ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ดร.อัมมารไม่เห็นด้วยร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลตอนป่วย แถมคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ระบุจ่ายสมทบก่อนป่วยแบบประกันสังคมดีที่สุด แต่ทำยากในสิทธิบัตรทอง เหตุไม่มีคนส่งเงินให้ทุกเดือนแบบประกันสังคม ชี้ไม่ฟุ่มเฟือยกับการใช้งบเรื่องอื่น รัฐไม่กระทบค่ารักษาพยาบาลจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแน่       

17 ก.ค. 57 เวบไซต์ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ประเด็นการเสนอเรื่องร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น เมื่อ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ชี้แจงแล้วว่าไม่ได้มีการนำเสนอเรื่องนี้ เพียงแต่มีการพูดแสดงความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมเท่านั้น และ คสช. ยืนยันจะไม่นำเรื่องนี้มาพิจารณาต่อ เรื่องก็น่าจะจบ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวแล้วเห็นว่าการให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองร่วมจ่าย ซึ่งมีแรงผลักดันมามากจากฝ่ายผู้ให้บริการทางการแพทย์และผู้ประกันตน เพราะเป็นกลุ่มที่ต้องร่วมจ่าย เช่น ระบุว่าเงินไม่พอแล้วต้องร่วมจ่าย เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น       

ศ.ดร.อัมมาร กล่าวอีกว่า การร่วมจ่ายหรือไม่นั้นอยู่ในวิสัยที่ต้องตัดสินใจของฝ่ายการเมือง หากบอกว่าถ้าไม่มีการร่วมจ่ายแล้วผู้ให้บริการอยู่ไม่ได้ ก็ต้องชี้แจงไปยังรัฐว่าต้นทุนสูงกว่าที่รัฐจัดสรรงบประมาณ หากรัฐไม่อยากจัดสรรเงินให้เพิ่มแล้วต้องการให้ร่วมจ่ายก็ว่ากันไป โดยการร่วมจ่ายมีหลายรูปแบบ ที่ดีที่สุดคือ รูปแบบของประกันสังคมที่ให้จ่ายล่วงหน้าเป็นรายเดือน ไม่เกี่ยวกับสุขภาพหรืออายุ และหากปรับให้มีการเสียตามรายได้ยิ่งดีมากขึ้น       

“หากให้ร่วมจ่ายเมื่อป่วยแล้ว ผมไม่เห็นด้วย ยิ่งร่วมจ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องสุดซอยรับไม่ได้ แม้ 1 - 2% ก็ไม่ได้ เพราะเมื่อประชาชนป่วยแล้วต้องมาควักกระเป๋าจ่ายอีกในขณะที่เดือดร้อนอยู่แล้ว การร่วมจ่ายจึงไม่ควรจะมี ส่วนการจะให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองมาร่วมจ่ายในรูปแบบรายเดือนเหมือนกับประกันสังคม ถ้าทำได้ก็ดี แต่ทำยาก เพราะการเก็บเงินลำบาก ไม่มีนายจ้างหักเงินเดือนส่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทุกเดือนแบบประกันสังคม ดังนั้น ในเมื่อรัฐใช้เงินจากภาษีที่ทุกคนจ่าย รัฐก็ต้องทำหน้าที่ในการรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล รัฐสัญญาอะไรไว้ก็ต้องทำตามนั้น แต่หากจะให้มีการร่วมจ่ายต้องเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ปรับพฤติกรรมของผู้ป่วย” ดร.อัมมาร กล่าว       

ดร.อัมมาร กล่าวว่า แม้สังคมไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก็ไม่ควรกระทบต่อการใช้งบประมาณในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับประชาชน หากไม่ฟุ่มเฟือยหรือพอเพียงในเรื่องอื่นๆ จึงอยู่ในวิสัยที่รัฐจะดำเนินการได้ เนื่องจากหากพิจารณาจากงบประมาณที่รัฐจัดสรรให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ที่เพิ่มขึ้นปีละไม่ถึง 10,000 ล้านบาท แต่กลับใช้เงินไปกับเรื่องอื่นๆ มากมาย เช่น นโยบายรถคันแรกใช้งบประมาณถึง 80,000 ล้านบาท เป็นต้น