ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ย้ำให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด เฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ในศูนย์เด็กเล็ก สนามเด็กเล่นตามห้างสรรพสินค้า เพราะปีนี้พบป่วยแล้วกว่า 34,000 รายพบทุกจังหวัด ส่วนใหญ่อายุ 1-3 ขวบ พบทั้งเด็กไทยและเด็กในครอบครัวต่างด้าว มีแนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้น ขอให้เน้นดูแลความสะอาดเครื่องใช้ ห้องน้ำห้องส้วม วัสดุอุปกรณ์ เครื่องเล่นต่างๆ และให้ตรวจดูอาการเด็กทุกวัน หากพบมีไข้ มีตุ่มแดงขึ้นในปาก ที่ฝ่ามือ ไม่คัน ขอให้สงสัยไว้ก่อน และแยกเด็กป่วย ให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ หากเด็กที่ป่วยอาการไม่ดีขึ้นใน 2-3 วัน ซึมลง ให้รีบพาไปพบแพทย์ด่วน      

วันนี้ (24 กรกฎาคม 2557)  นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ โรคมือ เท้า ปาก มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งโรคนี้พบได้ตลอดปี แต่จะพบมากในช่วงฤดูฝนช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยากรมควบคุมโรค ในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 20 กรกฎาคม 2557 พบผู้ป่วยทุกจังหวัดรวม 34,834 ราย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 1-3 ปี เด็กที่ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กไทย และเด็กในครอบครัวต่างด้าวที่เข้ามาใช้แรงงานในไทยด้วย  จังหวัดที่มีอัตราผู้ป่วยต่อแสนประชากรสูง 5 อันดับแรก คือ ตราด ระยอง เชียงราย ประจวบคีรีขันธ์ และจันทบุรี   

นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ได้เน้นย้ำให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด โรงพยาบาลทุกแห่ง รวมทั้งประสานกับกรุงเทพมหานคร ให้เฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปากในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนผู้ปกครองเด็กเล็กทั้งไทยและต่างด้าวให้ดูแลป้องกันโรค เช่น การดูแลความสะอาดเครื่องเล่น  ล้างมือฟอกสบู่ให้เด็กบ่อยๆ  เป็นต้น และประสานความร่วมมือหน่วยงานเกี่ยวข้องเช่น อบต.  ผู้บริหารโรงเรียนในการดูแลพื้นที่เสี่ยงสำคัญคือ ศูนย์เด็กเล็ก  โรงเรียนอนุบาล ซึ่งมีเด็กเล็กอยู่รวมกันจำนวนมาก ให้ครูตรวจไข้เด็กตอนเช้าทุกวัน หากพบมีไข้ มีตุ่มใสขึ้นตามมือ ในปาก ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคมือ เท้า ปาก ให้เด็กหยุดเรียนและพักที่บ้านจนกว่าจะหายป่วย  พร้อมทั้งแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อควบคุมป้องกันโรคไม่ให้แพร่ระบาดติดเด็กอื่น  

ด้านนายแพทย์โสภณ  เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส โดยเชื้อติดมากับมือที่สัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย น้ำในตุ่มพองหรือแผล และอุจจาระของผู้ป่วย ในเด็กเล็กมักจะมีไข้และมีตุ่มพองเกิดขึ้นในปาก ฝ่ามือหรือผิวหนัง เมื่อป่วยแล้วส่วนใหญ่อาการจะหายได้เองภายใน 7-10 วัน โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ไม่มียายารักษาเฉพาะ การรักษาจะเน้นเพื่อบรรเทาอาการ เช่น การใช้ยาลดไข้ ยาทาแก้ปวดแผลที่ลิ้น และกระพุ้งแก้ม ผู้ดูแลเด็กควรเช็ดตัวลดไข้เป็นระยะ และให้เด็กรับประทานอาหารอ่อนๆ รสไม่จัด ดื่มน้ำ น้ำผลไม้เย็นๆ หรือไอศกรีม และนอนพักผ่อนมากๆ ถ้าเป็นเด็กอ่อนอาจต้องป้อนนมให้แทนการดูดนม เพื่อลดการปวดแผลในปาก   

อย่างไรก็ตาม แม้โรคนี้ป่วยแล้วสามารถหายได้เอง แต่มีผู้ป่วยบางราย ซึ่งเป็นส่วนน้อยที่มีอาการรุนแรง  มีการติดเชื้อเข้าสู่สมองและเสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงขอให้พ่อแม่ผู้ปกครอง ครูพี่เลี้ยง หมั่นสังเกตอาการของเด็กที่ป่วยโรคมือเท้าปาก หากป่วย 2 - 3 วันแล้ว อาการแย่ลงคือไข้สูงขึ้น และมีอาการเหม่อตาลอย ผวา ชัก หรือซึมลง   ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ด่วน 

นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า  วิธีลดการเจ็บป่วยโรคมือเท้าปากที่ดีที่สุดคือการป้องกัน โดยการรักษาความสะอาดร่างกาย ตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือฟอกสบู่บ่อย ๆ  โดยเฉพาะหลังการขับถ่ายและก่อนรับประทานอาหาร  รวมทั้งใช้ช้อนกลางและไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน ถ้าพบว่ามีเด็กในโรงเรียนอนุบาล ศูนย์เด็กเล็ก หรือสถานรับเลี้ยงเด็กป่วยด้วยโรคมือเท้าปาก ต้องแยกเด็กป่วยออกจากกลุ่มเพื่อน และให้เด็กพักที่บ้านเป็นเวลา 1 สัปดาห์ และให้ทำความสะอาดพื้น ห้องน้ำ สุขา เครื่องใช้ ของเล่น สนามเด็กเล่นที่โรงเรียน ตลอดจนเสื้อผ้าที่อาจปนเปื้อนเชื้อ โดยอาจใช้น้ำยาฟอกขาว 1 ส่วนผสมกับน้ำ 30 ส่วน ทำความสะอาดสถานที่ที่อาจเป็นจุดแพร่โรคได้ เช่น สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ เครื่องเล่นในห้างสรรพสินค้า สำหรับโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็กหากในห้องเรียนพบเด็กป่วยในเวลาไล่เลี่ยกันมากกว่า 2 คน  ขอให้พิจารณาปิดเรียนและทำความสะอาด เพื่อควบคุมป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาด  ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ โทร. 02 5903159 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 " นายแพทย์โสภณกล่าว