ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพยื่นหลักฐานดีเอสไอ สอบผอ.และบอร์ดอภ. ชี้มีพฤติกรรมส่อทุจริตทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ เอื้อบริษัททิ้งงานกลับมารับงานสร้างโรงงานผลิตยาที่รังสิต แถมโรงงานผลิตยาที่พระราม 6 ต้องปิดปรับปรุง แต่โรงงานยาที่รังสิตยังไม่สามารถดำเนินการ ส่งผลกระทบยาจำเป็นขาดแคลนทั่วประเทศ ไม่เร่งรัดสรางโรงงานวัคซีนหวัดใหญ่ เสนอคสช.และซุปเปอร์บอร์ด ปฏิรูปอภ.เป็นรัฐวิสาหกิจเพื่อประชาชน สร้างความมั่นคงทางยาให้ประเทศ

22 ก.ค. 57 นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า สืบเนื่องจากการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมด้านสุขภาพเปิดเผยพฤติการณ์ เป็นผลให้บอร์ดองค์การเภสัชกรรมลาออก 10 คนมีผลวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 แต่ยังเหลืออีก 2 คน ที่ยังไม่ได้ลาออก ได้แก่ นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผอ.อภ. และนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หลังจากใช้เวลารวบรวมหลักฐานเกือบ 2 สัปดาห์ ในวันนี้ (22 ก.ค.) เครือข่ายองค์กรสุขภาพทั้ง 8 องค์กรได้ไปยื่นเรื่องที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ให้รับพิจารณากรณีคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมชุดที่มีนพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เป็นประธาน และ นพ.สุวัช มีพฤติกรรมส่อทุจริต และทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐเป็นคดีพิเศษ

“มี 2 ประเด็นหลักที่เรามีหลักฐานพร้อมให้ดีเอสไอพิจารณารับเป็นคดีพิเศษคือ การก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิตของ อภ.ที่ ผอ.และบอร์ดยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างและร่าง TOR ใหม่เอื้อแก่บริษัทที่เคยทิ้งงาน และไม่ขึ้นบัญชีดำบริษัทที่ทิ้งงานทั้งที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเคยทักท้วงมา ขณะนี้ชัดเจนแล้วว่า โรงงานยารังสิตไม่สามารถสร้างเสร็จทันกำหนด ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรง แก่ อภ. คือ เครื่องจักร อุปกรณ์ ราคาแพงจำนวนมาก เสื่อมเพราะไม่ได้ใช้งาน และทยอยหมดอายุรับประกันตามสัญญา เช่น เครื่อง Chiller (เครื่องทำความเย็น) ราคานับร้อยล้านบาท หมดประกันไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2557, โรงงานของ อภ. ที่ถนนพระราม 6 จะต้องทยอยปิดปรับปรุงเพื่อให้ได้มาตรฐานตามข้อกำหนด GMP ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 ถ้าโรงงานยารังสิตไม่แล้วเสร็จจะเกิดปัญหา ไม่มีโรงงานรองรับการผลิตยาได้เพียงพอ ทำให้ปัญหาไม่มียาจำหน่ายให้โรงพยาบาล กระทบต่อผู้ป่วยทั่วประเทศรุนแรงขึ้น และ ปัจจุบันโรงงานยาที่รังสิต ต้องเสียค่าสาธารณูปโภค และอื่นๆ เดือนละหลายแสนบาทโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์จากโรงงานเลย”

นพ.วชิระ กล่าวว่า สำหรับอีกกรณีคือ  การก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งหลังจากบอร์ดปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการ อภ. ในขณะนั้น ไปแล้วกลับไม่มีการเร่งรัดเพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จโดยเร็ว ตรงกันข้ามกลับดำเนินการอย่างล่าช้า

“มีทั้งความผิดที่โทษกันไปมาระหว่างบอร์ดและ นพ.สุวัชที่เป็น ผอ.จนทำให้บริษัทวัคซีนจากประเทศญี่ปุ่นถอนความช่วยเหลือไป และยังมีความบกพร่องของ นพ.ณรงค์ ปลัดสธ. ซึ่งมีหน้าที่ทำเรื่องเพื่อเสนอรัฐมนตรี นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี ก็มีการตั้งคำถามในลักษณะที่น่าจะเป็นการถ่วงเรื่อง จนในที่สุดก็ยังไม่มีการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแต่อย่างใด จากความล่าช้าโดยเหตุอันไม่สมควรอย่างยิ่งนี้ หากเกิดการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่จะก่อความเสียหายร้ายแรงให้แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างประมาณมิได้”

ทางด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า อังคารนี้ หลังจากยื่นหนังสือที่ DSI แล้ว ตัวแทนทั้ง 8 องค์กรจะไปยื่นหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อีกครั้ง และซุปเปอร์บอร์ด

