ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เร่งแก้ปัญหาเด็กวัยเรียนอ้วน โดยเฉพาะเด็กในเขตเมืองที่มีความเสี่ยงสูงแนะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพื่อลดเสี่ยงโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง

21 ก.ค. 57 นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิด  การประชุมและเปลี่ยนเรียนรู้และเชิดชูเกียรติด้านการจัดการลดปัญหาภาวะอ้วนในเด็กวัยเรียน ว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังและติดตามภาวะโภชนาการในเด็กวัยเรียนของกรมอนามัย ปี 2555 พบว่า เด็กวัยเรียนเป็นโรคอ้วน ร้อยละ 17 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2546 ที่พบเด็กวัยเรียนเป็นโรคอ้วนร้อยละ 13.6 หลักฐานทางการแพทย์ได้ระบุชัดเจนว่าเด็กที่อ้วนจะมีโอกาสเป็นผู้ใหญ่อ้วน 1 ใน 3 และหากอ้วนในวัยรุ่น จะมีโอกาสเสี่ยงสูงถึง 2 ใน 3 โรคอ้วนจะส่งผลให้เด็กมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ระบบทางเดินหายใจ คือ หยุดหายใจขณะหลับ เนื่องจากร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เต็มที่ขณะนอนหลับ ทำให้หลับทุกครั้งเมื่อนั่ง ส่งผลกระทบต่อการเรียน รวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับกระดูก ทำให้ปวดหัวเข่า ข้อเท้า กระดูกงอและขาโก่ง

นพ.ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า จากการเฝ้าระวังภาวะโภชนาการเด็กวัยเรียนอายุ 6–14 ปี โดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2555 โดยใช้ดัชนีน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง พบภาวะอ้วน ร้อยละ 17 ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดเป้าหมายเพื่อลดปัญหาภาวะอ้วนในเด็กวัยเรียนให้ต่ำกว่า ร้อยละ 15 ภายในปี 2560 และผลจากการเฝ้าระวังภาวะโภชนาการเด็กอายุ 6 – 14 ปี ในภาคการศึกษาที่ 2 ภาพรวมของประเทศพบว่าลดลงเหลือ ร้อยละ 8.6 แต่ในระดับจังหวัดและอำเภอโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมือง ยังพบว่ามีภาวะอ้วนสูงถึงร้อยละ 20 ดังนั้นการควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะอ้วน จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อมิให้ปัญหาขยายวงกว้างออกไปมากขึ้น

นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า สาเหตุการเกิดโรคอ้วนในเด็กมาจากการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสมและขาดการออกกำลังกาย โดยพบว่า เด็กวัยเรียน กินผักเพียงวันละ 1.5 ช้อนกินข้าวต่อคน ซึ่งน้อยกว่าปริมาณที่แนะนำ คือ ควรกินผักวันละ 12 ช้อนกินข้าว และกินผลไม้ทุกวันเพียง ร้อยละ 26.8 สำหรับการออกกำลังกายพบว่า เด็กที่เคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ คือ 60 นาทีต่อวัน และสัปดาห์ละ 3 วัน มีเพียงร้อยละ 24.3 ในขณะที่ส่วนใหญ่จะใช้เวลาไปกับการดูโทรทัศน์ เล่นเกม และคอมพิวเตอร์ ซึ่งเกินกว่าวันละ 2 ชั่วโมง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลให้เด็กไทยมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นทุกปี

“ทั้งนี้ ใน 1 วัน เด็กควรได้บริโภคอาหารครบ 5 หมู่ แต่ละหมู่ให้มีความหลากหลาย ลดอาหารหวาน มัน เค็ม และเพิ่มผักหลากสีในมื้ออาหารและมีผลไม้สดหลังอาหารทุกมื้อ หรือจะกินเป็นอาหารว่างแทนขนมขบเคี้ยวที่มีแต่แป้ง น้ำตาล และไขมันสูง  และสนับสนุนให้เด็กดื่มนมทุกวัน ๆ ละ 2 แก้ว เด็กที่ยังไม่อ้วนให้ดื่มนมรสจืดแทนนมปรุงแต่รสต่าง ๆ  แต่หากเด็กเริ่มอ้วนหรืออ้วนแล้วให้ดื่มนมพร่องมันเนยแทน ลดการซื้ออาหารที่ให้พลังงานสูง มีแป้ง ไขมันและน้ำตาล เป็นส่วนประกอบหลัก เช่น ขนมเบเกอรี่ต่าง ๆ พิชช่า เค้ก คุกกี้ รวมทั้งลดเครื่องดื่มประเภทน้ำหวาน น้ำอัดลม พร้อมทั้งส่งเสริมให้เด็กออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน ๆ ละ 60 นาที หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน ก็จะช่วยให้เด็กลดภาวะอ้วนและมีสุขภาพดีได้”  รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด