ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรมสหวิชาชีพฯ ร้อง สธ. ปรับเกลี่ยอัตรากำลังข้าราชการใหม่ เหตุเอาภาระงานมาจับ ทำรพ.เล็กถูกเมิน เพราะยอดผู้ป่วยไม่เข้าเกณฑ์ ชี้หากไม่ได้เตรียมฟ้องศาลปกครอง ด้านประธานเครือข่ายพยาบาลลูกจ้างข้องใจผลอัตรากำลังที่ใช้ภาระงาน พลิกเป็นคุณกับ รพ.ใหญ่ในเมือง แถมไปเจอข้อมูลชวนสงสัย มีบางสายงานบรรจุได้เกือบ 100% แต่ยังป้อนตำแหน่งให้อีก สงสัยจะเอาตำแหน่งว่างไปให้ใคร

23 ก.ค.57 นายวัฒนะชัย นามตะ ประธานชมรมสหวิชาชีพกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เห็นชอบอนุมัติอัตรากำลังข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รอบปีงบประมาณ 2557 รวม 9,074 อัตรา โดยออกแบ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราว 21 สายงานจำนวน 7,547 อัตรา และนักเรียนทุนแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร ที่สำเร็จการศึกษาเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2557 จำนวน 1,527 อัตรา และจะมีการจัดสรรให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือนนั้น โดยในส่วนของลูกจ้างชั่วคราว 7,547 อัตรานั้นจะจัดสรรไปยังโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) จำนวน 2,289 อัตรา โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) จำนวน 3,126 อัตรา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวน 2,036 อัตรา และอื่นๆ จำนวน 87 อัตรา ตรงนี้จะเห็นมีการจัดสรรไปยัง รพ.สต.น้อย ทั้งๆ ที่ สธ.พยายามเน้นทำงานเชิงรุก ส่งเสริมป้องกันโรค ซึ่งรพ.สต.ถือเป็นรพ.อันดันต้นๆ ที่เข้าถึงประชาชน แต่กลับให้ความสำคัญน้อย แล้วอย่างนี้ใครจะอยากไปทำงานในพื้นที่ห่างไกล เขาก็ไปอยู่ในเมืองที่มีความเจริญไม่ดีกว่าหรือ 

นอกจากนี้ยังพบความเหลื่อมล้ำในสายวิชาชีพด้วย เพราะลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้มีเพียง 21 สายงานเท่านั้น ทำให้หลายๆ วิชาชีพไม่ได้รับการจัดสรร อาทิเช่น นักกิจกรรมบำบัด นักจิตวิทยา โดยให้เฉพาะนักจิตวิทยาสังคม อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้นจึงรอดูผลการประชุมกระทรวงในวันที่ 25 ก.ค.นี้ว่าจะมีการปรับเกลี่ยอัตรากำลังใหม่หรือไม่ หากไม่ได้จะเดินทางไปยื่นต่อศาลปกครองขอให้คุ้มครองการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุขเป็นข้าราชการ เป็นการชั่วคราว 

"เรื่องจำนวนอัตรากำลังนั้นได้เท่าไหร่ เราไม่ได้คิดตรงนั้น แต่ขอให้มีความเป็นธรรมในการจัดสรร การที่เอาเรื่องปริมาณงานมาจับตรงนี้ ถ้ามีผู้ป่วย 300 คน ก็ได้ตำแหน่งตายตัว ถามว่าแล้วโรงพยาบาลเล็กๆ ปริมาณผู้ป่วยไม่ถึงเกณฑ์ตำแหน่งก็ไม่ลงไป" นายวัฒนะชัย กล่าวและว่า นอกจากนี้ยังอยากให้กระทรวงเปิดเผยหลักเกณฑ์การคัดสรรด้วย ว่าใช้อะไรบ้าง แล้วสายงานที่ไม่ได้รับการบรรจุนั้นเป็นเพราะอะไร    

ประธานชมรมสหวิชาชีพกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ในการบรรจุเป็นข้าราชการรอบแรกใช้เกณฑ์ใครมาก่อนได้ก่อน ก็ไม่เกิดความสับสน เพราะแต่ละคนแต่ละวิชาชีพก็จบออกมาตามเกณฑ์เป็นปีๆ อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สามารถคุยกันได้ เราจึงขอรับฟังทางกระทรวงก่อน 

ด้านนางสาวศิริรัตน์ วงศ์บุดดา ประธานเครือข่ายพยาบาลลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตนได้เห็นตัวเลขการจัดสรรอัตรากำลังข้าราชการแล้ว ทำให้เกิดความแปลกใจว่าหากเอาค่า FTE หรือภาระงานมาจับจริงๆ จะเป็นประโยชน์กับโรงพยาบาลเล็กๆ ในพื้นที่ขาดแคลน แต่ผลที่ออกมาทำไมเป็นคุณกับโรงพยาบาลใหญ่ เพราะให้สัดส่วนกับโรงพยาบาลใหญ่ๆ ในเมือง และยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในโรงพยาบาลเล็กๆ มากกว่ากว่า และยังพบความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพด้วย เดิมทางกระทรวงระบุว่าแต่ละวิชาชีพจะต้องถูกเปลี่ยนการจ้างงานจากลูกจ้างชั่วคราวมาเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 25% แต่ข้อมูลตัวเลขที่ตนรวบรวมไว้พบว่าบางสายวิชาชีพมีการบรรจุเป็นข้าราชการเกิน 75 - 100% แสดงว่าจะเป็น พกส.ไม่ถึง 25% แน่นอน ที่น่าสงสัยคือเป็นวิชาชีพขาดแคลนที่ได้รับการบรรจุโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว การเอาตำแหน่งว่างไปลงทั้งๆ ที่ไม่มีคนนั้นจะเอาไปให้ใคร แต่ตอนนี้ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร คงต้องรอดูว่าทางผู้บริหารจะคุยกันว่าอย่างไรบ้าง ทำไมตัวเลขถึงออกมาเป็นอย่างนั้น

"ส่วนตัวยอมไม่ได้แน่นอน และคิดว่าจะเข้าไปสังเกตการณ์การหารือของผู้บริหารในวันที่ 25 ก.ค.นี้ แต่คงไม่ไปฟ้องศาลปกครอง เพราะคิดว่าเรื่องนี้เราสามารถคุยและตกลงกันได้ การคุยกันน่าจะดีกว่า" นางสาวศิริรัตน์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มติคสช.บรรจุลูกจ้างและนักเรียนทุนสธ.เป็นข้าราชการปี 57 รวม 9,074 ตำแหน่ง

พยาบาลร้องปลัดสธ.นัดหารือบรรจุขรก.ล็อตใหม่ เฉลี่ยไม่เป็นธรรม

สธ.ยันบรรจุข้าราชการใหม่ 7,547 อัตรา ยึดหลักเกณฑ์ร่วมจากทุกวิชาชีพ

สธ.ใช้เกณฑ์เดิมบรรจุขรก. ยันไม่จัดสรรใหม่ แต่รับมีจุดอ่อน