“เราจะนำหลักฐานไปเพิ่มเติมเพื่อขอให้ คสช. พิจารณาปลดกรรมการที่เหลือทั้ง 2 คน คือ นพ.ณรงค์  สหเมธาพัฒน์  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.สุวัช  เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการ อภ. โดยเร็ว เพราะทั้งสองมีส่วนร่วมรับผิดชอบโดยตรงต่อความเสียหายของ อภ. ตามที่ได้แจ้งในหนังสือฉบับก่อนแล้ว เรามีหลักฐานรายงานการประชุมที่ ผอ.อภ.ให้ลดการผลิตยาจำเป็นที่กำไรน้อยลงไป ชัดเจนว่า ไม่ได้ทำเพื่อประชาชน และเราเสนอให้เร่งเลือกบอร์ดชุดใหม่ด้วยความโปร่งใสและพิจารณาบุคคลที่มีความสามารถและประสบการณ์ที่เหมาะสม และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับกิจการส่วนตัวหรือคนใกล้ชิด  นอกจากนี้ จะต้องไม่ใช่บุคคลที่อยู่ในกรรมการชุดปัจจุบันหรือที่ได้ลาออกไป”

ทางด้านภญ.ศิริพร จิตรประสิทธิศิริ ตัวแทนชมรมเภสัชชนบทกล่าวว่า ปัญหาการก่อสร้างโรงงานยารังสิตที่ไม่มีความคืบหน้า ขณะที่โรงงานผลิตยา ที่ถนนพระราม 6 จะต้องทยอยปิดปรับปรุงเพื่อให้พร้อมการตรวจรับรอง GMP ในเดือนมิถุนายน 2558 จะทำให้กำลังการผลิตยาของ อภ.ลดลงอย่างมาก

“ปัญหายาตัดจ่ายที่เป็นอยู่ในขณะนี้จะยิ่งลุกลามออกไปจนกระทบระบบสาธารณสุขของประเทศอย่างรุนแรงและก่อให้เกิดความไม่มั่นคงของระบบยาของประเทศ โดยโรงพยาบาลจะเผชิญปัญหาการบริหารยา ประชาชนจะได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ผู้ป่วยเบาหวาน โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด

ขณะนี้ โรงพยาบาลหลายแห่งเผชิญปัญหาการขาดยารักษาโรคเรื้อรังที่จำเป็นหลายรายการ โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า หรือแจ้งผัดผ่อนไปทีละเดือน ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถบริหารจัดการยาได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การเปลี่ยนบริษัทยา ซึ่งมีสีและรูปลักษณ์ของยาเปลี่ยนไปทำให้ผู้ป่วยใช้ยาซ้ำซ้อน เกินขนาด หรือเกิดความสับสนไม่กล้าใช้ยาดังกล่าว”

ภญ.ศิริพร กล่าวต่อว่า และสำหรับหนังสือที่จะมีถึงซุปเปอร์บอร์ดนั้น จะเสนอให้จัดองค์การเภสัชกรรมเป็นรัฐวิสาหกิจเพื่อประชาชนต้องมุ่งเน้นบทบาทในการสร้างความมั่นคงทางยาให้กับประเทศในการตั้งราคาและคิดกำไรที่สมเหตุสมผล ไม่มุ่งแต่แสวงหากำไร

“อภ.ต้องมีบทบาทในการสร้างการเข้าถึงยาจำเป็นให้กับประเทศ เช่น ยากำพร้า ยาที่บริษัทเอกชนไม่สนใจผลิตเพราะได้กำไรน้อย ยาช่วยชีวิต เป็นต้น ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนายา มากกว่าการส่งเสริมการขาย เพื่อให้ประเทศสามารถพึ่งตนเองด้านยาได้ การกระจายยา (โลจิสติก) ควรให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพระหว่างการขนส่ง เช่น การควบคุมอุณหภูมิ และให้ความสำคัญกับการจัดส่งยาให้โรงพยาบาลที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารและห่างไกล และควรมีระบบบริหารจัดการความเสี่ยงในการขาดผลิตยา” อดีตประธานชมรมเภสัชชนบทกล่าว

ทั้งนี้ พ.ต.ท.อนุรักษ์ โรจน์นิรันดร์กิจ ผบช.สำนักคดีอาญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ และ นางปานทิพย์ ศรีพิมล รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เป็นผู้รับหนังสือ

ทั้งนี้หนังสือที่ 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพได้นำไปยื่นมีดังนี้

1.หนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เรื่อง ขอให้สอบสวนคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมและผู้เกี่ยวข้อง

2.หนังสือถึงหัวหน้าคสช. เรื่อง ขอให้เร่งรัดปลดกรรมการองค์การเภสัชกรรมที่เหลือ

3.หนังสือถึงประธานคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ  เรื่อง เสนอให้จัดองค์การเภสัชกรรมเป็นรัฐวิสาหกิจเพื่อประชาชน