจะกลายเป็นประเด็นที่นำมาสู่ปัญหาได้  โดยในการเสนอความเห็นดังกล่าว ไม่มีได้เสนอว่า ต้องจัดเก็บในสัดส่วนร้อยละ 30-50 แต่อย่างใด เพียงแต่เสนอว่า ระบบสาธารณสุข มีปัญหาอย่างหนึ่งที่ต้องการการแก้ไขด้วยวิธีการร่วมจ่าย  ทั้งนี้  การที่ตนเสนอปัญหาดังกล่าว เพราะในอดีตขณะที่เป็นผู้ตรวจราชการ สธ. ได้เห็นปัญหาและคิดว่าควรแก้ไข ซึ่งในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ก็มีคนพยายามเสนอความคิดเห็นเพื่อแก้ปัญหางบประมาณด้านสาธารณสุขมาโดยตลอด และมีการร่วมจ่ายอยู่แล้ว       

ด้าน พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) ในฐานะตัวแทนประชาคม สธ. กล่าวว่า การ ที่ออกมาพูดเรื่องนี้เป็นการโจมตีปลัด สธ. ชัดเจน และเป็นเกมการเมือง เพราคนพูดรู้ดีว่าการเอาเรื่องการร่วมจ่ายออกมาพูด ประชาชนจะต้องรู้สึกเดือดร้อน แต่การออกมาพูดเป็นการพูดแบบบิดเบือน เพราะปลัด สธ. ไม่ได้เป็นผู้เสนอ ซึ่งการพูดเรื่องการร่วมจ่ายเป็นเพียงการเสนอช่วงที่การเสนอนโยบายเสร็จสิ้น แล้ว เป็นการให้ความเห็นเท่านั้น แต่กลับหยิบเอาจุดนี้มาเล่น จึงอยากฝากถามคนที่กำลังเล่นเกมการเมืองนี้รู้จักบาปหรือไม่ เพราะถือเป็นการโกหกในวันเข้าพรรษา ซึ่งถือว่าเป็นวันพระใหญ่

พญ.อุทุมพร กำภู ณ อยุธยา ประธานชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด กล่าวภายหลังการประชุมใหญ่ประชาคมสาธารณสุข ร่วมกับสมาชิกประชาคม ซึ่งที่ประชุมมีมติที่จะปฏิรูปอภิบาลระบบธรรมาภิบาลของกระทรวงสาธารณสุขทั้งการจัดซื้อจัดจ้างและการแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรม โดยที่ประชุมจะมีการร่างธรรมนูญของประชาคม หลังจากมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว2-3ครั้ง ซึ่งที่ประชุมใหญ่ได้มีมติรับรองธรรมนูญและคณะกรรมการบริหาร ซึ่งสมาชิกทุกคนได้มีวัตถุประสงค์ร่วมกันและเตรียมจัดกิจกรรมขับเคลื่อนด้านต่างๆ ทั้งการขับเคลื่อนบริการที่ดีต่อประชาชนทุกภาคทุกส่วน และการขับเคลื่อนธรรมาภิบาลในนโบายจัดซื้อจัดจ้างแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งให้แต่ละชมรมวิชาชีพไปทำข้อเสนอปัญหาด้านต่างๆ

ซึ่งจากนี้ทางประชาคมจะร่วมกันเฝ้าระวังรวมตัวดูแลปัญหาส่วนต่างๆเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย หากมีอะไรไม่ถูกไม่ควรทางประชาคมพร้อมจะส่งเสียง ทั้งนี้ ประชาคมมองประเด็นการเผยแพร่แนวคิดให้ประชาชนต้องร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพ หรือบัตรทอง ในสัดส่วนร้อยละ 30-50 หรือ co-payment ที่กำลังเป็นประเด็นนั้นมองว่าเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง และการประชุมในวันนี้นั้นไม่มีเจตนาใดเกี่ยวข้องกับกระแสข่าวดังกล่าวเนื่องจากมีการนัดล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน ก่อนเกิดกระแสข่าว